xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นภัยแล้ง! สตูลเตรียมตั้งรับ คาดปีนี้จะรุนแรงและยาวนานกว่าทุกปีที่ผ่านมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - รองผู้ว่าฯ สตูล เรียกประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันหาทางป้องกัน และแก้ไขปัญหาหน้าแล้งที่มาถึง คาดในปีนี้จะรุนแรง และมีระยะเวลายาวนานกว่าทุกปี พร้อมสั่ง สนง.เกษตรจังหวัด หาวิธีแนะการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยสร้างรายได้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกร

วันนี้ (19 ม.ค.) ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล นายสรเดช สุนทรารชุน รองผู้ว่าฯ สตูล เรียกหัวหน้าราชการทุกฝ่าย ทั้งภาคเกษตร ชลประทาน ท้องถิ่น นายอำเภอทั้ง 7 แห่ง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล ทหาร ตำรวจ และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เปิดประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดสตูล ครั้งที่ 1

นายสรเดช สุนทรารชุน รองผู้ว่าฯ สตูล กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดสตูลกำลังเข้าสู่ฤดูภัยแล้งแล้วในบางอำเภอ จึงได้มีเปิดประเด็นการประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งภายในจังหวัดสตูล เพื่อต้องการตั้งรับภัยแล้งในจังหวัดสตูล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทุกพื้นที่ ทั้งตามอำเภอต่างๆ ในพื้นที่ชนบท ห่างไกลถิ่นทุรกันดาร รวมทั้งตามเกาะแก่งในจังหวัดสตูล เช่น เกาะบุโหลน เกาะสาหร่าย เกาะปูยู รวมทั้งหมู่บ้านแนวเขตชายแดน เพื่อรับมือหาทางออก และตั้งงบประมาณในการช่วยเหลือ
 

 
สำหรับจังหวัดสตูล ภัยแล้งปีนี้ 2559 เข้ามาเร็วมาก ประชาชนเริ่มขอน้ำจากหน่วยงานท้องถิ่น และในจังหวัดสตูล ที่ผ่านมาพบว่าช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.ของทุกปี จังหวัดสตูลมักจะประสบต่อปัญหาภัยแล้ง แต่ในปีนี้คาดว่าจะประสบภัยแล้งน่าจะรุนแรง และยาวนาน เนื่องจากปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ และเข้าสู่สภาวะแล้งเร็วกว่าปกติ ประกอบกับอิทธิพลภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้เกิดภาวะอากาศแห้งแล้ง อุณหภูมิสูง แดดร้อนจัด การระเหยของน้ำมีมากทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และระดับน้ำใต้ดินลดลงเป็นจำนวนมาก ราษฎรประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเลี้ยงสัตว์ และน้ำเพื่อการเกษตรในหลายพื้นที่ของจังหวัดสตูล

ทำให้แหล่งน้ำบนผิวดินของจังหวัดสตูล ประกอบด้วย ลำน้ำที่เรียกว่าคลอง บึง และหนองน้ำที่สำคัญพอประมวลได้ดังนี้ ทะเลบัน หนองปลักพระยา คลองมำบัง คลองวังพะเนียด คลองละงู คลองลำโลน คลองท่าแพ ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นในส่วนของคลองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสตูลเริ่มที่จะแห้ง จึงเป็นห่วงพี่น้องชาวเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบ จึงสั่งการให้ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล จัดหาวิธีแนะแนวการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยสร้างรายได้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น