ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มกุฎราชกุมารแห่งรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย เป็นประธานประชุมวิชาการ “สื่อมวลชน 3 ประเทศ” ตามโครงการ “ไอเอ็มจี ทีจี” โดยมีมติร่วมกันในการพัฒนาองค์กรสื่อเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารร่วมกันในทุกด้าน
วานนี้ (29 ม.ค) ที่ ห้องประชุมชั้น 3 โรงแรมรอยัล พาราไดซ์ หาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต มกุฎราชกุมารรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย เป็นประธานเปิดการประชุมสื่อมวลชน 3 ประเทศ ตามโครงการไอเอ็มจี ทีจี ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ตามโครงการความร่วมมือแลกเปลี่ยนข่าวสาร ซึ่งสมาคมสื่อมวลชนรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย และสมาคมสื่อมวลชนเมดาน ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีการเซ็นเอ็มโอยูกันไว้เมื่อปี 2556 เป็นต้นมา
โดย มกุฎราชกุมารแห่งรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ทรงตรัสว่า การร่วมกันระหว่าง สมาคมสื่อทั้ง 3 ประเทศ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในโลกแห่งข่าวสาร ที่สื่อมวลชนต้องเสนอข่าวให้ครบคลุม ถูกต้อง และชัดเจน เพราะความรวดเร็ว ถูกต้อง และชัดเจนของข่าวสารเป็นสิ่งจำเป็นของประชาชนทุกชนชั้นในการรับรู้ และใช้ตัดสินใจ การเปิดชุดตัวแทนสื่อทั้ง 3 ประเทศในวันนี้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองในด้านวิชาการ ในความท้าทายของสื่อออนไลน์ และขอบเขตเสรีภาพของสื่อทั้ง 3 ประเทศ
โดย นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในเวทีการชุมชุม 3 ฝ่ายตอนหนึ่งว่า วันนี้เราไม่สามารถที่จะไปปิดกั้นสื่อภาคประชาสังคมได้ ในขณะนี้สื่อภาคประชาสังคมมีทั้งประโยชน์ และโทษ ประโยชน์คือ การทำให้ประชาชนรับรู้ข่าวในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว แต่โทษคือ ข่าวที่มาจากภาคประชาสังคม ทางโซเชียลมีเดีย เป็นข่าวที่ไม่มีระบบคัดกรอง เป็นข่าวที่เขียนจากความรู้สึก ความเชื่อ และอาจจะมีเจตนาคติปะปนอยู่ ซึ่งประชาชนผู้เสพสื่อต้องรู้เท่าทัน
ในขณะเดียวกัน สื่อกระแสหลักต้องเป็นหลักในการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่มีความน่าเชื่อถือต่อประชาชน เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ และในขณะเดียวกันด้วยนั้นเสรีภาพของสื่อ ต้องมีขอบเขตที่ไม่ไปละเมิดบุคคลอื่นให้ได้รับความเดือดร้อน และต้องไม่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม
ด้านสื่อจากประเทศอินโดนีเซีย กล่าวถึงเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของประเทศอินโดนีเซีย ว่า ในประเทศอินโดนีเซีย ข่าวที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่ง คือ ข่าวทางโซเชียลฯ ซึ่งมีข้อเสียเกิดขึ้น บางข่าวไม่น่าเชื่อถือเหมือนกับหลายประเทศ เพียงแต่อินโดนีเซีย มีกฎหมายที่ชัดเจนในการจัดการต่อข่าวที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และข่าวที่สร้างความแตกแยก หรือข่าวที่ “เฮดสปีด” ทั้งหลาย ในขณะเดียวกัน ประชาชนก็จะตรวจสอบข่าวจริงหรือเท็จจากสื่อหลักคือ หนังสือพิมพ์ และวิทยุโทรทัศน์ในประเทศอินโดนีเซีย มีสื่อต่างๆ มากกว่า 1,000 สื่อ และที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกจำนวนมาก เนื่องจากเป็นประเทศใหญ่ ที่มีประชากรเป็นจำนวนมาก
ส่วนตัวแทนสื่อจากประเทศมาเลเซีย ได้กล่าวว่า สื่อในสังคมโซเชียลฯ ของประเทศมาเลเซีย ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งข่าวในโลกโซเชียลฯ จะได้รับการตรวจสอบจากสื่อหลัก และหากพบว่าเป็นข่าวสารที่ไม่มีความเป็นจริง สื่อหลักจะนำเสนอเพื่อให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริง ซึ่งผู้บริโภคสื่อแม้จะนิยมการติดตามสื่อภาคประชาสังคม แต่ก็จะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสื่อหลัก
จากนั้นที่ประชุมทางวิชาการ 3 ประเทศ จึงได้มีข้อสรุปว่า จะมีการพัฒนาองค์กรสื่อ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในทุกด้าน และจะมีการประชุมทางวิชาการทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อประโยชน์ขององค์กรสื่อ และของประชาชนในภูมิภาคอาเซียนเป็นระยะๆ ตามความเหมาะสมต่อไป