xs
xsm
sm
md
lg

“มวยไทยเพื่อเยาวชนสร้างสุข” ณ ชุมชนคนจาก 60 จังหวัดทั่วไทยบนเกาะภูเก็ต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
เรื่อง/ภาพ  :  ถนอม  ขุนเพ็ชร์
 
บริเวณที่ถูกเรียกขานว่า “เกาะสิเหร่” บนแผ่นดินเกาะเกาะไข่มุกอันดามัน ณ “ชุมชนประชาอุดม” ซ.เทียมประชาอุทิศ ม.1 ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นชุมชนเกิดใหม่อายุ 20 กว่าปี บนพื้นที่ 33 ไร่ มีคนอาศัยหนาแน่น 189 ครัวเรือน เป็นคนอพยพมาจาก 60 จังหวัดทั่วประเทศไทย ยังไม่นับรวมกับแรงงานต่างด้าวที่ตามมาสมทบภายหลังอีกด้วย
 
นอกจากการต่อสู้ในเรื่องที่อยู่อาศัย จนอยู่ระหว่างการขอออกโฉนดชุมชนแล้ว ที่ผ่านมา ชุมชนต้องฝ่าฟันปัญหาหลายอย่าง รวมทั้งปัญหายาเสพติด จนกระทั่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส.ให้ดำเนิน “โครงการมวยไทยเพื่อเยาวชนสร้างสุข”
 
สินชัย รู้เพราะจีน ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่า ชุมชนประชาอุดมเริ่มต้นเมื่อปี 2530 ในอดีตเจ้าหน้าที่ป่าชายเลนที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ได้เข้ามาไล่จับกุมชาวบ้านที่เข้ามาบุกรุกเข้ามาอาศัย แต่เมื่อคนไม่มีที่ไปสำนักงานป่าชายเลน และเทศบาลจึงได้กันแนวเขตชุมชนไว้ 33 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา มีกติกาว่าห้ามรุกล้ำเพิ่ม
 
การพัฒนาชุมชนที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนจาก พอช. จับมือกับหลายชุมชนในภูเก็ตที่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในนามเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต 22 ชุมชน
 
“เมื่อระบบสาธารณูปโภคในชุมชนดีขึ้น เราก็พบว่า ชุมชนมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีก เช่นเกี่ยวกับยาเสพติด คณะกรรมการชุมชนก็หาทางออก โดยเฉพาะเยาวชน จึงมาถึงการทำโครงการมวยไทยเพื่อเยาวชนสร้างสุข”
 

 
โครงการเปิดตัวไประยะแรกปรากฏว่า ผู้ปกครองไม่ส่งลูกมาร่วม เพราะเข้าใจว่าจะเอาเด็กมาต่อยมวย จึงมีการจัดประชุมทำความเข้าใจว่า เป็นการเอาเด็กมาเรียนรู้ศิลปะการป้องกันตัวไปพร้อมเรียนรู้พิษภัยยาเสพติด ทำให้คนเข้าใจแบบค่อยเป็นค่อยไป
 
แล้วก็มีเด็กมาร่วมถึงจำนวน 70 คน ช่วงอายุตั้งแต่ เด็ก 6-17 ปี
 
มีการสร้างแกนนำเด็กในเรื่องป้องกันยาเสพติด หลังจากนั้น ค่อยชักชวนฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วม ในกลุ่มเด็ก ระยะแรกเน้นกิจกรรมที่เด็กสนใจทั่วไปก่อน ค่อยใส่วิชามวยไทย และเชิญฝ่ายราชการ เช่น จากตำรวจ และเทศบาลมาให้ความรู้เรื่องพิษภัยยาเสพติด
 
“การสอนมวยไทยเราก็ใช้เด็กที่เป็นมวยอยู่แล้ว 3 คนมาช่วย พวกเขายังชวนเพื่อนนักมวยด้วยกันมาช่วยอีก 2 คน มาฝึกสอนเด็กคนอื่นในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ตลอดทั้งวัน ซึ่งผู้ปกครองก็มาร่วมตลอด” สินชัย เล่าและว่า
 
