คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
“เมื่ออัตราการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรน้อยกว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของภายนอก จุดจบขององค์กรก็อยู่ใกล้แค่มองเห็น”
Jack Welch,
อดีต CEO ของบริษัท General Electric ในช่วง 1981-2001
การพูดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นอนาคตเป็นเรื่องยากที่หลายคนจะเห็นพ้องกันได้ หรือถ้าสามารถมองเห็นได้ก็ยากที่จะมีความชัดเจน ดังนั้น ผมจึงขอย้อนไปดูวิสัยทัศน์ของบุคคลอัจฉริยะบางคนที่คาดว่าท่านผู้อ่านคงจะคุ้นเคยดี นั่นคือ สตีฟ จอบส์ ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังพัฒนาการของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และโทรศัพท์มือถือที่ใช้กันแทบจะทุกคนในวันนี้
เขาได้บรรยายเมื่อ 33 ปีมาแล้ว ตอนนั้นเขามีอายุเพียง 28 ปี ว่า เทคโนโลยีการสื่อสารจะเปลี่ยนไปอย่างไร จากวันนั้นที่ชาวโลกมีเทปบันทึกเสียง ซึ่งในวันนี้มันได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง จนเด็กรุ่นใหม่จะไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคยกับเทปเสียง ผมได้สรุปสาระสำคัญโดยย่อของคำพยากรณ์ไว้ในแผ่นภาพแล้วครับ
ในปี 2527 สตีฟ จอบส์ ได้หิ้วเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ยี่ห้อ Macintosh (ซึ่งมีหน่วยความจำเพียง 128k ปัจจุบันความสามารถได้เพิ่มขึ้นเป็นล้านเท่าตัว) มาแกะกล่องประกอบคำบรรยายของตนโดยมีผู้ฟังล้นห้องประชุม พร้อมกับส่งเสียงโห่ร้องดังลั่นเหมือนกับคนเห่อดาราในวันนี้ เพราะคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นทำให้เราสามารถวาดรูปได้อย่างสวยงาม หลากสี และ “พูดได้” ในขณะที่ก่อนหน้านั้น ต้องเขียนโปรแกรมยาวมากเพื่อจะวาดภาพ ภาพที่ได้ก็แค่เป็นลายเส้นที่ใช้ตัวอักษรแทนเส้นเท่านั้น
ในปี 2528 ที่อาคารภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ผมทำงานด้วย ก็มีเครื่องดังกล่าวใช้ ถ้าจำไม่ผิดราคาในขณะนั้นก็หลักแสนบาท ในขณะที่เงินเดือนผู้จบปริญญาตรีประมาณ 2 พันบาท
สิ่งที่ผมอยากจะสรุปในตอนนี้ก็คือ สตีฟ จอบส์ สามารถใช้องค์ความรู้ และวิสัยทัศน์ของเขามองไปข้างหน้าได้อย่างถูกต้อง แล้วระบบการสื่อสารของโลกก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจริงอย่างที่เขาบอก ในวันที่เขาพูด คอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ราคาแพง มีใช้กันเฉพาะในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ เท่านั้น ในวันนี้คอมพิวเตอร์มีขนาดเท่าฝ่ามือ มีประสิทธิภาพสูงขึ้นนับล้านเท่า และราคาถูกที่คนเกือบทุกคนสามารถจ่ายได้ ไม่เพียงแต่เข้ามาอยู่ในบ้านเท่านั้น แต่สามารถพกติดตัวไปได้ ส่งภาพสีสวยงามได้ในทันทีทันใด สังคมได้กลายเป็นสังคมก้มหน้าอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ซึ่งผมเชื่อว่าเราคงไม่ได้คาดคิดมาก่อน แต่วันนี้เราทำท่าจะ “คุ้นเคย” กับสังคมก้มหน้าแล้ว
ย้อนอดีตไปไม่นาน บริษัทด้านคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่งที่เคยยิ่งใหญ่ของโลก และก่อตั้งมายาวนาน ต้องล่มสลายลงด้วยวิสัยทัศน์ที่ผิดพลาดของผู้บริหารสูงสุดที่ว่า “เป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลเลยที่บุคคลจะมีคอมพิวเตอร์ไว้ใช้ที่บ้านตนเอง” นี่แหละครับ คือความสำคัญของวิสัยทัศน์
คำถามก็คือว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง และการล่มสลายดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับกิจการอื่น เช่น รถยนต์ และไฟฟ้าได้หรือไม่?
