xs
xsm
sm
md
lg

การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่าง “ชุมชนชาวสิเกา” กับ “โรงงานอุตสาหกรรม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
เรื่อง/ภาพ  :  ถนอม ขุนเพ็ชร์
 
ชาวบ้านเขาแก้วหมู่ที่ 2 ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง ใช้โอกาสที่รับการสนับสนุนโครงการชุมชนน่าอยู่จาก สสส. ดึงชาวบ้านกลับมาร่วมมือกันจัดการปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง
 
ต.นาเมืองเพชร เป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่นของ จ.ตรัง เฉพาะบ้านเขาแก้วมีโรงงานยางขนาดใหญ่ที่อยู่มานาน 20 ปี ไม่เคยมีการแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างสองฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรม
 
กุศล คีรีรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านเขาแก้ว ผู้รับผิดชอบโครงการคนเขาแก้วใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่บ้านเขาแก้ว เล่าว่า ก่อนเขามาเป็นผู้นำ ปัญหาความรักความสามัคคีของคนในชุมชนหายไป โดยเฉพาะความขัดแย้งจากปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
 
“การทำโครงการกับ สสส.จริงๆ เริ่มแรกเราต้องการแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้านในยุคพืชเศรษฐกิจชาวบ้านคือ ยางพาราราคาตก”
 

 
ทางโครงการฯ ดำเนินกิจกรรมถนนกินได้ ชวนชาวบ้านมาช่วยกันปลูกพืชริมถนนราว 30 กว่าชนิด เช่น ขี้เหล็ก ชะมวง ชะม่าว เหรียง มะกรูด มะขาม มะม่วง มะขาม แค ชะอม มะม่วงหิมพานต์ ฯลฯ ระยะทางรวมกว่า 5 กิโลเมตร ต้นไม้อยู่ตรงกับบ้านเรือนของใครให้คนนั้นช่วยดูแล แต่ใครๆ ไม่ว่าจะในชุมชน หรือนอกชุมชนจะมาเก็บกินก็ได้ หลังจากปลูกมาเกือบปีชาวบ้านสามารถเก็บผักไปกิน ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
 
นั่นกลับเป็นจุดเริ่มต้นกิจกรรมที่สามารถฟื้น และสร้างความร่วมมือให้แก่ชุมชนกลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง เพราะสามารถดึงคนมาพบปะกันเป็นประจำทุกๆ เดือน เมื่อชาวบ้านได้เจอกันบ่อยๆ ก็สามารถที่จะค่อยผ่อนคลายความขัดแย้งลงทีละน้อย
 
“จากถนนกินได้ เราขยายความร่วมมือมาช่วยกันดูแลแหล่งน้ำสำคัญของหมู่บ้านคือ ห้วยน้ำหวาน ที่สร้างกติกาหมู่บ้านในการใช้แหล่งน้ำ โดยหลักๆ เป็นประปาหมู่บ้าน ส่วนการจับสัตว์น้ำให้ใช้เบ็ดอย่างเดียว”
 
ปัญหาผลกระทบจากโรงงานยาง ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ตั้งอยู่มา 20 กว่าปีแล้ว ผลกระทบที่กลิ่นเหม็น และน้ำเสีย รวมถึงแรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่ในชุมชนราว 200 คน ที่ผ่านมา มีความขัดแย้ง และปะทะกันระหว่างโรงงานกับชุมชน ถึงขนาดชาวบ้านประท้วงปิดโรงงาน แต่ก็มีแค่การแก้ไขเฉพาะหน้าเป็นครั้งคราวเท่านั้น
 

 
เมื่อชาวบ้านกลับมาให้ความร่วมมือ มีการยกปัญหาเดิมของชุมชนคือ โรงงานมาหาทางออกใหม่ กุศล นำข้อเสนอของชาวบ้านไปบอกโรงงาน ได้ข้อตกลงระหว่างชุมชนกับโรงงานที่ชัดเจน ทางชุมชนได้มีการยื่นข้อเสนอของการอยู่ร่วมกันในชุมชนให้แก่โรงงานยาง ต่อมาเป็นกติกาที่โรงงานรับไปปฏิบัติ ประกอบด้วย 
 
1.ทางโรงงานได้ทำการแก้ไขระบบกำจัดกลิ่น โดยมีการเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าแบบเก่ามาก
 
