xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ประมงพื้นบ้าน” รุกฆาต “บิ๊กตู่” 1 สัปดาห์ไม่แก้ กม.เอื้อนายทุนกระทืบคนเล็กคนน้อยเจอกันแน่! (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย” สุดอึดอัดท่าที่รัฐบาลท็อปบูต ร่อนแถลงการณ์ ฉ.3 จี้แก้ปัญหากรณี พ.ร.ก.การประมงปี 58 หนุนทุนใหญ่ย่ำยีชาวประมงพื้นบ้าน ยื่น 4 ข้อเสนอให้เร่งหาทางออก และเปิดการส่วนร่วม พร้อมคาดขีดเส้นตายนับจากนี้ 1 สัปดาห์ ยังเมินเฉยเจอมาตรการขั้นเด็ดขาด
 
วันนี้ (21 ม.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. นายสะมะแอ แจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับคณะกรรมการสมาคมฯ รวมถึงชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี จัดแถลงข่าว และอ่านแถลงการณ์ของสมาคมฯ ฉบับที่ 3 กรณี “พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘ กระทบประมงพื้นบ้าน” โดยจัดขึ้น ณ ที่ทำการสมาคมชาวประมงพื้นบ้าน อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี
 
 

 
 
สำหรับเนื้อหาในแถลงการณ์ ฉบับที่ ๓ กรณี “พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘ กระทบประมงพื้นบ้าน” ดังกล่าวได้ระบุเนื้อหาสำคัญความว่า ตามที่เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน ๑๗ จังหวัดชายฝั่งทะเลไทย ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านจังหวัดต่างๆ ขอให้ยกเลิกมาตรา ๓๔ ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งมีหลักการจำกัดสิทธิชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก โดยไม่มีเหตุจำเป็นอันควร
 
ทั้งที่ในพระราชบัญญัติการประมงเดิมที่เคยผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบของฝ่ายต่างๆ ไม่มีการจำกัดสิทธิของชุมชนประมงพื้นบ้านดังกล่าว (มาตรา ๔๓ ของพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.๒๕๕๘) ในโอกาสนี้เราขอแถลงดังต่อไปนี้
 
๑.เราขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกจังหวัดที่ให้การต้อนรับ และอำนวยความสะดวกชาวประมงพื้นบ้านตามสมควร และขอเรียนผ่านแถลงฉบับนี้ว่า หนังสือดังกล่าวทุกพื้นที่ “กราบเรียนถึงนายกรัฐมนตรี” เพื่อพิจารณา หวังว่าผู้เกี่ยวข้องแต่ละจังหวัดจะได้นำส่งถึงนายกรัฐมนตรีประเทศไทยโดยเร็ว
 
ในการนี้ เพื่อให้รัฐบาลได้มีเวลาในการไตร่ตรองข้อเท็จจริง เราจึงประกาศให้ทราบว่า เราขอเวลาในการติดตามความคืบหน้าภายในหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า และพร้อมแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหากับผู้เกี่ยวข้องโดยเปิดเผย 
 
๒.เราทราบว่ากรมประมงและ ศป.มผ. ได้เร่งรัดให้จังหวัดต่างๆ จัดประชุม “คณะกรรมการพหุภาคีแก้ไขปัญหาการประมงจังหวัด” ให้พิจารณาแบ่งเขตตามมาตรา ๓๔ โดย “ไม่รอผลการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี” ว่าจะพิจารณาข้อเสนอของชาวประมงพื้นบ้านอย่างไร และเราเห็นว่า “คณะกรรมการพหุภาคีฯ” ดังกล่าวมิได้เป็นกลไกใดๆ ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘
 
จึงล้วนเป็นการกระทำขัดแย้งต่อการใช้กฎหมายฉบับใหม่ ที่หน่วยงานรัฐกระทำละเมิดขั้นตอนกฎหมายเองทั้งสิ้น 
 
๓.ทะเลไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาการทำการประมงแบบทำลายล้างจำนวนมาก ที่ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านที่มีจำนวนมากกว่า 85% ของชาวประมงทั้งหมด ตกอยู่ในสภาพลำบากในการดำรงชีพ มีเครื่องมือประมงที่ทำลายแหล่งอาหารโปรตีนธรรมชาติของสังคมไทย โดยที่พระราชกำหนดการประมงยังไม่สามารถสร้างหลักประกันใดๆ
 
เราเห็นว่าการประมงไทยควรมุ่งเน้นปัญหานี้ มากกว่าการออกกฎหมายมาเพื่อจำกัดสิทธิของผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับความลำบากมากกว่าเดิม
 
๔.นอกจากปัญหาตามมาตรา ๓๔ แล้ว เรายังพบประเด็นปัญหาของข้อกำหนดในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘ ในประเด็นอื่นๆ อีกมาก เช่น ในส่วนที่ว่าด้วยคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ
 
ในแง่สัดส่วน/บทบาทหน้าที่/ความเป็นไปได้จริงในการทำหน้าที่เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลไทยอย่างยั่งยืน, ในส่วนมาตรา ๑๐ ที่มีผลให้ผู้ที่ใช้เรือทำการประมง แบบ “หาอยู่หากินหรือทำการประมงเพื่อบริโภคในครัวเรือน” ไม่สามารถทำประมงได้อีกต่อไป เป็นต้น
 
ในโอกาสนี้ เราขอเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล เร่งพิจารณายกเลิกมาตรา ๓๔ และปรับปรุงประเด็นอื่นๆ ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๙ โดยเปิดโอกาสให้เราได้ร่วมเสนอข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ เพื่อแก้ไขปัญหาการประมงทะเลไทยให้ยั่งยืนต่อไป
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น