รายงาน...ศูนย์ข่าวภาคใต้
หลังถูกจำคุกคดีความมั่นคงมา 18 ปี ในที่สุดเมื่อ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา “นายดาโอ๊ะ มะเซ็ง” หรือ “หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ” วัย 58 ปี อดีตแกนนำขบวนการพูโลใหม่ก็ได้รับอิสรภาพ เช่นเดียวกับ “นายสะมะแอ สะอะ” หรือ “หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ” วัย 63 ปี ได้ถูกปล่อยตัวไปก่อนหน้าเมื่อ 17 ก.ค. ซึ่งตรงกับวันฮารีรายอพอดี สร้างความดีใจให้แก่อดีตนักโทษชายในคดีความมั่นคงทั้ง 2 อย่างที่สุด
หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ, หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ รวมถึง หะยีแม บือโต และ หะยีแม อับดุลเราะมาน ทั้ง 4 คนเป็นแกนนำขบวนการพูโล ได้ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงของมาเลเซียจับกุมส่งตัวมาให้ทางการไทยดำเนินคดีเมื่อปี 2540 หรือเมื่อ 18 ปีก่อน แต่ตอนนี้ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสรภาพแล้ว 2 คน
การจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 4 คนในขณะนั้นเป็นไปตามความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับมาเลเซีย ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการค้า 3 ประเทศที่เข้าร่วมเป็นโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ซึ่งพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกกำหนดเป็นพื้นที่การพัฒนาตามโครงการ
แต่เนื่องจากฝั่งไทยยังมีปัญหาการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลอบวางระเบิดทางรถไฟ วางเพลิงสถานที่ราชการ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับโครงการความร่วมมือด้านต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางสายหลักในการเชื่อมการคมนาคมระหว่างไทยกับมาเลเซีย
รัฐบาลไทยที่ในขณะนั้นมี นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้เสนอเงื่อนไขให้รัฐบาลมาเลเซียที่มี นายมหาเธร์ มูฮัมหมัด เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ดำเนินการอะไรบางอย่างเพื่อช่วยแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบภายในไทย ซึ่งในขณะนั้นมีองค์กรก่อการร้ายที่เป็นที่รู้จักในนาม องค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี หรือ พูโล ที่อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุร้ายในพื้นที่
อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จึงตัดสินใจสลายกลุ่มขบวนการกู้ชาติปัตตานี จนเป็นที่มาของการจับกุมแกนนำขบวนการพูโลทั้ง 4 คน ซึ่งเหตุที่ทางการมาเลเซียกดดัน และจับกุมเฉพาะแกนนำพูโล เพราะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทมากที่สุดในขณะนั้น
ทันที่ได้รับอิสรภาพไม่นาน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ออกประกาศแต่งตั้งให้ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ เป็น ผู้ประสานงานด้านเศรษฐกิจและการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคาดว่า หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ ก็คงได้รับบทบาทไม่แตกต่างกัน นั่นคือ ช่วยภาครัฐแก้ไขปัญหาปากท้องของชาวบ้าน
แสดงให้เห็นว่า ศอ.บต.เป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อคืนอิสรภาพให้แก่อดีตแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยคาดหวังว่าอิสรภาพนั้นจะขยายไปสู่สันติภาพของจชายแดนใต้ได้ในอนาคต