2.มีการปรับปรุง และเฝ้าระวังน้ำเสียมากขึ้น โดยมีการเสริมคันดินเพื่อป้องกันบ่อแตกทลาย เพื่อกันน้ำเสียลงสู่คลอง การขุดลอกบ่อตะกอนเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสีย
 
3.โรงงานร่วมกิจกรรมของชุมชน เช่น การทำถนนกินได้ก็มีการนำกำลังคนเข้ามาช่วย สนับสนุนกล้าไม้ และกิจกรรมอื่นๆ ของชุมชน เช่น การแข่งขันกีฬาชุมชน
 
4.เรื่องการรับซื้อน้ำยางจากชาวบ้านในชุมชนโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง จะทำให้ชาวบ้านขายน้ำยางได้ราคาดีขึ้น เฉพาะกรณีนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ
 
“ที่ผ่านมา ถือว่าพยายามแก้ปัญหากันสองฝ่าย แต่ยังขาดความชัดเจน พอมาทำโครงการกับ สสส. สิ่งที่เราได้คือ ความร่วมมือของชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านรวมตัวไปคุยกับโรงงานก็ได้รับความร่วมมือดีกว่าเก่า โรงงานก็มาสนับสนุนชาวบ้านในกิจกรรมชุมชนต่างๆ”
 

 
เขาเล่าว่า ก่อนนั้นโรงงานมักต่อตรงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ หรือแค่คนบางคนในชุมชน ชาวบ้านส่วนใหญ่อึดอัด แต่ไม่ไปยุ่งเกี่ยว ต่างคนต่างอยู่ แม้ว่าสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลงมาช่วยแก้ปัญหา ตัวเชื่อมระหว่างโรงงานกับหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2548 แต่ทางราชการทำไปได้แค่พักหนึ่งแล้วไม่มีความต่อเนื่อง
 
“ที่โรงงานหันมารับฟังชาวบ้านในขณะนี้คิดว่ามาจากท่าทีขอความร่วมมือเป็นท่าทีที่ดี จริงใจ เราบอกว่าเมื่อโรงงานมาเอาผลประโยชน์จากชุมชนบ้านผมแล้ว ก็ควรให้อะไรแก่ชุมชนบ้าง”
 
เมื่อชาวบ้านรวมกลุ่มกันได้ดี มีพลังเข้มแข็ง โรงงานมองเห็นจุดนี้จึงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ขณะที่สมัยก่อนการแก้ปัญหาผ่านคนใดคนหนึ่งทำแบบไม่โปร่งใส ยิ่งสร้างหวาดระแวง สร้างความแตกแยก แต่สำหรับรูปแบบทำงานยุคใหม่ใช้ระบบกรรมการหมู่บ้านเท่านั้น
 
“หลังจากทำโครงการ สสส. สิ่งที่ได้มากคือ ความรักความสามัคคีของชาวบ้าน สามารถดึงชาวบ้านเข้ามาร่วม จนมีพลังพอจะคุยกับโรงงานรู้เรื่อง”
 
พระครูศรีรัตนาภิวุฒิ เจ้าอาวาสวัดเขาแก้ว กล่าวว่า  ในเวลานี้การจับมือของบ้าน วัด โรงเรียน เป็นไปอย่างแนบแน่น ทำให้เมื่อทำอะไรก็ทำให้ทุกฝ่ายมาร่วม ปัญหาโรงงานใช้หลักว่าต้องยอมรับ และแก้ไขให้ทุกอย่างดีขึ้น
 
ที่นี่วัดเป็นศูนย์รวมของคนในพื้นที่ในการจัดกิจกรรมอยู่ก่อนแล้ว การประชุมแก้ไขปัญหาของชุมชนพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เอาปัญหามาคุยกันเพื่อหาวิธีการแก้ไข โดยการยอมรับซึ่งกันและกัน ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนอยู่กันอย่างมีความสุข 
 
“อย่างไรก็ตาม ถ้าแก้ไขไม่ได้จริงๆ ก็เชื่อว่าชุมชนที่นี่เด็ดขาดพอ คือ อาจจะปิดโรงงาน เพื่อให้เกิดการจัดการใหม่” พระครูศรีรัตนาภิวุฒิ กล่าวอย่างจริงจัง
 

 
สุริยา มิหัด ผู้จัดการโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราในชุมชนเขาแก้ว กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้ผลิตยางแท่ง เป็นวัตถุดิบตั้งต้นเพื่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องในบริษัทอุตสาหกรรมยางครบวงจร ทางบริษัทมีนโยบายที่จะทำงานกับชุมชนค่อนข้างชัด
 
