xs
xsm
sm
md
lg

“สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์” ตำนานผู้สร้างทักษิณคดี รับรางวัลชูเกียรติอุทกะพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ภาคเอกชน มอบรางวัลชูเกียรติอุทกะพันธุ์ แก่ ศ.สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ประธานอำนวยการจัดทำสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันทักษิณคดีศึกษา และพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา

วานนี้ (26 ส.ค.) ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา หน่วยงานภาคเอกชน ได้จัดงานประกาศผล และมอบรางวัล “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” ครั้งที่ 12 ประจำปี 2558 เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่คุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ และเพื่อเชิดชูบุคคล หรือหน่วยงานที่เป็นแบบอย่างของการทำงานสร้างสรรค์เพื่อสังคม

สำหรับบุคคลที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ได้แก่ ศ.สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ภูมิลำเนา อ.ระโนด จ.สงขลา มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เช่น เป็นผู้ริเริ่ม และเป็นประธานอำนวยการจัดทำสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ร่วมกับนักวิชา 211 คน พิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.2529 (1 ชุด มี 10 เล่ม) ถือเป็นสารานุกรมวัฒนธรรมไทยชุดแรกของประเทศไทย และของเอเชีย ต่อมา ได้เป็นประธานอำนวยการจัดทำสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ฉบับปี พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากฉบับปี พ.ศ. 2529 มีการเพิ่มเติมเนื้อหาเป็นจำนวนมาก ทำให้สารานุกรมชุดนี้มีจำนวนถึง 18 เล่ม ความยาว 9,076 หน้า นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันทักษิณคดีศึกษา และพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา ในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา เมื่อปี พ.ศ.2519 จนได้รับการยกฐานะเป็นหน่วยงานราชการระดับสถาบัน เมื่อปี พ.ศ.2523 ก่อนจะย้ายมาก่อสร้างที่เกาะยอ ในปี 2530 โดยเป็นผู้นำในการจัดหาสถานที่ก่อสร้างร่วมกับประชาชน เพื่อรวบรวมประวัติศาสตร์ของชาวใต้ ปัจจุบันสถาบันทักษิณคดีศึกษ าและพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา เป็นสถานที่แห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการทั้งใน และต่างประเทศ
 

 
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ ตัวแทนคณะกรรมการตัดสินรางวัลชูเกียรติอุทกะพันธ์ กล่าวว่า “เกณฑ์การตัดสินที่สำคัญคือ เราเลือกกลุ่มคนที่บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนร่วม และในปีนี้ก็มีผู้ที่เข้าข่ายเป็นจำนวนมาก กรรมการเห็นพ้องต้องกันว่า เป็น ศ.สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ที่มีความโดดเด่นที่สุด ทั้งชีวิตประวัติ การเรียนที่ต้องต่อสู้ชีวิตอย่างหนัก แล้วยังเป็นแบบอย่างที่เยี่ยมยอดของวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เนื่องจากสามารถที่จะสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนที่สุด เพราะความรู้ในพื้นถิ่นของภาคใต้มีคุณค่ามากมายทีเดียว ชีวิตวัฒนธรรมของผู้คน ไม่ว่าเครื่องไม้เครื่องมือ ความรู้ ความเชื่อ เป็นสิ่งซึ่งมันอยู่ในชีวิตของคน แต่จะทำยังไงให้ปรากฏเป็นเอกสารให้เป็นที่ยอมรับ” 

“อาจารย์เป็นผู้นำในหมู่นักวิชาการที่สามารถจะรวบรวมนักวิทยาศาสตร์ได้กว่า 200 คน ในการสร้างสารานุกรมภาคใต้ขึ้นมา แล้วยังสร้างสถาบันทักษิณคดีศึกษาขึ้นมา สามารถสร้างความรู้เป็นแบบอย่างได้มากขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดา อย่างในต่างประเทศสารานุกรมเขาเก็บถือเป็นตำราทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ต้องใช้นักปราชญ์มากมาย แต่ ศ.สุทธิวงศ์ สามารถรวบรวมคนที่อยู่ในเครือข่ายของท่านขึ้นมาสร้างเอกลักษณ์ของภาคใต้ได้ แล้วงานชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ต่างประเทศนำไปเป็นแบบอย่าง”
 

กำลังโหลดความคิดเห็น