xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายต้าน “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” เดินหน้าให้ความรู้ สร้างพลังชุมชนปกป้องสิทธิตนเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จัดเวทีให้ความรู้ผลกระทบถ่านหินจากพื้นที่ต่างๆ พร้อมเรียกร้องให้ ปชช.ในพื้นที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะชาวเทพาคือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

วันนี้ (8 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตลาดแขก อ.เทพา จ.สงขลา เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จัดเวทีให้ความรู้ผลกระทบของถ่านหิน โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมเวทีประมาณ 200 คน ด้านนายดิเรก เหมนคร แกนนำเครือข่ายฯ กล่าวว่า การจัดเวทีให้ความรู้กรณีผลกระทบของถ่านหินเป็นเวทีที่จัดขึ้นปกติ โดยทางเครือข่ายจะตระเวนจัดตามที่มีผู้สนใจเรียกร้องให้จัด เวทีเริ่มประมาณ 13.00-17.00 น. โดยจะมีผู้รู้มานำเสนอข้อมูลผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินจากพื้นที่ต่างๆ ทั้งแม่เมาะ จ.ลำปาง และที่ระยอง มีสารคดีแม่เมาะให้ดูด้วย

นายดิเรก กล่าวอีกว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องพูดความจริงกรณีผลกระทบจากถ่านหิน เพราะ ตัวอย่างที่สื่อมวลชนนำเสนอให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งกรณีแม่เมาะ และจากระยอง มีความชัดเจนว่า ไฟฟ้าถ่านหินมีผลกระทบ จะมาให้ข้อมูลเท็จแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว เพราะคนเทพาติดตามข้อมูลจากสื่อแทบทุกสำนักจึงได้รับรู้ว่าผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นรุนแรงอันตรายอย่างยิ่ง
 

 
ด้าน นายตอเลบ มุแซะ กล่าวว่า ในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา ถูกกำหนดให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 2000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการที่กีดกันการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่มาโดยตลอด การจัดเวที ค3 ที่ผ่านมา ก็ห้ามคนที่มีความคิดเห็นต่างเข้าร่วมเวที ทำให้คนในพื้นที่มีความรู้สึกว่าถูกบังคับ และให้จำยอมเพื่อเปิดทางให้มีการก่อสร้างโครงการฯให้ได้ แต่คนพื้นที่ไม่ยอมเพราะ คนในพื้นที่รับรู้ว่าผลกระทบนั้นรุนแรง และหากเกิดผลกระทบแล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

นายตอเลบ กล่าวอีกว่า ผู้ที่ต้องการสร้างอ้างถึงความจำเป็นต่อความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งจากการตรวจสอบเนื้อหาของแผนฯ ฉบับนี้ ทำให้พบความไม่ชอบมาพากลหลายประการ ที่สำคัญคือ แผนพีดีพี 2015 จะนำไปสู่การลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เกินความจำเป็น เป็นการลงทุนที่ไม่เกิดประโยชน์ กลายเป็นภาระทางการเงินของผู้บริโภคในระยะยาวคิดเป็นเงินกว่า 6.7 แสนล้านบาท และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก็อยู่ในแผนดังกล่าวด้วย ดังนั้น สิ่งที่คนเทพาเรียกร้องคือ กระบวนการที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ใช้ในการวางแผน และตรวจสอบการวางแผนได้อย่างโปร่งใส เพราะคนเทพาคือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เวทีที่จัดขึ้นในวันนี้จะมีเนื้อหาเหล่านี้
 

 

กำลังโหลดความคิดเห็น