ที่จะกล่าวต่อไปก็คือ อนาคตที่เกี่ยวกับรถยนต์ และกิจการผลิตไฟฟ้า เอาเรื่องรถยนต์ก่อนครับ
ถ้าเราเข้าใจเรื่องประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นนับล้านเท่าตัว แต่ราคาได้ลดลงอย่างรวดเร็วจนเกือบทุกคนสามารถซื้อได้ จากรวมศูนย์สู่การกระจายตัวสู่บุคคล เราจะเห็นภาพอนาคตของธุรกิจรถยนต์ได้ชัดขึ้น ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่โด่งดังมากแห่งหนึ่งกล่าวว่า “รถยนต์ไฟฟ้าก็คือ คอมพิวเตอร์ชั้นเลิศที่วางอยู่บนล้อ”
ฟังคำเปรียบเทียบของ Elon Musk แล้วย้อนไปฟังคำเปรียบเทียบของ สตีฟ จอบส์ ที่ว่า “คอมพิวเตอร์คือเครื่องมือชนิดใหม่ที่ไม่มีเกียร์ ไม่มีลูกสูบ แต่มันถูกแทนที่ด้วยอิเล็กตรอน สามารถทำงานได้รวดเร็วมาก มีใครเคยเห็นอิเล็กตรอนไหม”
เมื่อประมาณ 2 ปีมาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอนาคต (ผมจำไม่ได้ว่าเป็นใครเพราะผมติดตามอยู่หลายคน แต่น่าจะเป็น Tony Seba แห่งมหาวิทยาลัย Stanford) ได้พยากรณ์ว่า
ลูกของคู่สมรสในปี 2014 เมื่อโตขึ้นส่วนใหญ่จะขับรถยนต์ไม่เป็น เพราะว่าคนจะไม่นิยมเป็นเจ้าของรถยนต์ แต่จะนิยมใช้รถแท็กซี่ซึ่งจะมีความสะดวกมากเพราะระบบการสื่อสารที่กล่าวมาแล้ว ขณะนี้ในหลายประเทศได้นิยมใช้กันมากขึ้น นอกจากนี้ จากงานวิจัยพบว่า ร้อยละ 96 ของเวลารถยนต์ส่วนบุคคลจะถูกจอดอยู่กับที่ และมีปัญหาที่จอดรถไม่พอ เมื่อระบบการสื่อสารแบบใหม่แพร่หลาย ความจำเป็นในการเป็นเจ้าของรถยนต์ของปัจเจกจึงลดลงถึง 80%
ในอนาคต (ประมาณ 14 ปีจากนี้ไป) ความจำเป็นในการมีรถยนต์เป็นของตนเองก็จะเหมือนๆ กับการมีม้าเป็นของตนเองในวันนี้ คือ แค่เพื่อความหรู หรือรสนิยมส่วนตัวเท่านั้น ดังนั้น ในอนาคต ถนนหนทาง และที่จอดรถจะว่าง บริษัทผลิตรถยนต์แบบเดิมๆ จะต้องปรับตัว ปัจจุบันบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์หันมาผลิตรถยนต์
ขณะที่เขียนบทความนี้ ผมได้ใช้บริการแท็กซี่เพื่อไปเยี่ยมพี่สาวที่โรงพยาบาล พบว่า ระยะทางที่ค่าโดยสารประมาณ 94 บาท จะถูกกว่าใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผมมองเห็นความสะดวกสบาย และอนาคตในเรื่องนี้ได้ชัดเจนครับ แต่ที่เป็นปัญหาก็คือ ระบบผูกขาดที่มีข้อห้ามรับผู้โดยสารจากสนามบิน เพราะที่สนามบินเขามีระบบผูกขาดอยู่แล้ว ทำให้ค่าบริการรถยนต์โดยสารจากสนามบินจะแพงกว่า 2-3 เท่าของแท็กซี่ครับ
อาจารย์ Tony Seba ได้ให้พยากรณ์ว่า ภายในปี 2030 รถยนต์ออกใหม่ทั้งหมดจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งได้ประกาศเมื่อปี 2014 ว่า ในปี 2018 รถยนต์ที่ไม่มีคนขับจะออกสู่ถนน นี่เป็นอีกหลักฐานหนึ่งว่าการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันมันมาเร็วมาก น้ำมันจะตกยุคภายในปี 2030 พลังงานไฟฟ้าที่ใช้กับรถยนต์จะผลิตมาจากพลังงานแสงอาทิตย์
ดังนั้น หากองค์กรใดไม่มีการปรับตัวเอง ก็น่าจะเป็นดังที่อดีต CEO ของบริษัทแห่งหนึ่งได้กล่าวไว้เมื่อ 15 ปีก่อน
