xs
xsm
sm
md
lg

คกก.สิทธิฯ ตรวจสถานควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเขตทหาร เผยพอใจการร้องเรียนลดลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
นราธิวาส - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตรวจดูหน่วยควบคุมผู้ต้องสงสัยความมั่นคง กรมทหารพราน 46 นราฯ ระบุพึงพอใจทหารแก้ปัญหา การร้องเรียนลดฮวบลง

วันนี้ (4 ต.ค.) ศาสตราจารย์ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายกิติ สุระคำแหง ผอ.สำนักงานกฎหมายสิทธิมนุษยชนและเยียวยา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พ.อ.อาทิตย์ อรุณโชติ รอง ผอ.สิทธิมนุษยชนและเยียวยา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และคณะได้เดินทางไปที่กรมทหารพรานที่ 46 ซึ่งตั้งอยู่ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส เพื่อตรวจเยี่ยม/ซักถามหน่วยควบคุมตัว กรมทหารพรานที่ 46 โดยมี พ.อ.เอกธวุฒิ คงคาเขตร ผบ.กรมทหารพรานที่ 46 ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปถึงการเชิญตัวผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง โดยในพื้นที่ จ.นราธิวาส เป็นหน่วยศูนย์หลัก เป็นหน่วยควบคุมตัวที่เจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวผู้ต้องสงสัยเพื่อสอบถามเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องในแต่ละเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกี่ยวข้อง
 
โดยได้นำนโยบาย พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาค แม่ทัพภาพที่ 4 ที่ให้เน้นเรื่องการแก้ปัญหาในพื้นที่ ด้วยสันติวิธี และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และน้อมนำกระแสพระราช “ดำรัส เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ในการแก้ปัญหา การเชิญตัวผู้ต้องสงสัย เจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ในพื้นที่ จ.นราธิวาส แต่ละหน่วยจะเชิญตัวผู้ต้องสงสัยโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก สามารถควบคุมตัวได้ 7 วัน เพื่อนำตัวมาให้แก่หน่วยควบคุมตัว กรมทหารพรานที่ 46
 

 
โดยมีขั้นตอนดำเนินการนำผู้ที่ถูกเชิญตัวมาตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด เพื่อตรวจสอบก่อนเข้ากระบวนการสอบถามในส่วนเกี่ยวข้องต่อการก่อเหตุความไม่สงบ หรือไม่อย่างไร โดยจะแจ้งให้ครอบครัวทราบว่า ทางผู้ต้องสงสัยได้คุมตัวไว้หน่วยคุมตัวที่ไหน โดยบิดา มาราดา หรือญาติสนิทสามารถที่จะติดต่อขอเยี่ยมได้หากต้องการพบตัว และจะมีการเชิญผู้นำศาสนา หรือสักขีพยานในช่วงสอบถามผู้ต้องสงสัย
 
ในส่วนผู้ที่ไม่เก่ง หรือชำนาญภาษาไทย จะมีล่ามทหารพรานพูดภาษายาวี หรือมลายูท้องถิ่น พูดและแปลภาษาให้ เพื่อความเข้าใจในการสอบถาม หรือลำดับเรื่องราว นอกจากนี้ ได้จัดอาหาร 3 มื้อ เป็นอาหารฮาลาล และจัดเตรียมอำนวยความสะดวกในที่ละหมาด เนื่องจากผู้ต้องสงสัยส่วนใหญ่เป็นไทยมุสลิม ซึ่งต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนในจุดดังกล่าว
 
ในการสอบถามจะใช้วิธีการพูดคุยเพื่อไม่ให้ผู้ต้องสงสัยเครียด และจากการซักถามมีหลายคดีผู้ต้องสงสัยให้ความร่วมมือ และให้การเป็นประโยชน์จะนำสู่การตรวจพิสูจน์ทราบ และสามารถยึดอาวุธปืนของทางการกลับมาได้หลายกระบอก รวมถึงผู้ตองสงสัยได้ยอมรับมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการวางระเบิดในพื้นที่ จ.นราธิวาส อีกหลายจุด ซึ่งผู้ที่ยอมรับได้ส่งมอบให้ตำรวจดำเนินการส่งฟ้องตามกฎหมาย ในส่วนผู้ที่สอบถามแล้วไม่เกี่ยวข้อง แม้จะมีอำนาจตามกฎอัยการศึกคุมตัวได้ 7 วัน หากสอบแล้วไม่พบเกี่ยวข้องก็จะทำการปล่อยตัวเป็นอิสระ โดยจะนำผู้ที่จะถูกปล่อยตัว จะให้แพทย์ตรวจร่างกายเสียก่อน เพื่อให้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการซ้อม หรือทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด
 
และได้เชิญญาติพี่น้องให้มารับตัว พร้อมมอบกระเช้าของขวัญเพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน พร้อมออกหนังสือปล่อยตัวอย่างเป็นทางการเพื่อให้สิทธิในการเรียกร้องในเวลาที่เสียไปตามรูปแบบของทางการกำหนด
 

 
จากนั้น พ.อ.เอกธวุฒิ คงคาเขตร ผบ.กรมทหารพรานที่ 46 ได้นำกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะฯ ไปตรวจ และเยี่ยมชมหน่วย หรือศูนย์ควบคุมตัว  ที่อยู่บริเวณด้านข้าง กองบังคับการกรมทหารพรานที่ 46 เพื่อตรวจดูห้องควบคุมซักถาม ห้องครัวอาหารฮาลาล ห้องนอน ห้องน้ำ ที่ใช้สำหรับผู้ต้องสงสัยที่ถูกเชิญตัวบริเวณที่อาคารที่พักญาติ ที่มาเยี่ยมผู้ถูกเชิญตัว ซึ่งสามารถนอนพักแรมในที่พักได้
 
ด้านศาสตราจารย์ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ของคณะสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อมาตรวจเยี่ยมดูสถานที่ควบคุม หรือบุคคลที่ถูกเชิญตัวในคดีที่อ้างถึงเกี่ยวข้องต่อเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งในปี 51 ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนค่อนข้างมาก แต่ในปีหลังๆ โดยเฉพาะปี 58 การร้องเรียนกรณีทารุณกรรมทำร้ายร่างกาย โดยร้องเรียนเป็นฝีมือการกระทำของเจ้าหน้าที่ ปัญหาการร้องเรียนลดลงไปมาก และเมื่อมาดูสถานที่จริงและรวมถึงการสอบถามจ้าหน้าที่หน่วยควบคุมตัวในการเชิญตัวผู้ต้องสงสัย สามารถสร้างความพึ่งพอใจในระดับที่ดีขึ้นมาก เนื่องจากหน่วยทหาร ณ ปัจจุบันได้ปรับวิธีการ ปรับสถานที่โดยคำนึงสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ถูกเชิญตัว และปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกเชิญตัวมนุษยธรรมมากขึ้น ตามที่ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเรียกร้องต่อเนื่องมาหลายปี และดีขึ้นมาก

ในส่วนที่ต้องคำนึงคือ การที่ประเทศไทยได้ลงนามสนธิสัญญานานาชาติเรื่องหลัก คือ ห้ามกระทำทารุณกรรมต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัว หรือผู้ต้องสงสัยและห้ามมีการอุ้มฆ่าอย่างเด็ดขาด ทั้ง 2 เรื่องนี้ต้องไม่มีเด็ดขาด หากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ของทางการสามารถปฏิบัติได้ปัญหาจะคลี่คลาย เพราะทุกคนต้องการซึ่งความสงบสุข และสันติสุขทุกคน ทั้งประชาชน และเจ้าหน้าที่เอง
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น