นครศรีธรรมราช - สภาเกษตรกรนครศรีฯ ระดมชาวสวนปาล์มร่วมกิจกรรมอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์ม ก่อนการประกาศชุมนุมของชาวสวนเพียง 1 วัน หลายคนตั้งข้อสังเกตอาจเป็นการลดทอนมวลชนการชุมนุม
วันนี้ (14 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครศรีธรรมราช ว่า กิจกรรมการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันทั้งระบบที่ถูกจัดขึ้นโดยสภาเกษตรกร จ.นครศรีธรรมราช และได้ใช้ห้องประชุมโรงแรมราวดี ต.ปากพูน อ.เมืองนครศรีธรรมราช เป็นสถานที่จัดกิจกรรม ซึ่งมีเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่เป็นเครือข่ายสมาชิกสภาเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรใน จ.นครศรีธรรมราช และใกล้เคียงกว่า 300 คน เข้าร่วมการอบรม
โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า มีนายสมาน แสงสอาด รองผู้ว่าราชการ จ.นครศรีธรรมราช เข้าเป็นประธานในการอบรม และกิจกรรมนี้ถูกจัดขึ้นก่อนการเริ่มชุมนุมของสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันนครศรีธรรมราช ที่ได้แจ้งไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราชเพียง 1 วันเท่านั้น
ขณะที่กิจกรรมการอบรมนั้นได้เน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันของเครือข่ายเกษตรกร คุณภาพของปาล์มน้ำมัน รวมทั้งแนวโน้มของการจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มใน จ.นครศรีธรรมราช เพิ่มเติม โดยไม่มีการพูดถึงราคาผลผลิตปาล์มสดที่กำลังตกต่ำเช่นที่มีการเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น มีการเชิญนักวิชาการจาก ม.วลัยลักษณ์ และนักวิชาการจาก ม.สงขลานครินทร์ เป็นวิทยากรหลักในการอบรม
ส่วน นายประทีป กลีบแก้ว ประธานสภาเกษตรกรนครศรีธรรมราช ระบุว่า การอบรมนี้ถูกกำหนดมาก่อนแล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องต่อการชุมนุมที่จะมีขึ้น ส่วนเกษตรกรที่จะเข้าร่วมการชุมนุมนั้นเป็นสิทธิของแต่ละคน
ประธานสภาเกษตรกรนครศรีธรรมราช ยังระบุด้วยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติ อนุมัติงบประมาณ 200,000 บาท ให้จัดการอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีใหม่ และการบริหารจัดการสวนแก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งระบบ สร้างเครือข่ายเกษตรกรสวนปาล์มน้ำมันให้เข้มแข็ง พร้อมรับการแข่งขันเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติ ต้องการพัฒนาเกษตรกร และองค์กรเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ยืนอยู่บนขาตนเองได้ สภาเกษตรกรจึงได้จัดอบรมให้ความรู้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ ให้แก่เกษตรกร องค์กรเกษตรกร และผู้สนใจ
“อีกไม่นานจะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงปลายปีนี้ ต่อไปจะมีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรี ถ้าเกษตรกรไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาผลผลิตปาล์มน้ำมันให้มีคุณภาพ จะประสบปัญหาอย่างแน่นอน ขณะที่ประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีผลผลิตปาล์มจำนวนมาก โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ปาล์มพันธุ์ดี ปลูกในสวนขนาดใหญ่ ทำให้มีต้นทุนการผลิตต่ำ” นายประทีป กล่าว