xs
xsm
sm
md
lg

ตรังพัฒนาสินค้า OTOP เพิ่มขีดความสามารถเพื่อการแข่งขันส่งออกที่ดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - สำนักงานอุตสาหกรรมและพาณิชย์จังหวัดตรัง เดินหน้าพัฒนาสินค้า OTOP เพื่อเพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อการส่งออกที่ดีขึ้น

วันนี้ (13 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเดชา เกื้อกูล อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง กล่าวว่า โดยภาพรวมปัญหาของสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะปัญหาด้านการผลิต ปัญหาด้านบรรจุภัณฑ์ และปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากสินค้า OTOP ไม่มีการพัฒนารูปแบบของบรรจุภัณฑ์ และช่องทางการจำหน่ายที่ยังมีจำกัด

ดังนั้น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ตามแผนพัฒนาจังหวัดตรัง ประจำปี 2558 โดยดำเนินการใน 2 กิจกรรม คือ การพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการผู้ผลิตชุมชน และวิสาหกิจชุมชนประเภทอาหาร จำนวน 10 กลุ่ม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย เพื่อมอบใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) รวมจำนวน 16 ราย 23 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ก็เพื่อยกระดับผลผลิตภัณฑ์โอทอปของจังหวัดตรังให้มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในตลาดทั้งใน และต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างโอกาสชี้นำในเรื่องราคา

นายอาวุธ วงษ์สวัสดิ์ พาณิชย์จังหวัดตรัง กล่าวว่า ตามที่กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายในการสนับสนุน และพัฒนางานศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของสินค้า และการผลิตสินค้าโดยใช้ทรัพยากร และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่ม ผนวกกับองค์ความรู้สมัยใหม่ เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าและบริการ การเข้าถึงแหล่งทุน และการตลาดเชิงรุกทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยได้กำหนดแผนงานการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ภายใต้ชื่อว่า “นวัตกรรมการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน” (MOC Blueprint for Innovative Marketing Community Products 2014-2018) มีเป้าประสงค์เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งดำเนินการโดยส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค

สำหรับจังหวัดตรัง ได้จัดทำโครงการพัฒนาเพิ่มมูลค่าสินค้า OTOP ภาคใต้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องจักสาน จำนวน 200 คน ทั้งนี้ การส่งเสริมการตลาด และการพัฒนาผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ ประกอบไปด้วยกลยุทธ์ 5 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาผู้ประกอบการในด้านบริหารธุรกิจ (Smart Traders) ด้านการพัฒนาเพิ่มมูลค่ายกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (Product Cluster & Value added) ด้านการพัฒนาช่องทางการตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ (Marketing Channels) ด้านการขยายตลาดเดิมเพิ่มตลาดใหม่ (Marketing Approaches) และด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ (Public Relation & Advertising) เพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพทางการตลาด และส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าจากภูมิปัญญาไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล ยกระดับมูลค่าสินค้าและบริการ เพิ่มมูลค่าทางการค้าและขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน ตลอดจนกระตุ้นตลาดของผลิตภัณฑ์ชุมชน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น