คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้
โดย...สกนธ์ รัตนโกศล
“คุณค่าทางใจ” บัวมีความผูกพันกับคนไทยมาช้านาน โดยนำดอกไปใช้บูชาพระ เป็นสัญลักษณ์ของความดี เพราะถึงแม้จะเกิดจากโคลนตม แต่บัวก็ยังชูช่อดอกโผล่พ้นน้ำขึ้นมารับแสงสว่าง ในทางพุทธศาสนาจึงอุปมาเปรียบบุคคลเสมือนบัวสี่เหล่า ไว้ดังนี้
- อุคคฏิตัญญู พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะบุคคลเหล่านี้สามารถรู้ และเข้าใจได้ในเวลาอันรวดเร็วเมื่อได้ฟังธรรม เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที
- วิปจิตัญญู พวกที่มีสติปัญญาดี เป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะบุคคลเหล่านี้เมื่อได้ฟังธรรม และได้พิจารณาตามคำสอน อีกทั่งเมื่อได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติมก็สามารถรับรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ ซึ่งจะบานรับแสงอาทิตย์ในวันถัดไป
- เนยยะ พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะบุคคลเหล่านี้เมื่อได้ฟังธรรม อีกทั้งได้พิจารณาตามคำสอน และมีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ นำไปฝึกฝนเพิ่มเติมอยู่เสมอ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธา ปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้ และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานรับแสงอาทิตย์ได้ในวันใดวันหนึ่ง
- ปทปรมะ พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ ขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมาย หรือรู้ตามได้ เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของปลา และเต่า ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบานรับแสงอาทิตย์
บุคคลผู้ที่แนะนำสั่งสอนได้ใน 3 จำพวกแรกเรียกว่า เวไนยสัตว์ ส่วนปทปรมะ เป็นอเวไนยสัตว์ เป็นบุคคลผู้ที่ไม่อาจแนะนำสั่งสอนได้
นอกจากคุณค่าในด้านพุทธศาสนาแล้ว ในด้านของความงาม บัวยังสามารถนำมาใช้ตกแต่งภูมิทัศน์ อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบในการออกรูปแบบสำหรับใช้เป็นส่วนประกอบต่างๆ ในงานสถาปัตยกรรม ทำเป็นรูปกลีบบัวติดอยู่บนหัวเสาเรียกว่า บัวหัวเสา หรือที่ส่วนล่างของฐานเรียกว่า ฐานบัว หรือเป็นไม้แกะสลักไสเซาะเป็นลวดลาย หรือเป็นไม้แถบขนาดเล็กไม่มีลวดลายที่ช่างทั่วไปมักเรียกว่า ไม้มอบ ลวดบัว เป็นต้น
สำหรับ “คุณค่าทางกาย” บัวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในทุกๆ ส่วน เป็นได้ทั้งอาหาร และยาได้ ดังนี้
• เม็ดบัว สามารถนำมากินได้ทั้งสด และแห้ง เป็นแหล่งรวมธาตุอาหารหลายชนิดด้วยกัน มีปริมาณสารอาหารที่สำคัญคือ โปรตีนประมาณ 23% ซึ่งสูงกว่าข้าวถึง 3 เท่า และเม็ดบัวนำมาใช้ประกอบอาหารได้ทั้งคาวหวาน เช่น ขนมหม้อแกงเม็ดบัว เม็ดบัวเชื่อม เป็นต้น
• รากบัว นิยมนำมาเชื่อมแห้งกินเป็นของหวาน หรือใช้เป็นสมุนไพรใช้แก้ร้อนใน โดยนำไปต้มกับน้ำตาลกรวด และชาวอินเดียจะให้เด็กดื่มน้ำรากบัวเพื่อระงับอาการท้องร่วง
• ไหลบัว หรือ ต้นกล้าบัว สามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้ทั้งสด ทั้งแห้ง โดยมากจะนำมาผัดเผ็ด หรือใช้แกงเลียง แกงส้ม
• สายบัว สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด ทั้งแกงส้ม แกงสายบัวกับปลาทู ใช้ผัดแทนผัก ฯลฯ ในด้านสมุนไพร ชาวอินเดียใช้กินเพื่อแก้อาการท้องร่วง
• ใบบัว ส่วนชองใบอ่อนสามารถนำมากินเป็นผักสดแกล้มน้ำพริก หรือนำมาหั่นเป็นฝอยๆ ชงดื่มแทนน้ำชา ช่วยแก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้ห่อข้าว ห่อของ เช่น ข้าวห่อใบบัว เป็นต้น
• เกสรบัว ในส่วนของเกสรสีเหลืองใช้เป็นสมุนไพร สามารถใช้เข้าเครื่องยาได้ทั้งยาไทย และยาจีน โดยใช้ทำเป็นยาลม ยาหอม ยาบำรุงหัวใจ และยาขับปัสสาวะ
• ยางจากก้านใบ และ ก้านดอก แก้ท้องเดิน
• ดีบัว เป็นส่วนของต้นอ่อนที่อยู่ภายในเม็ดบัว มีรสขมจัด มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ จึงนำมาใช้เป็นส่วนผสมของยาแผนโบราณ
“ทางวิชาการ” บัว ชื่อเรียกไม้น้ำหลายชนิด หลายสกุล และหลายวงศ์ คือ สกุล Nelumbo ในวงศ์ Nelumbonaceae
นักพฤกษศาสตร์ แบ่งบัวออกเป็น 3 สกุลใหญ่ คือ
- สกุลเนลุมโบ (Nelumbo) หรือ ปทุมชาติ
- สกุลนิมเฟียร์ (Nymphaea) หรือ อุบลชาติ
- สกุลวิคตอเรีย (Victoria) หรือ บัววิกตอเรีย
เป็นพืชน้ำล้มลุก ลักษณะของลำต้นมีทั่งที่เป็นเหง้าไหล หรือหัวทอดยาวอยู่ในตม ใบเป็นแผ่นกลม ขอบเรียบอยู่ห่างๆ กัน ชูใบ และดอกขึ้นพ้นผิวน้ำ ดอกเป็นดอกเดี่ยวสมบูรณ์เพศ ประกอบด้วย กลีบเลี้ยง 4-6 กลีบ และกลีบดอกมีทั้งชนิดซ้อน และไม่ซ้อน มีสีสันแตกต่างกันแล้วแต่ชนิด และบัวที่พบ และนิยมปลูกในประเทศมีอยู่ 3 สกุลคือ
1. สกุลบัวหลวง (Lotus) มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า ปทุมชาติ หรือ บัวหลวง เป็นบัวในสกุล Nelumbo
2. สกุลบัวสาย (Waterlily) มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า อุบลชาติ หรือ บัวสาย เป็นบัวในสกุล Nymphaea
3. สกุลบัววิกตอเรีย (Victoria) มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า บัวกระด้ง เป็นบัวในสกุล Victoria
ขอรับการเริ่มต้นพุทธศักราช 2559 ขอใช้ “บัว” ซึ่งเป็น “ราชินีแห่งไม้น้ำ” คารวะแก่ทุกๆ ท่านนะขอรับ
---------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
dictionary.sanook.com/search/dict-th-th-royal-institute/บัว
https://thipsuda.wordpress.com/ความรู้เกี่ยวกับบัว/ประวัติความเป็นมาของบัว...
https://hcunmonarp.wordpress.com/lotus-museum/ประเภทของบัว-2/