มาถึงเรื่องสำคัญเรื่องสุดท้าย คือ ธุรกิจไฟฟ้า ก่อนจะมองไปสู่อนาคต ผมขอย้อนไปดูแผนกำลังผลิตไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า “แผนพีดีพี” ในอดีตสักนิด
สิ่งที่ผมได้สรุปเอาไว้ในแผ่นภาพข้างล่างก็คือ ภายใต้สถานการณ์ที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน (Disruptive Change) ของเทคโนโลยี แต่การคาดการณ์ล่วงหน้าของแผนกำลังผลิตไฟฟ้าของไทยก็เกินความจริงทุกแผน เช่น ในแผนพีดีพี 2004 ได้พยากรณ์ว่า ในปี 2014 (2557) ประเทศเราต้องมีกำลังผลิต 44,793 เมกะวัตต์ ในขณะที่ภาคประชาชนพยากรณ์ว่าน่าจะมีแค่ 38,020 เมกะวัตต์เท่านั้น แต่ทางราชการก็ไม่รับฟัง
แต่จากความเป็นจริงที่มาถึงแล้วพบว่า ทั้งๆ ที่มีการปรับลดแผนแล้ว ในปี 2014 เรามีกำลังผลิตสำรองถึง 40% (ในระดับสากลถือว่าควรมีสำรองแค่ 15% เท่านั้น) และถ้าเราทำทุกอย่างตามแผนเดิม เราจะมีไฟฟ้าสำรองถึง 66% ซึ่งภาระที่ต้องลงทุนเกินจริงทั้งหมดจะตกกับผู้บริโภค
สิ่งที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้ จะว่าด้วยเรื่องเทคโนโลยีใหม่ (ความจริงกำลังเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ) คืออะไร และเราควรจะปรับตัวอย่างไร โดยนำความเห็นของผู้เชี่ยวชาญมาประกอบและอ้างอิงครับ ผมขอสรุปใหม่เป็นข้อๆ ดังนี้ (https://www.greentechmedia.com/articles/read/what-exactly-is-the-next-generation-utility เป็นการสัมภาษณ์ Mr.David Groarke ผู้เชี่ยวชาญด้าน the next-generation utility จาก PA Consulting Group ซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1943)
(1) เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันเป็นแบบรวมศูนย์ มีผู้ผลิตน้อยรายให้บริการกับผู้บริโภคนับล้านคน กระแสไฟฟ้าจะไหลจากผู้ผลิตเข้าสู่บ้านของผู้บริโภคเพียงทิศทางเดียว ผู้บริโภคคอยจ่ายเงินค่าไฟฟ้าเมื่อสิ้นเดือน
(2) ในระบบเทคโนโลยีใหม่ จะมีกระจายแหล่งทรัพยากรพลังงาน (Distributed Energy Resources) ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปได้แก่ แสงแดด ลม ชีวมวล ไฟฟ้าจะไหลได้ 2 ทิศทาง (Bidirectional Current) คือ จากระบบสายส่งเข้าสู่บ้านผู้ใช้ในบางเวลา หรือไหลจากบ้านผู้ใช้เข้าสู่ระบบสายส่ง เมื่อผู้บริโภคผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่ตนเองใช้ ผู้บริโภคที่เคยจ่ายเงินเพียงฝ่ายเดียว ก็จะกลายเป็นผู้ขายไฟฟ้าได้ ระบบการผลิตไฟฟ้าจะมั่นคงกว่าเดิม ลดปัญหากระแสไฟฟ้าตก ลดพีก ลดการสูญเสีย
(3) เมื่อผู้สัมภาษณ์ตั้งคำถามว่า บริษัทไฟฟ้าต่างๆ ทั่วโลกกังวลเรื่องอะไร Mr.David Groarke ตอบว่า ข้อกังวลร่วมของบริษัทก็คือ บริษัทของเขาจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และจะต้องเตรียมตัวอย่างไร
(4) บริษัทจะต้องปรับตัวเองอย่างฉับไว เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของตนเองให้ถูกต้องในทันที โดยคำนึงถึงแนวโน้มทั้งภายใน และภายนอก คำนึงถึงแนวโน้มเชิงนโยบายของแต่ละประเทศ แนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดกระแสลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกเข้าใกล้วันสิ้นโลก คำนึงถึงต้นทุนที่ลดลงของการกระจายพลังงาน รวมทั้งแนวโน้มทางการเงินด้วย
