สตูล - ชาวประมงสตูลนับร้อยรวมตัวหน้าศาลากลาง ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ วอนเข้าเยียวยาก่อนทำการรื้อถอนโพงพางดีเดย์ 17 ก.ย.นี้
วันนี้ (7 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวประมงโพงพางในพื้นที่ จ.สตูล นับร้อยคนเดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณศาลากลางจังหวัด เพื่อนำหนังสือส่งผ่านตัวแทนเข้าเรียกร้องถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้ช่วยเหลือหลังมีการออกประกาศจากจังหวัด “ให้รื้อถอนเครื่องมือทำการประมงผิดกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือโพงพาง” โดยให้ผู้ครอบครอบเครื่องมือทำการประมงผิดกฎหมายดำเนินการรื้อถอนภายในวันที่ 16 กันยายนนี้
หลังจากนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่จะเข้าดำเนินการรื้อถอน และทำลายเครื่องมือดังกล่าว รวมทั้งดำเนินคดีต่อผู้ฝ่าฝืน ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายเหลด เมงไซ อายุ 46 ปี ตัวแทนชาวประมงโพงพาง บอกว่า วันนี้อยากให้รัฐบาลลงมาช่วยเหลือพวกตนบ้าง พวกตนรู้ว่าได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำไมไม่มีทางออกให้พวกตนบ้าง เพราะแต่ละคนก็มีความสามารถไม่เท่ากัน วันนี้หากมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสักชุด เข้ามาดูแลเยียวยาพวกตนบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้พวกตนเคว้งคว้าง ปฏิบัติต่อพวกตนอย่างกับเป็นคนร้ายอาชญากร โดยวันนี้ต้องการให้จังหวัด รัฐบาลออกมาเหลียวแลพวกตนเท่านั้น
หลังเดินทางยื่นหนังสือของเรียกร้องให้ นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้แนะนำตัวแทนกลุ่มประมงโพงพางถึงทิศทางที่ต้องการให้เยียวยาว่า ต้องการความช่วยเหลือในทิศทางไหน ซึ่งหากกลุ่มโพงพางแต่ละพื้นที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างไร ได้บทสรุปให้นำมาเสนอเพื่อเข้าที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือต่อไป
แต่ถึงอย่างไรทางจังหวัดคงต้องเดินหน้ารื้อถอนเครื่องมือทำประมงผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือโพงพาง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 24/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมเพิ่มเติม ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2558 กำหนดมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้เครื่องมือโพงพาง รั้วไซมาน หรือกั้นซู่รั่วไซมาน เครื่องมือลี่ หรือเครื่องมืออื่นที่มีลักษณะ และวิธีคล้ายคลึงกัน และตามคำสั่งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย
สำหรับการทำประมงโพงพางในพื้นที่ จ.สตูล พบเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศที่มีการทำประมงประเภทโพงพาง โดยลำดับที่ 1 เป็นของ จ.สงขลา ตามมาด้วย จ.จันทบุรี โดย จ.สตูล มีการทำประมงโพงพาง จำนวน 1,804 ปาก 326 ราย มีการทำกันมากในพื้นที่ อ.เมืองสตูล รองลงมาคือ อ.ท่าแพ อ.ทุ่งหว่า และ อ.ละงู