สุราษฎร์ธานี - ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนร่วมกันผลักดันส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน คาดจะได้รับการตอบสนองจากนักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างชาติจำนวนมาก
นายศุภวัช ศักดิ์ดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานกรรมการสถาบันคีนันแห่งเอเชีย พร้อมตัวแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาสุราษฎร์ธานี สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสุราษฎร์ธานี และกลุ่มการท่องเที่ยวชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และสมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ลงนาม MOU ร่วมกันส่งเสริมศักยภาพชุมชนชายฝั่ง และร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชุมชนอย่างยั่งยืนสร้างสมดุลเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในชุมชน พร้อมทั้งเป็นการรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมที่ดี ในเบื้องต้น มุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง 10 ชุมชนนำร่อง หวังเป็นการเสริมสร้างรายได้สูง เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2559 ที่ผ่านมา
นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า“โครงการ “พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในชุมชนชายฝั่งสุราษฎร์ธานี” มุ่งสนับสนุน และส่งเสริมศักยภาพกลุ่มท่องเที่ยวในชุมชนชายฝั่งในจังหวัดให้มีความเข้มแข็ง และเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น พร้อมสร้างความรัก และความหวงแหนสิ่งแวดล้อม รวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมและวิถีชุมชนผ่านการสร้างเครือข่ายการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ถือเป็นการผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนครั้งสำคัญเพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างยั่งยืน ที่มาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ สุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดที่มีความพร้อมด้านการท่องเที่ยว มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม หากแต่การท่องเที่ยวบนแผ่นดินใหญ่ยังไม่เป็นที่นิยมเทียบเท่ากับบนเกาะต่างๆ ซึ่งโครงการฯ จะส่งผลต่อความสมดุลของรายได้ และการจ้างงานในจังหวัดได้มากขึ้น”
ด้าน นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานกรรมการสถาบันคีนันแห่งเอเชีย เปิดเผยถึงภาพรวมการดำเนินงาน ว่า “โครงการฯ มุ่งเป้าในการจัดกิจกรรมเป็นระยะเวลา 22 เดือน ในการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่ได้ร่วมลงนามทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนชายฝั่ง 10 กลุ่มชุมชน โดยสถาบันคีนันจะเข้าไปช่วยสร้างศักยภาพแก่ชุมชนใน 3 ด้าน คือ การสร้างเครือข่ายผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การสร้างความเข้าใจและวิสัยทัศน์ร่วมกันถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน และการสร้างความสามารถในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว เช่น การจัดการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีคุณภาพ การบริหารต้นทุน และออกแบบแพกเกจทัวร์ หรือรูปแบบกิจกรรมที่ตรงต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายผ่านการอบรมพัฒนาความรู้ จัดทำแผนงาน และประสานความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ การคัดเลือกกลุ่มชุมชนเข้าร่วมโครงการ จะใช้เกณฑ์ในเรื่องความพร้อมของพื้นที่ และคนในชุมชน เช่น ความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพผู้นำ ความดึงดูด และหลากหลายของสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น โดยระยะแรกจะเริ่มจาก 6 กลุ่มชุมชน ซึ่งจะแบ่งย่อยออกเป็น 3 คลัสเตอร์ตามระยะทาง และแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน ก่อนขยายสู่ 4 ชุมชนที่เหลือในระยะต่อไปหลังจากเห็นผลในกลุ่มแรก ซึ่งคาดว่าระยะแรกจะมีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 4,000 คน และหลังจบโครงการจะสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและพึ่งพาตนเองได้ทั้งด้านอาชีพ และรายได้โดยยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตชุมชนศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงสร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่นในหมู่เยาวชนลดปัญหากลุ่มเสี่ยง และการย้ายถิ่นที่อยู่”
ขณะที่ นายศุภวัชร ศักดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “จังหวัดสุราษฎร์ธานีแม้จะมีความพร้อมด้านแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม แต่ก็ยังประสบปัญหาในเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน เพราะภาพรวมนักท่องเที่ยวจะนิยมเที่ยวตามหมู่เกาะมากกว่าการเที่ยวในพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร ประกอบกับแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งบางส่วนยังมีปัญหาเรื่องสาธารณูปโภค และการคมนาคม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้น่าจะส่งผลดีต่อชุมชนชายฝั่ง และการท่องเที่ยวในภาพรวมของจังหวัด ทั้งยังเป็นการตอกย้ำถึงวิสัยทัศน์ของ จ.สุราษฎร์ธานี ในการเป็นผู้นำการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ”
ส่วน นายจักรกฤษณ์ เอ่งฉ้วน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวเสริมว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือว่ามีแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญหลายแห่ง นอกจากประชาชน นักท่องเที่ยวจะสามารถเดินทางมาเพื่อชมธรรมชาติ หรือทำบุญไหว้พระแล้ว ยังสามารถเที่ยวชมชุมชนที่ประกอบอาชีพทางหัตถกรรม หรือการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงชุมชนการเกษตรที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กันหากได้รับการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการ และประชาสัมพันธ์ที่ดีร่วมกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อธุรกิจท่องเที่ยวทั้งภาครัฐ และเอกชน จะสามารถกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวได้รู้จัก และหันมาเที่ยววิถีชุมชนมากขึ้น ทั้งในอนาคตชุมชนนำร่องของโครงการฯ ก็จะเป็นตัวอย่างของชุมชนในเรื่องของการช่วยเหลือตัวเองได้หลังจบโครงการฯ