โดย..อภิญญา ศรีเปารยะ
(หมายเหตุกองบรรณาธิการ : อภิญญา ศรีเปารยะ พื้นเพเป็นชาว อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเยอรมนี ทำงานเป็นล่าม และนักสังคมสงเคราะห์ มีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม และได้แปลงานวิจัยรวมถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แลกเปลี่ยนกับนักพัฒนาเอกชน และนักวิชาการในประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ)
(บทความชิ้นนี้ผู้เขียนย่อ และแปลมาจากข้อเขียนของ David Robinson Simon ทนายความจากลอสแองเจลิส ผู้สนับสนุนแนวคิดการบริโภคที่ยั่งยืน)
บทความนี้เน้นถึงฟาร์มเลี้ยงปลาเทราท์ และปลาแซลมอน แต่เห็นว่าสภาพความจริงของการเลี้ยงปลา หรือสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ก็คงไม่ต่างจากนี้มากนัก จึงนำมาฝากกันค่ะ อีกประการหนึ่ง เคยได้ยินคนไทยบอกว่า ปลาแซลมอนที่มีขายในเมืองไทยมาจากญี่ปุ่น.. แต่ค้นหาเท่าไหร่ ก็พบเพียงข้อมูลที่บอกว่า ญี่ปุ่นนำเข้าแซลมอนจากนอร์เวย์..ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาจากฟาร์ม ... ถ้าใครมีข้อมูลต่างจากนี้ ก็กระซิบกันได้นะคะ..
1.ปลาจากฟาร์มเลี้ยง กับความน่าสงสัยในแง่โภชนาการ ปลาจากธรรมชาติได้รับกรดไขมัน Omega-3 จากพืชน้ำ ในขณะที่ปลาจากฟาร์มถูกเลี้ยงด้วยข้าวโพด ถั่วเหลือง หรืออาหารสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เพียงน้อยนิด หรือไม่มีเลย..นั่นหมายความว่า นอกจากปลาจะไม่ได้รับอาหารที่ถูกต้องตามธรรมชาติแล้ว ปลายังดูดซับกรดไขมันที่ไม่ถูกกต้องไว้อีกด้วย (ข้าวโพด ถั่วเหลือง Omega-6) และการใช้ยาปฏิชีวนะกับปลาเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ..นำไปสู่ภาวะทนต่อยาปฏิชีวนะในมนุษย์
2.อุตสาหกรรมฟาร์มปลา ปล้นนายเอ โดยโยนความเสียหายให้นายบี ในขณะที่ปลาจากฟาร์มบางชนิดมีชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหารปลา เช่น ข้าวโพด หรือถั่วเหลือง ปลาบางชนิด เช่น ทูน่า และแซลมอน กลับมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินปลาอื่นๆ เป็นอาหาร..ปลาซึ่งใช้เป็นเหยื่อ เช่น ปลาซาร์ดีนหรือเฮริง จึงถูกกวาดต้อนเพื่อใช้เป็นอาหารปลาใหญ่ที่เลี้ยงไว้ในฟาร์มจนเกือบเกลี้ยงทะเล...อุตสาหกรรมฟาร์มปลาจึงเป็นต้นเหตุการลดจำนวนของวาฬ โลมา แมวน้ำ สิงโตทะเล ทูน่า ปลาสกุลปลากะพง เซลมอน นกอัลบาทรอส เพนกวิน และสัตว์กินปลาอื่นๆ
3.ปลาก็เจ็บ และเครียดเป็น คนตกปลาเป็นเกมกีฬามักเชื่อว่าปลาเป็นสัตว์ที่ไม่รู้จักความเจ็บปวดและความเครียด จากผลการศึกษาโดยการเฝ้าดูพฤติกรรมการว่ายน้ำของปลาหลังจากการฉีดพิษผึ้ง ปรากฏว่า ปลาลดเวลาการว่ายน้ำลง และใช้เวลากินอาหารนานกว่าปกติถึงสามเท่า หายใจถี่ขึ้น ปลาในฟาร์มถูกเลี้ยงอย่างแออัดยัดเยียดในพื้นที่จำกัด ทำให้ปลาเกิดความเครียดตลอดเวลา การฆ่าโดยการทำให้ปลาตายอย่างช้าๆ เช่น การทำให้ปลาขาดอากาศหายใจ ทำให้ปลาเจ็บปวด และทรมาน -ข้อนี้ผู้แปลงค่อนข้างงง..ให้เกิดคำถามว่า วิธีการฆ่าปลาจากธรรมชาติและจากฟาร์มแตกต่างกันอย่างนั้นหรือ??