สิ่งที่ได้นอกจากอนุรักษ์สืบสานมวยไทยแล้ว ยังเกิดแกนนำต่อต้านยาเสพติด และกิจกรรมพี่สอนการบ้านน้อง ซึ่งมีผลลัพธ์การออกกำลังกายแบบแอโรบิกตามมาด้วย จากคนในชุมชนที่ไม่เคยคุยกันเลย พอทุกคนเห็นประโยชน์ของโครงการก็มาช่วยคนละไม้คนละมือในทุกเรื่อง ชุมชนเกิดความสามัคคีอย่างชัดเจน 
 
“ชุมชนนี้เกิดจากคนที่มาจาก 60 จังหวัดทั่วประเทศ เดิมต่างคนต่างอยู่ ต่างทำงานดิ้นรนเลี้ยงชีวิต ไม่ค่อยได้คุยกัน วันหยุดก็อยู่บ้าน แต่พอเราทำโครงการมีการนัดมากินข้าวในวันอาทิตย์ที่ศาลาของหมู่บ้าน คนก็ออกมา เพราะดีกว่านอนอยู่บ้าน ลูกก็ได้เล่นกับเพื่อน ชุมชนมีการตื่นตัวและเข้มแข็ง จึงจะแก้ปัญหาหลายอย่างได้อย่างยั่งยืน”
 
สำหรับมวยไทยสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือหลอมรวมผู้คนที่แตกต่างหลากหลายได้ ไม่เฉพาะชาวไทย รวมทั้งแรงงานชาวพม่าที่สนใจมวยไทยด้วยเช่นกัน ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการเขาบอกว่า มีความสุขทางใจที่เห็นเด็กรวมตัวเป็นกลุ่มทำงานเพื่อชุมชน ไม่มั่วสุมในทางที่ไม่ถูกต้อง และเป็นการฝึกคนทำงานจิตอาสา ซึ่งไม่มีในตำราเรียน
 
“แม้รูปแบบมวยไทยในโครงการนำมาเป็นท่าในการออกกำลังกาย แต่ถ้าฝึกจริงจังสามารถนำไปเป็นอาชีพเสริมได้ เช่น ชกโชว์ท่ามวยไทยในธุรกิจการท่องเที่ยวของภูเก็ต สามารถจัดชกโชว์ตามโรงแรมได้ด้วย”
 

 
รุ่งนภา เสมาธนกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ซึ่งเป็นแกนนำเยาวชนชุมชนประชาอุดม เล่าถึงการทำงานในโครงการว่า  มีการดึงน้องๆ เข้ามาฝึกเป็นแกนนำ 10 คน รับผิดชอบ 6 ซอยในชุมชน รุ่นพี่แต่ละซอยก็จะทำหน้าที่ในการชวนน้องๆ มาร่วมกิจกรรม นอกจากมวยไทย เด็กที่มาร่วมจะได้ความรู้ต่างๆ เช่น ภาษาอาเซียน ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รวมถึงพิษภัยยาเสพติด
 
“พอมีโครงการนี้เข้ามา เด็กแต่ละซอยได้มารู้จักกัน มีความสามัคคีกันมากขึ้น นอกจากฝึกมวยแล้ว การที่เด็กมีปัญหาเรื่องการบ้าน ผู้ปกครองส่วนมากมีความรู้น้อย เขาก็มาหารุ่นพี่ มาปรึกษาในเรื่องการเรียนไปด้วย ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง กระตุ้นให้มีความเข้มแข็งที่จะรับมือต่อปัญหายาเสพติด”
 
เธอเล่าว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในชัดเจนสำหรับโครงการคือ ได้ความสามัคคีภายในชุมชน นอกจากฝึกมวยไทยแล้ว เด็กยังรู้จักการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ การสร้างเกราะป้องกันยาเสพติด
 
“เราได้ภาคีร่วมคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้ชวนเพื่อนจากมหาวิทยาลัยมาร่วมกิจกรรม เดินรณรงค์ในชุมชน เมื่อชุมชนตื่นตัว คนที่เกี่ยวข้องยาเสพติดก็ต้องออกจนจากชุมชนไปเอง”
 
