xs
xsm
sm
md
lg

“เสือ ดอนคัน” 1 ใน 5 กวีชาวนาแห่งลุ่มทะเลสาบ ต้นแบบกลอนหนังตะลุงช่วงก่อนกึ่งพุทธกาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
เรื่อง  :  ประมวล  มณีโรจน์
ภาพ  :  อินเทอร์เน็ต
 
 
“เสือ ดอนคัน” เป็นนามปากกาของ “เสือ ชำนาญภักดี” เกิดเมื่อเมื่อต้นทศวรรษ 2420 ที่บ้านดอนมดคัน (ปัจจุบันคือ บ้านดอนคัน ต.คูขุด อ.สะทิงพระ จ.สงขลา) เป็นบุตรของนายแก้ว-นางเกื้อ มีพี่น้องร่วมท้อง 7 คนคือ นางขุ้ม นางสุ้น นางสุ่น นางดำ นางพิม นายเสือ และ นายแมว
 
เป็น 1 ใน 5 กวีชาวนาแห่งลุ่มทะเลสาบในช่วงก่อนกึ่งพุทธกาล (เสือ ดอนคัน, ปานบอด, แดง นักปราชญ์, ทอง หนองถ้วย, หนูแก้ว นครจันทร์) และเป็น 1 ในกวีต้นแบบของกลอนหนังตะลุงในช่วงรอยต่อระหว่างกึ่งพุทธกาล ซึ่งเป็นยุคทองของหนังตะลุ 
 
เป็นเด็กวัด และเรียนอ่านเขียนกับ “พ่อท่านชู” ในยุคที่พ่อท่านชูตั้งสำนักเรียนหนังสือไทยอยู่ที่วัดดอนคันออก (สุคันธาวาส) บวชเรียนที่วัดจะทิ้งพระ ในยุคที่พ่อท่านชูเป็นเจ้าอาวาส เป็นศิษย์เอกทางวิชาหนังสือ และวิชาการประพันธ์ของพ่อท่านชู หรือ พระครูวิจารณ์ศีลคุณ-กวีพระคนสำคัญของลุ่มทะเลสาบในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 25
 
แต่งงานอยู่กินกับนางช้อง ชาวบ้านพรวน เร่ร่อนไปกับคณะหนังตะลุง ไม่มีการงาน และที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่งนิยายประโลมโลกเร่ขาย แต่งเรื่องสำหรับคณะหนังตะลุง รับจ้างสวดหนังสือตามงานวัด ต้นทศวรรษ 2490 เจ้าอาวาสวัดแจ้ง (อ.เมือง จ.สงขลา) ให้คนมารับสองผัวเมียไปอุปการะ บั้นปลายชีวิตพำนักอยู่ที่วัดแจ้ง และโรงพิมพ์สมบูรณ์โอสถ (165 ถนนนครใน เมืองสงขลา) กระทั่งเสียชีวิตเมื่อต้นทศวรรษ 2500
 
ผลงานซึ่งเรียกกันในสมัยนั้นว่า “นิยายหนังตะลุง” เช่น กลิ่นกรอบแก้ว นางในนก-นกในนาง ลอยวาริน-สินสุบรรณ กำเนิดมนุษย์และแม่โพสพ เป็นต้น แต่ละเรื่องจะพิมพ์เป็นหนังสือพ็อกเกตบุ๊กเย็บกลาง เล่มละ 30-50 หน้า แต่ละเรื่องจะเขียนและพิมพ์ติดต่อกัน 20-40 เล่ม โดยเฉพาะกลิ่นกรอบแก้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้จักกันแพร่หลาย ตีพิมพ์ซ้ำไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง (พิมพ์ครั้งแรกปี 2481 โดยนายยู่เลี่ยง ตั่นปิชาติ โรงพิมพ์ไทยประดิษฐ์ จำหน่ายที่ร้านขายยาบ้วนเฮง ถนนนครใน สงขลา ราคาเล่มละ 15 สตางค์)
 
นามปากกา : เสือ ดอนคัน ส.ชำนาญภักดี มีตราประจำตัวเป็นเสือมีปีกกำลังกระโจนพร้อมกางปีกบิน


เจอภาพการรณรงค์ระหว่างเสือกับควายในอินเทอร์เน็ต คิดถึงฉากประลองเขาเขี้ยวระหว่างเสือกับควายใน “กลิ่นกรอบแก้ว” (ควรอ่านเป็นทำนองหนังตะลุง หากมีโหม่ง และฉิ่งคอยตีรับด้วยจะได้รสชาติเป็นอย่างยิ่ง)
 
** มองเขม้นเห็นเสือสู้กับควาย เข้าบังไม้ซ่อนมองสองสัตว์เถื่อน เสือคำรามรณร้องก้องสะเทือน โดดเขยื้อนจวนจบเข้าขบควาย
 
** สองเท้าตบขบขย้ำปล้ำขยับ ควายฟันรับเสือกระเด็นเขม้นหมาย พยัคฆาอ้าปากอยากตับควาย ควายขยายเอาท่าเสือตะครุบ
 
** มะหิงสาราเขาฟันเข้าตา พยัคฆาร้องอากปากไม่หุบ วิ่งเข้ากัดโครงซ้ายควายล้มฟุบ ควายพลิกปุบโถมฟันกระชั้นชิด
 
** เสือยิ่งแสนพิโรธกระโดดขบ ควายหลีกหลบแคล่วคล่องสองเขาขวิด เสือถูกเขาควายถูกเขี้ยวเชี่ยวชาญชิด ดูโลหิตร่วงโรยลงโปรยปรอย
 
** เสือก็เยื้องควายก็ยั้งทั้งสองข้าง ควายวิ่งวางกลับหลังกำลังถอย ถูกเขี้ยวเล็บเจ็บระยับไม่นับรอย แล้วควายค่อยกระโดดขวิดติดลูกตา
 
** เสือขยำปล้ำขบตบท้องควาย กระชากไส้เครื่องในเลือดไหลฉา เสือก็ปล้ำไม่หลุดสุดเจ็บตา พยัคฆากับควายตายพร้อมกัน
 
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น