ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สาขาวิชาชุมชนศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่ เปิดเวทีส่องไฟใต้ได้ผลสรุป “ความหวังและสันติสุข” ยังอีกไกล.. จี้รัฐต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจังหากหวังดับไฟบนปลายด้ามขวามทองของไทย
วันนี้ (19 พ.ย.) ที่ห้องประชุมรพีพรรณ สุวรรณณัฐโชติ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการจัดการเสวนาภายใต้หัวข้อ “ชายแดนใต้ในสายตา : ความรุนแรง ความหวัง และสันติสุข” โดยวิทยากรจากหลากหลายองค์กรเข้าร่วมให้ความรู้แก่นักศึกษาจาก สาขาวิชาชุมชนศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่ ซึ่งมีอาจารย์ นักศึกษาเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน
โดยบรรยากาศในการเสวนามีวิทยากรจากหลากหลายแขนง ทั้ง ศ.ดร.ครองชัย หัตถา อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ อ.อภิชาติ จันทร์แดง จากสถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ นายปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าว ASTVผู้จัดการหาดใหญ่ นายเกรียงไกร คมขำ จากสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา และมี นายครุศักดิ์ สุขช่วย นักวิชาการอิสระ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ซึ่ง ศ.ดร.ครองชัย อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ กล่าวว่า หากตั้งคำถามว่าชายแดนใต้ในสายตาใคร? คงจะต้องมีหลากหลายคำตอบ เพราะในสายตาแต่ละคนก็คงมองได้แตกต่างกันออกไป ในฐานะที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่มาหลายปี จึงสามารถแบ่งกลุ่มคนในพื้นที่ออกได้เป็น 3 ประเภท คือ 1.กลุ่มคนที่อยู่กับฝ่ายรัฐ 2.กลุ่มคนที่อยู่เป็นกลาง 3.กลุ่มคนที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายรัฐ และในแต่ละกลุ่มก็จะมองปัญหาชายแดนใต้ที่ต่างกัน ซึ่งเป็นเหตุผลที่กลายมาเป็นความขัดแย้งจนปัจจุบันนี้ ถึงแม้ภาครัฐได้พยายามหาทางออกจากกระบวนการเจรจา (มาราปาตานี) ก็ยังไม่มั่นใจ และแสดงความเป็นกังวลอยู่ว่า ในกระบวนการไม่ได้มีบุคคลในพื้นที่จริงๆ เพียงแค่เป็นบุคคลที่ 3 ที่เข้าร่วมพูดคุย จึงยังไม่เห็นทางออกของการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ดังนั้น การสำนึกรักแผ่นดินทุกคนก็จะต้องมีร่วมกัน เพราะที่ผ่านมา คนในพื้นที่กลับถูกผลักดันทางความรู้สึกที่ไม่ดีของคนในชาติเอง โดยต้องหันมาแก้ปัญหาอย่างจริงจังในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่การสร้างความเข้าใจทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นลำดับ คุยกับคนในพื้นที่โดยตรง เคารพในสิทธิ ไม่มีความอคติ เคารพในความเป็นธรรม และจะต้องเคารพในประวัติศาสตร์ที่เป็นมาแต่อดีตอย่างถูกต้องเข้าใจถ่องแท้