4.ปลาในฟาร์มเลี้ยงส่วนใหญ่มักป่วย และมีเชื้อโรค ซึ่งแพร่กระจายสู่ปลาธรรมชาติ ตัวอย่าง..ปลาเทราท์ ที่โตเต็มที่แล้ว จะถูกกักขังรวมกันในพื้นที่กว้างประมาณอ่างอาบน้ำ เป็นจำนวนถึง 28 ตัว เงื่อนไขที่ผิดแผกไปจากธรรมชาติเช่นนี้ทำให้ปลาป่วยง่าย และปรสิตจะแพร่กระจายออกจากฟาร์มสู่ปลาธรรมชาติอื่นๆ ทำให้ปลา และสัตว์กินปลาอื่นๆ ติดโรค เช่น นกอินทรี หมี วาฬออร์กา ตัวอย่างกรณีเห็บปลาระบาดบริเวณชายฝั่งแปซิฟิกของแคนาดา ทำให้ปลาแซลมอนท้องถิ่นตายไปถึง 80 เปอร์เซ็นต์..
5.การใช้สารเคมี และยาปฏิชีวนะในฟาร์มปลา เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศในท้องถิ่น ผลการศึกษาพบว่า สารเคมี และยาที่ใช้ต่อสู้กับเห็บปลา เป็นตัวทำลายสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ เป็นจำนวนมาก
6.ปลาในฟาร์มเลี้ยง อาศัยอยู่ในน้ำที่มีของเสียจากการขับถ่ายของตัวเอง ของเสียส่วนหนึ่งตกตะกอนลงสู่ท้องทะเล และเมื่อสั่งสมในปริมาณที่มากขึ้นก็จะเกิดเป็นมลพิษ ทำลายสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ของเสียเหล่านี้ยังเป็นตัวเร่งการเจริญเติบโตของสาหร่าย ซึ่งทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง
7.ปัญหาปลาหนีจากฟาร์ม เฉพาะในแอตแลนติกเหนือ มีปลาแซลมอนหนีออกจากฟาร์มในแต่ละปีถึง 2 ล้านตัว..ทำให้ปลาธรรมชาติมีปลาเลี้ยงจากฟาร์มปะปนอยู่ถึง 20% และเมื่อปลาจากฟาร์มผสมพันธุ์กับปลาในธรรมชาติ ยีนพูลของปลาธรรมชาติจะเปลี่ยนแปลงไป ปลาลูกผสมจะมีโอกาสรอด และเติบโตได้น้อยกว่าปลาจากธรรมชาติมาก และอายุสั้นกว่ามาก ทำให้ปริมาณปลาลดลง ซึ่งมีผลกระทบต่อประชากรของสัตว์กินปลาอื่นๆ เช่น หมี วาฬออร์กา
8.ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของ Jevons Paradox (Jevons Paradox) กล่าวว่า..ยิ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการใช้วัตถุดิบมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่าใด วัตถุดิบก็จะยิ่งถูกนำมาใช้มากขึ้นเท่านั้น.. (แทนที่จะลดลง) ในทำนองเดียวกัน การผลิตปลาจากการเพาะเลี้ยงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ได้ปลามากขึ้น ง่ายขึ้น และทำให้ราคาปลาถูกลงยิ่งขึ้นเท่าใด... ความต้องการของตลาดยิ่งเพิ่มขึ้น.. ทำให้ต้องจับปลามากขึ้น... ซึ่งเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่ปลาธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น.. ตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่ฟักไข่ปลาแซลมอนในช่วงปี 1987-1999 ส่งผลให้ปลาเซลมอนราคาต่ำลง และหาซื้อง่ายขึ้น ทำให้ความต้องการปลาทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่าตัว สรุป : การเลี้ยงปลากลับกลายเป็นการสร้างแรงกดดันให้มีการจับปลาจากธรรมชาติมากขึ้น ทั้งๆ ที่มีปริมาณน้อยอยู่แล้ว
9.ถ้าหากรวมพิจารณาถึงความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม จะพบว่า การเลี้ยงปลามีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ เช่น ผลการศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลสวีเดน สรุปว่าขาดความยั่งยืนทั้งทางระบบนิเวศ และเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับการเลี้ยงปลาในทะเลสาบจีน กล่าวโดยสรุป การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทำให้เกิดความเสียหายทางนิเวศอย่างรุนแรง ซึ่งสังคมจะต้องสูญเสียเงินจำนวนมากมายเพื่อรักษาเยียวยา..เช่น บริษัทหนึ่งในสหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายซ่อนอยู่ในส่วนนี้ถึงประมาณ 700 US $ ต่อปี - หรือครึ่งหนึ่งของมูลค่าผลผลิตของฟาร์มปลาทั้งหมด
อ่านข้อความนี้แล้ว..มาปกป้อง ดูแลทะเลบ้านเรากันเถอะค่ะ...