แต่ขณะเดียวกันพบว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นองค์กร หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีบทบาทสำคัญ และเป็นจำเลยที่ฝ่ายความมั่นคงมองว่าอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุร้ายนับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 2547 กลับไม่ใช่พูโลอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชน และภาคประชาสังคมในชายแดนใต้ยอมรับว่า การปล่อยตัวอดีตแกนนำพูโลในครั้งนี้มีผลทางจิตวิทยา และส่งผลบวกต่อการแก้ปัญหาไฟใต้ระลอกใหม่ ซึ่งยืดเยื้อเรื้อรังมานับตั้งแต่ปี 2547 หรือจะกล่าวให้ชัดก็คือ นับตั้งแต่ที่ นายหะยีสะมะแอ และหะยีดาโอ๊ะ ถูกจับกุมนั่นเอง
“คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐแล้วว่าจะใช้ประโยชน์จากพวกเขาอย่างไร แต่ภาคประชาชนเชื่อว่า ด้วยองค์ความรู้ และประสบการณ์ รวมทั้งบทเรียนที่หะยีสะมะแอ และหะยีดาโอ๊ะ ประสบมานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะมีประโยชน์ต่อการพัฒนา และการแก้ปัญหาในพื้นที่”
ความพยายามนำผู้ต้องหาทั้ง 4 คนสู่กระบวนการพักโทษ มีหลายฝ่ายมองว่า เป็นเรื่องดีในการที่จะสร้างบรรยากาศการ “พูดคุยสันติสุข” ที่กำลังเดินหน้า การกลับมาหาความร่วมมือของแกนนำเหล่านี้ก่อให้เกิดประโยชน์ของการเสริมสร้างสันติสุขในชายแดนใต้อย่างจริงจัง
แม้ว่าสันติภาพจะมิได้เกิดขึ้นทันทีหลังการพักโทษหะยีสะมะแอ และยะหีดาโอ๊ะ แต่ทว่ากระบวนการคืนอิสรภาพให้แก่อดีตแกนนำพูโลในครั้งนี้มีประเด็นที่รัฐสามารถนำไปสรุปเป็นบทเรียน ประกอบการดำเนินนโยบายสร้างสันติภาพที่ภาครัฐพยายามผลักดันอยู่ในขณะนี้ได้
นั่นคือ ต้องย้อนกลับไปทบทวน “หัวใจ” ที่ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ จนเป็นผลให้ทางการมาเลเซียยินยอมส่งตัวอดีตแกนนำขบวนการพูโลให้แก่ไทย
หัวใจหลักของความร่วมมือในครั้งนั้นคือ เพื่อขจัดอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจตามกรอบการพัฒนาโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ IMT-GT ซึ่งทางการมาเลเซียจับกุมแกนนำขบวนการพูโลทั้ง 4 คนในขณะนั้นก็เพราะคาดหวังว่า เพื่อให้ทางการไทยนำบุคคลเหล่านี้มาร่วมสร้างกระบวนการสันติสุข และให้เกิดความสงบสุขในชายแดนใต้อย่างแท้จริง
มากกว่าที่จะนำบุคคลเหล่านี้ “เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” ซึ่งไม่ใช่เหตุผลหลักในขณะนั้น แต่ทางการไทยกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม และเพิ่งมาทำตามวัตถุประสงค์นั้นเมื่อไม่นานนี้เอง
ย้อนกลับไปเมื่อห้วงเวลานั้นอีกครั้ง สิ่งที่ตามมาหลังจากการดำเนินคดีต่ออดีตแกนนำขบวนการพูโล ก็คือ ได้เกิดการลอบยิงเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และลอบวางเพลิงในพื้นที่หนักยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ มีกลุ่มขบวนการใหม่เกิดขึ้น จนสื่อมวลชนเรียกเหตุการณ์ความไม่สงบในยุคนั้นว่า...
“ยุคใบไม้ร่วง” เนื่องจากมีการลอบยิงเจ้าหน้าที่ตายทุกวันราวใบไม้ร่วง!
เป็นเหตุให้รัฐต้องยุบป้อมตำรวจในชายแดนใต้หลายแห่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียของเจ้าหน้าที่ และกำลังพล และกลุ่มก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นใหม่ในเวลานั้นก็ได้สร้างความไม่สงบให้แก่พื้นที่ต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้
การที่รัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอของกลุ่ม “มารา ปัตตานี” ที่เรียกร้องไม่ให้รัฐดำเนินคดีต่อสมาชิกของขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการตอบโต้ด้วยการก่อวินาศกรรมคุกคามชีวิตผู้บริสุทธิ์ทันทีทันใดเช่นกันนั้น
ผู้สันทัดกรณีในพื้นที่ฟันธงว่า เป็นผลมาจากที่กลุ่มก่อความไม่สงบมองว่าความจริงใจของภาครัฐต่อกระบวนการสร้างสันติสุขในยุคสมัยนี้ อาจจะเป็นเพียงการ “แสร้งทำ” ซึ่งไม่มีอะไรแตกต่างกันเลยกับเมื่อ 18 ปีก่อน
การปล่อยตัวจากเรือนจำด้วยมาตรการพักโทษ 2 แกนนำพูโล จึงแทบจะไม่มีผลอันใดเลยต่อสถานการณ์ความไม่สงบ ตราบใดที่ภาครัฐปฏิเสธข้อเสนอของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่เคยถูกปฏิเสธมาแล้วเมื่อ 18 ปีก่อนเช่นเดียวกันนั่นเอง