xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรมภาคที่ 10 จับมือ ม.พระจอมเกล้าฯ เพิ่มมูลค่ายางพารา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี - อุตสาหกรรมภาคที่ 10 จับมือมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพิ่มมูลค่ายาง SME และ OTOP มีคุณภาพสูงต้นทุนต่ำสู่สากล พร้อมผลักดันเรื่องแหล่งเงินทุนหมุนเวียน รายย่อยตั้งแต่ 200,000-2,000,000 บาท หลังจากราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่นักวิชาการยันถนนยางพาราคุณภาพสูงเหมาะสมต่อพื้นที่ภาคใต้ที่ฝนตกชุก แต่ต้นทุนยังสูงอยู่

เช้าวันนี้ (11 กพ.) ที่ศูนย์อุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายจารุพันธุ์ จารโยภาส ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้แถลงข่าวถึงการจับมือร่วมกับมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ถึงโครงการ พัฒนาอุตสาหกรรมยาง เพื่อเพิ่มมูลค่ายาง SME และ OTOP ให้มีคุณภาพสู่สากล ที่จัดเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญ ส่งมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้ามาแก้ไขปัญหา และผลกระทบจากความผันผวนของราคายาง โดยนำเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยีมาร่วมกับการพัฒนาเพิ่มมูลค่ายาง

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้นที่อยู่ในรูปยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางเป็นหลัก การเพิ่มมูลค่า และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ยังมีน้อย และยังมีต้นทุนการผลิตที่สูง เช่น ถนนยางมะตอยผสมยางพารา แผ่นยางปูพื้นสระน้ำ หรือสนามฟุตซอล สนามกีฬา เป็นต้น และแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืน คือ บทบาทของภาคอุตสาหกรรมในการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าผลิตภัณฑ์ยาง ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงทำให้เกิดกิจกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมยางภายใต้โครงการเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยางขึ้น เพิ่มขีดความสามารถให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่ม SME ในระดับท้องถิ่น

โดยมุ่งเน้นการแปรรูปน้ำยางเพื่อสร้างมูลค่าบนพื้นฐานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราส่งต่อ เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพาราในตลาดสากลได้ โดยกิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วย 5 กิจกรรมหลัก 1.กิจกรรมพัฒนาฝึกอบรม SME & OTOP ในอุตสาหกรรมยางพารารวม 100 คน 2.กิจกรรมพัฒนาจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ 3.กิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำ SME จำนวน 7 กิจการ 4.กิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่กลุ่ม OTOP 7 กิจการ และสุดท้ายกิจกรรมที่ 5.กิจกรรมรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายในกลุ่มอุตสาหกรรมยาง 1 กลุ่ม

ซึ่งทางศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ได้เปิดรับสมัครคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 3 มีนาคมศกนี้ ผู้สนใจสามารถสมัครได้ทางอีเมล worksmart.pla@gmail.com, worksmart.koy@gmail.com หรือสมัครด้วยตนเอง ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 จังหวัดสุราษฎร์ธานี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 โทร.0-7720-0395-8 มือถือ 09-0910-2121, 09-1826-8738 พร้อมกับผลักดันสนับสนุนเรื่องเงินทุนหมุนเวียนให้แก่รายย่อยตั้งแต่ 200,000-2,000,000 บาท นอกจากนั้น ยังหนุนอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการอีกด้วย

ด้าน ดร.ศักรินทร์ ชูดวง รองหัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ ม.จพ. และในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า “แนวทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ในอุตสาหกรรมยางพาราในภาวะการณ์ปัจจุบันนี้ต้องรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ดังนั้น กระบวนการพัฒนาต้องมีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้การจะจับผลิตภัณฑ์ใดมาพัฒนา หรือต่อยอด สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ ความเป็นไปได้ทางการตลาด ซึ่งแนวคิดที่ว่า การตลาดนำการผลิตต้องเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาสินค้าในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเด็นถัดมาคือ ศักยภาพของวิสาหกิจชุมชน และ SMEs คือ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างยิ่ง การที่จะให้ลงทุนเพิ่มในช่วงสถานการณ์แบบนี้ต้องตระหนักให้มากขึ้น ซึ่งศักยภาพไม่ได้หมายถึงเพียงเครื่องมือเครื่องจักร หรือเทคโนโลยี แต่ยังหมายถึงองค์ความรู้ของผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุชนด้วย

และประเด็นสุดท้ายที่จะนำมาช่วยในอุตสาหกรรมยางพาราได้ในปัจจุบันคือ การต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นงานวิจัยที่ทางสถานศึกษา อุดมศึกษา หรือแม้กระทั่งหน่วยงานภาครัฐฯ ที่มีอยู่มาต่อยอดทางธุรกิจเชิงพาณิชย์ให้สามารถเกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อเกิดบาดแผลการห้ามเลือดคือสิ่งแรกที่ควรกระทำ ฉันใดฉันนั้นในสภาวการณ์ปัจจุบันทางทีมที่ปรึกษาเรามองว่าต้องรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อบรรเทาสภาวะผลกระทบด้านราคาที่กระทบมาเป็นระยะเวลานานแล้ว และยังมีวี่แววจะเป็นไปอีกนาน การพึ่งพาตนเองจนสามารถบริหารได้ตั้งแต่ต้นทางของระบบห่วงโซ่อุปทานในการผลิตยางพารา กระทั่งจนเป็นสินค้าสำเร็จรูปได้เองนั้นคือแนวทางโครงสร้างในการปฏิรูปอุตสาหกรรมยางพาราได้ทั้งระบบอย่างยั่งยืน

ดร.ศักรินทร์ ยังกล่าวอีกว่า การทำถนนยางมะตอยผสมยางพารานั้นเป็นทางเลือกทางหนึ่งที่สามารถกระตุ้นให้มีการใช้น้ำยางพาราในประเทศเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้ราคายางพาราในตลาดสูงขึ้นให้สูงขึ้น หากราคาสูงขึ้นคงไม่สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุหลักในการทำถนนเนื่องจากมีต้นทุนสูง หากราคายางพาราไม่สูงมากนักก็สามารถนำมาทำถนนได้ เนื่องจากคุณภาพถนนที่ใช้น้ำยางพารานั้นมีคุณภาพทำล้อรถยนต์ยึดเกาะถนนได้ดี เหมาะสมสำหรับพื้นที่ภาคใต้ที่ฝนตกชุก

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น