(5) บริษัทจะต้องเปลี่ยนจากธุรกิจที่เน้นเชิงปริมาตร (Volumetric Business) ไปสู่ธุรกิจที่เน้นการบริการ (Service-Based Business)
(6) ในช่วงปี 1993-2002 การลงทุนด้านนวัตกรรมรวมทั้งการวิจัยและพัฒนาของบริษัททั้งหลายได้ลดลงถึง 74% ดังนั้น นวัตกรรมด้านความเสี่ยงจึงเป็นงานที่ใหญ่มากเพราะได้ลดความสำคัญไปนาน ในอนาคตบริษัทไฟฟ้ายังคงมีบทบาทสำคัญซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ทั้งการรวมศูนย์ และการกระจายศูนย์
(7) บริษัทที่ปรึกษาของเขามีกระบวนการวางแผนเพื่ออนาคต โดยนำปัจจัยด้านความเสี่ยงทั้งภายใน และภายนอกหลายร้อยปัจจัย ใช้วิธีการทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพมาประกอบการพิจารณา แล้วสร้างภาพสถานการณ์ในอนาคตขึ้นมา
ต้องใช้ผู้ชำนาญการหลายสาขาเพื่อทำความเข้าใจต่อปัญหาที่ซับซ้อนที่ดำรงอยู่ และเปิดรับบทเรียนทั้งจากประเทศเยอรมนี และรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา สำหรับกับลูกค้าของบริษัทควรจะมีการพูดคุยกันในเชิงสร้างสรรค์ถึงความต้องการของลูกค้าในอนาคต
ในฐานะที่ผมเคยศึกษาวิชากลศาสตร์ควอนตัมมาบ้าง ผมเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างเทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำที่ใช้ผลิตไฟฟ้า กับเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ อย่างแรกเกิดการสูญเสียพลังงานส่วนใหญ่ไปเป็นความร้อน ต้องใช้น้ำหล่อเย็น ปล่อยน้ำเสีย และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่อย่างหลังไม่มีเรื่องดังกล่าว เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้รับรางวัลโนเบล (เรื่อง Photo Electric Effect) รวมทั้งรางวัลโนเบลของนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่เป็นพื้นฐานความรู้ให้แก่ไอน์สไตน์
เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ (และกังหันลมด้วย) ได้พัฒนามาจนต้นทุนต่ำลงมากๆ และสามารถแข่งขันกับเทคโนโลยีอื่นๆ ได้เกือบทุกชนิดแล้ว แต่ความจริงเหล่านี้ก็ยังไม่เป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง ในขณะเดียวกัน พวกข้าราชการระดับสูงที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และกลุ่มทุนพลังงานก็ใช้เงินจำนวนมหาศาลว่าจ้าง และใช้สื่อเพื่อบิดเบือนความจริง
ท่านผู้อ่านคิดว่า กิจการไฟฟ้าของไทยเรามีปัญหาอะไร (ก) ตามไม่ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก หรือ (ข) เพราะความสามานย์ของระบบทุน และถ้าไม่ทัน หรือต้องไปพบจุดจบเข้า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะตกกับใคร
เรียนตามตรงว่า ผมต้องให้กำลังใจตนเองอยู่เสมอๆ ว่า สักวันผู้บริโภคทั้งหลายจะตื่นตัวขึ้นมาช่วยกันทำความเข้าใจ และเผยแพร่ความจริงในเรื่องสำคัญยิ่งนี้ให้กว้างขวาง รวดเร็ว ด้วยสื่อสมัยใหม่ที่อยู่ในกำมือเราแล้ว ทราบแล้วเปลี่ยนครับ