ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ด่วน! ศาลยกฟ้องคดีตำรวจสลายการชุมนุมต่อต้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซียโดยมิชอบ ชาวบ้านยันเจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ เตรียมดำเนินการยื่นอุทธรณ์
วันนี้ (27 พ.ย.) ศาลชั้นต้น จ.สงขลา ได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องกรณีกลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย อ.จะนะ จ.สงขลา ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกาย และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อสลายการชุมนุมคัดค้านโครงการฯ เมื่อคืนวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ที่บริเวณสะพานจุติอนุสรณ์ ทางเข้าโรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
โดยในคดีนี้ชาวบ้าน จำนวน 25 คน ได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ 38 คน โดยศาลชั้นต้น จ.สงขลา รับฟ้องเพียง 6 จำเลย รวมทั้งอดีต ผบ.ตร. พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ และ พล.ต.ต.สัณฐาน ชยนนท์
ด้าน นางสาว ส. รัตนมณี พลกล้า ทนายความกล่าวว่า ศาลได้ให้เหตุผลในการยกฟ้องว่าหลักฐานไปไม่ถึงจำเลย ในกรณีของจำเลยที่ 1 หรือ พล.ต.อ.สันต์ ศาลเห็นว่าไม่มีส่วนต้องรับผิดชอบในกรณีนี้ เนื่องจากการกำหนดแผนรักษาความปลอดภัยในวันเกิดเหตุเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 หรือ พล.ต.ต.สัณฐาน ในการดูแลกำกับแผน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ในขณะที่ พล.ต.ต.สัณฐาน นั้น ศาลได้ให้น้ำหนักต่อหลักฐานฝ่ายจำเลยมากกว่า เนื่องจากมีผู้ชุมนุมมาล้อมที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และก่อนหน้านี้ เคยมีเหตุการณ์ชุมนุมคล้ายกันเกิดขึ้นมาก่อนถึง 2 ครั้ง ศาลจึงเห็นว่าการสลายการชุมนุมจึงสมควรแก่เหตุ
ในขณะที่จำเลยที่ 4, 6, 13 และ 14 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุม ศาลมองว่าเป็นเพียงผู้รับคำสั่ง และปฏิบัติตามหน้าที่ตามคำสั่งเท่านั้น
ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นใช้พิจารณาวันนี้ขัดต่อข้อเท็จจริงของศาลปกครองสูงสุด และศาลฎีกาที่ตัดสินไปก่อนหน้านี้ ซึ่งต่างให้ความเห็นตรงกันว่า การชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ ศาลชั้นต้นไม่อ้างคำพิพากษาของศาลฎีกา ทั้งที่ควรเป็นข้อเท็จจริงถึงที่สุด
นางสาว ส. รัตนมณี กล่าวอีกว่า ศาลฎีกาได้ตัดสินเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ยืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องชาวบ้านทั้ง 32 คน ซึ่งถูกจ้าหน้าที่รัฐฟ้องในข้อหาชุมนุมอย่างไม่สงบและพกพาอาวุธในขณะชุมนุม
ด้าน นางสุไรด๊ะห์ โต๊ะหลี ผู้ชุมนุมและ 1 ในผู้ฟ้อง กล่าวว่า พวกตนจะอุทธรณ์ต่อ เพราะเห็นว่าศาลใช้มาตรฐานไม่เท่าเทียมกัน และยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ โดยได้เข้ามาสลายการชุมนุม ทั้งๆ ที่ตัวแทนรัฐบาลขณะนั้นได้เจรจา และมีข้อตกลงให้ชาวบ้านรอเพื่อยื่นหนังสือแล้ว
จากหลักฐานที่ศาลชั้นต้นใช้พิจารณาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในวันเกิดเหตุ ซึ่งศาลฎีกาในคดีที่ชาวบ้านถูกตำรวจฟ้องได้ยืนยันความยุติธรรมให้แก่ชาวบ้านแล้วว่า การชุมนุมอย่างสงบและเป็นไปตามหลักการใช้สิทธิอย่างสันติ ในขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รุกล้ำเข้ามาสลายการชุมนุมทำร้ายจับกุมผู้ชุมนุม