นราธิวาส - เกษตรกรนราฯ ร่วมประชาสัมพันธ์จัดงาน “ผลไม้ดี ผลไม้หรอย ต้องนราธิวาส” ส่งเสริมผลิตภัณฑ์คุณภาพของชาวสวนผลไม้ มุ่งพืชผลเศรษฐกิจของจังหวัด
วันนี้ (4 ก.ย.) นายณัฐพงศ์ ศฺริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย นายสิทธิชัย ศักดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายอำนวย ฤทธิชัย เกษตรจังหวัดนราธิวาส และนายสังวร ยี่รัญศิริ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส ร่วมแถลงข่าวประชาสัมพันธ์ผลไม้คุณภาพ 1 อำเภอ 1 ศูนย์การเรียนรู้ 1 ผลิตภัณฑ์เด่น ภายใต้แนวคิด “ผลไม้ดี ผลไม้หรอย ต้องนราธิวาส”
ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส โดยภายในงานหัวหน้าส่วนราชการ เกษตรกร ตลอดจนนักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม ภายในกิจกรรมมีการจัดแสดงผลไม้ การแข่งขันกินเงาะ และการจัดแสดงนิทรรศการ เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบ world café หรือตลาดความรู้ จำนวน 15 ซุ้ม เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอศรีสาคร ผลงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนหมอนทอง
นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวขณะแถลงว่า จ.นราธิวาส ถือเป็นจังหวัดที่มีความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีเนื้อที่ปลูกไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ เงาะ มังคุด ลองกอง และทุเรียน รวม 140,019 ไร่ และเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตแล้ว 134,591 ไร่ ถือเป็นแหล่งผลิตผลไม้คุณภาพแห่งหนึ่งของประเทศ
ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตร จ.นราธิวาส ได้ส่งเสริมการผลิตผลไม้ตามหลัก GAP ซึ่งเกษตรกรเองได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องคุณภาพ เน้นความปลอดภัยไร้สารพิษ ขณะเดียวกัน หลังจากนี้ จ.นราธิวาส เตรียมส่งเสริมการเพาะปลูกที่ตัวบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อสร้างสัญลักษณ์ที่สามารถบ่งบอกว่าเป็นสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้น เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียง และมีคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ เช่น มังคุดอร่อยต้องที่แว้ง ทุเรียนที่เจาะไอร้อง ลองกองที่ตันหยงมัส เงาะต้องที่สุคิริน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผลผลิตที่มีชื่อเสียงไหลไปในพื้นที่อื่น อีกทั้งถือเป็นการสร้างมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรกร
อย่างไรก็ตาม สำหรับฤดูผลไม้ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า ในช่วงต้นนี้สำหรับทุเรียนถือว่าในปีนี้ประสบความสำเร็จ โดยกลุ่มพ่อค้าคนกลางได้เข้ามารับซื้อในพื้นที่ทั้งหมด ส่วนเงาะ มังคุด มีการจัดตั้งศูนย์คัดแยกผลไม้กระจายใน 13 อำเภอ เพื่อแก้ปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำไว้แล้ว
อีกทั้งมีการส่งเสริมให้นำไปขายให้แก่พ่อค้าคนกลางที่ตลาดกลางการเกษตรจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ส่วนลองกอง ในปีนี้คาดว่าน่าจะมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง จึงคาดว่าน่าจะมีราคาดีสำหรับกลุ่มเกษตรกรลองกอง แต่ทั้งนี้ ได้ย้ำต่อกลุ่มเกษตรกรว่า จะต้องดูแลพัฒนาคุณภาพผลผลิตของตนเองด้วย เพื่อให้ตรงต่อความต้องการท้องตลาด โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่เน้นคุณภาพเป็นหลัก