รุ่งนภา เล่าว่า ผลสำเร็จที่ชัดเจนที่สุดคือ ยาเสพติดที่ลดลงในชุมชน เด็กในชุมชนเคยจับกลุ่มแอบสูบบุหรี่ เมื่อพวกเขาเห็นปัญหาหลายคนก็ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องอีก
 
“เมื่อก่อนพวกเราเด็กๆ รับรู้ปัญหา แต่ไม่มีพื้นที่จะทำอะไร จนมีโครงการ สสส.เข้ามาก็ทำให้เราได้ทำอะไรในเชิงสร้างสรรค์ ดึงจิตอาสาในชุมชนมาช่วยกันทำ เด็กๆ ในชุมชน ซึ่งพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแล เพราะต้องทำงาน เราก็เป็นส่วนหนึ่งช่วยสอนการบ้าน ช่วยเหลือแก้ปัญหาต่างๆ” เธอเล่า
 

 
กิตติธัช คนงาน นักมวยเด็กแห่งชุมชนประชาอุดม ซึ่งมีชื่อทางมวยว่า “กรเพชร ศิษย์ สท.เล็ก” ผู้ที่คอยฝึกสอนให้เด็กคนอื่นๆ และชักชวนคนในชุมชนหันมาสนใจมวย เล่าว่า เขาฝึกชกมวยตั้งแต่ ป.1 เพราะพ่อเคยเป็นนักมวยมาก่อน เขาขึ้นเวทีชกมวยไทยมาแล้วประมาณ 100 ครั้ง ชอบมวยเพราะได้เงินค่าขนม ได้ศิลปะการป้องกันตัว สำหรับความฝันส่วนตัวคือ อยากเป็นนักมวยสากลทีมชาติไปโอลิมปิก
 
“เราได้มาสอนเพราะพี่ๆ เพื่อนๆ ชวนมาร่วมกับนักมวยอาชีพในชุมชนอีก 3 คน ผมสอนชก ต่อย เตะ จากสิ่งที่เรียนมาจากค่ายมวย แต่ก็มาเน้นประยุกต์ออกกำลังกาย คนที่มาฝึกตอนนี้ส่วนมากเป็นผู้หญิงครับ เพราะเด็กผู้ชายในชุมชนส่วนมากยังเล็กๆ กันอยู่ คนที่เล่นมวยจะแข็งแรง มีภูมิต้านทาน ไม่ค่อยเจ็บป่วย มีศิลปะการป้องกันตัวในยามฉุกเฉิน ไม่ติดเกม ไม่ติดยา”
 
จริยวัตร จอมคำ ผู้ติดตามโครงการของ สสส.เล่าว่า กิจกรรมของโครงการนี้นอกจากฝึกมวยไทยให้แก่กลุ่มเยาวชนแล้ว ยังมีการอบรมพิษภัยยาเสพติดโดยตำรวจและเจ้าหน้าที่ รพ.สต.เป็นหลัก ผลจากการดำเนินการช่วยลดปัญหายาเสพติด แก้ปัญหาการทะเลาะวิวาทในชุมชน ผลทางอ้อมได้เกิดกลุ่มเยาวชน กลุ่มเครือข่ายผู้ปกครองที่เข้ามารวมตัวพูดคุย ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ได้เครือข่ายเฝ้าระวังชุมชน ดูแลเรื่องยาเสพติด เรื่องกลุ่มคนแปลกหน้าที่เข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชน เป็นต้น
 
“จากที่เด็กในชุมชนไม่รู้จักกัน ทุกวันนี้ก็มารู้จักกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ยาเสพติดได้ลดลงอย่างมาก เพราะมีเครือข่ายผู้ปกครองที่ต้องเฝ้าระวัง สถิติการจับกุมยาเสพติดในพื้นที่ลดน้อยลง”
 
อย่างไรก็ตาม เขามองว่าจุดเด่นของชุมชนแห่งนี้อยู่ที่การมีแกนนำเยาวชนที่มีความเข้มแข็ง กล้าคิด กล้าเสนอในทางสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น