ต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมทุกประเภทส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ได้ดี 100% การแก้ปัญหาร่วมระหว่างโรงงานกับชุมชนต่างหากที่มองว่า จะทำให้ชุมชนกับโรงงานอยู่ร่วมกันได้หรือเปล่า เป็นโจทย์โดยตรงของโรงงาน ขณะเดียวกัน ก็ต้องจริงใจ เปิดใจต่อชุมชน
 
“ผมได้คุยกับชุมชนผ่านผู้ใหญ่ศลเป็นประจำว่า อย่างไรก็แล้วแต่โรงงานเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เมื่อโรงงานตั้งอยู่ คนต้องได้ประโยชน์
 
เขามองว่ากระบวนการสำคัญคือ กระบวนการยอมรับซึ่งกันและกัน ชุมชนยอมรับการมีอยู่จริงของโรงงาน คุ้นชินต่ออุตสาหกรรมตัวนี้ ขณะที่ตัวโรงงานก็ต้องเปลี่ยนแนวทางในการทำงาน
 
“สำหรับเรานโยบายจากผู้บริหารก็ค่อนข้างชัด ให้ผู้จัดการแต่ละส่วนเข้าไปร่วมกับกิจกรรมของชุมชนให้เป็น 30% ของเวลาทำงาน จะด้วยวิธีไหนก็ตามแต่ งานจะยุ่งแค่ไหนก็ต้องทำงานกับชุมชน”
 
การทำงานร่วมแก้ปัญหาจะมีการจัดเวทีพูดคุยว่า แนวทางอะไรบ้างที่ชุมชนต้องการ อะไรบ้างที่โรงงานสามารถสนับสนุน เน้นความต้องสอดคล้องต่อความต้องการของทั้งสองฝ่าย
 
“ผมมองว่าโครงการถนนกินได้ตอบโจทย์วิถีของชาวบ้านจริงๆ เพราะลดค่าครองชีพ เมื่อโรงงานได้ลงไปช่วยชาวบ้านทำเรื่องนี้ก็ไม่ได้ใช้เงินทองมาก สำหรับเราก็ใช่ช่วงเวลาว่าง ส่งกำลังคนไปช่วย ก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ได้พูดคุยในปัญหาต่างๆ ไม่ใช่ยืนคนละฝั่ง”
 
จุดสำคัญในการแก้ปัญหาแบบนี้ เขามองว่าอยู่ที่การเปิดรับของสองฝ่าย เขามองว่าชุมชนน่าอยู่ไม่ใช่ว่าจะมีรถมีบ้านหลังโตๆ เพราะในความเป็นจริงของชีวิตมีคนอยู่หลายแบบ แต่ชุมชนน่าอยู่น่าจะเป็นที่เราอยู่แล้ว พรรคพวกเพื่อนฝูง พี่น้อง มีอะไรเดือดร้อนก็ไปมาหาสู่ช่วยเหลือกัน หาจุดสมดุลจะต้องอยู่ร่วมกันได้
 
ทางด้าน ขจิตรพรรณ โรยอุตระ หัวหน้าส่วนสิ่งแวดล้อมโรงงานอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับชุมชนเขาแก้วมาตลอด กล่าวว่า การทำกิจกรรมชุมชนก่อนที่โครงการ สสส.เข้ามา ทางโรงงานเองมักวางแผนเองว่า ในแต่ละปีจะทำอะไร โดยที่ไม่ได้สำรวจความต้องการของชุมชน
 
เมื่อมีโครงการ สสส.เข้ามาก็มีการจัดโครงการสานเสวนาระหว่างภาครัฐ ชุมชน ผู้นำ และโรงงาน มีการสอบถามความต้องการว่าอะไรที่ยังขาด โรงงานควรทำอะไร ปัญหาที่ชุมชนได้รับ ข้อดีข้อเสียของการมีโรงงานอยู่ในชุมชน แล้วเอาข้อมูลพวกนี้มาทำโครงการร่วมกัน
 
สำหรับกติการ่วมระหว่างโรงงานกับชุมชนเกิดมาจากกิจกรรมการสานเสวนา และโหวตลำดับปัญหา เมื่อ 16 มีนาคม 2558 ก็ได้บทสรุปสิ่งที่ดำเนินการทั้งหมด เพราะต้องการให้ชุมชนกับโรงงานอยู่ร่วมกันได้แบบยั่งยืน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น