ด้าน นายปิยะโชติ หัวหน้าศูนย์ข่าว ASTVผู้จัดการหาดใหญ่ กล่าวด้วยว่า หากมองในฐานะสื่อมวลชนมักจะต้องมองแบบปรากฏการณ์ให้ครอบคลุม ตั้งแต่การมองในระดับโลกแล้วค่อยกลับมามองดูในพื้นที่ว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร โดยมองภาพอดีต วิเคราะห์ปัจจุบันมาประกอบ จากนั้นก็จะเริ่มคาดเดาอนาคตได้ และเชื่อว่าจริงๆ แล้วความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นหลักที่ทำให้เกิดความไม่สงบในทั่วทุกมุมโลก รวมถึงจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งในทุกๆ เหตุการณ์มักมีความเชื่อมโยงกันและเป็นการเกิดขึ้นแบบซ้ำๆ ไม่ใช่แค่ความรุนแรงที่เราเห็นเท่านั้นที่เป็นความขัดแย้ง สงครามเศรษฐกิจก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังครอบงำโลกในรูปแบบของขั้วมหาอำนาจทุนนิยม
โดยเมื่อมองได้แบบแล้ว สงครามที่ใช้ความรุนแรงทั้งด้วยอาวุธ กองกำลัง จึงอาจเป็นเหตุผลที่เกี่ยวข้องกันในรูปแบบเศรษฐกิจ หรือการค้าอาวุธเพื่อก่อเกิดสงครามของระบบทุนนิยมนั่นเอง ซึ่งเชื่อได้เลยว่า สุดท้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ก็เช่นกัน หากรัฐบาลไทยยังไม่จริงจังและไม่ใช้ใจในการแก้ไขปัญหา ความหวังที่ทุกคนคาดหวังคงตอบในวันนี้ได้เลยว่ายังคงมีอยู่ แต่นั่นก็ยังอยู่อีกยาวไกล และหากถามหาถึงสันติสุขก็ยังมองไม่เห็นถึงหนทางนั้นเฉกเช่นกัน
จากนั้น นายเกรียงไกร จากสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ตามความเข้าใจที่ผิดของสังคมไทยโดยทั่วไป ที่มักมองว่าคนในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่เหมือนเรา จึงคล้ายกับว่าพยายามแบ่งแยก แบ่งฝ่ายกับบุคคลเหล่านั้นอยู่ตลอด อาจจะเนื่องด้วยการใช้ภาษาพูดที่ต่างออกไป แล้วพอเกิดเหตุการณ์รุนแรงก็มักจะถูกมองว่ามุสลิมเป็นคนทำ และได้ชื่อว่าเป็นก่อการร้ายไปทั่วทุกที่บนโลก ฉะนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องรู้เขารู้เรา สร้างความเข้าใจ และสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน โดยต้องก้าวผ่านในหลายๆ เรื่องที่ยังตั้งอยู่บนความขัดแย้งร่วมกันให้ได้
ส่วน อ.อภิชาติ จากสถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ ได้กล่าวว่า หลักๆ คือ คนนอกพื้นที่ยังไม่เข้าใจอย่างแน่แท้ถึงคนในพื้นที่ ซึ่งเมื่อไม่เข้าใจแล้วก็จะยิ่งเป็นปัญหา และมักถูกมองให้เห็นภาพอยู่ในแง่ลบเสมอ เห็นได้จากเหตุการณ์รุนแรงทั่วทั้งโลกที่อิสลามมักถูกพาดพิงและพูดถึงอยู่เรื่อยไป โดยที่เราแทบไม่ได้มองเห็นถึงความเป็นเหตุเป็นผล หรือเป็นมาเป็นไปอย่างไร แต่กลับคิดไปก่อนแล้วว่าบุคคลเหล่านี้แหละที่เป็นผู้กระทำ
สุดท้ายเมื่อพูดถึง “ชายแดนใต้ในสายตา : ความรุนแรง ความหวัง และสันติสุข” บทสรุปก็ต้องขึ้นอยู่กับความจริงจัง และจริงใจในการแก้ปัญหาของรัฐไทย มิฉะนั้น ความรุนแรงที่พบเจอก็จะยังอยู่ และคงมี ความหวังที่ทุกคนสร้างขึ้นก็อาจจะอยู่ไกลจนยังมองแทบไม่เห็นเลยด้วยซ้ำ ส่วนสันติสุขนั้นก็คงไม่ต้องพูดถึง หากไฟใต้ยังไม่แม้แต่จะมอดเพียงสักนิดเดียว