xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ไอทีซี-มท.2 ร่วมประชุมเตรียมความพร้อมระบบเตือนภัยสึนามิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รมว.ไอซีที และ มท.2 ร่วมประชุมการเตรียมความพร้อมระบบเตือนภัยสึนามิในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน พร้อมให้แนวนโยบายในการทำงานแก่ผู้ปฏิบัติงาน

เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (14 ส.ค.) นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นประธานประชุมการเตรียมความพร้อมระบบเตือนภัยสึนามิในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าราชการ 6 จังหวัดอันดามัน เจ้าหน้าที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคเข้าร่วม

นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า หน่วยงานในสังกัดต้องบูรณาการการทำงานเพื่อแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนอย่างจริงจังขอให้สรุปประเมินระยะเวลาการเกิดเหตุว่า ชาวบ้านมีเวลาเตรียมตัวเท่าไหร่ โดยให้หน่วยงานทั้งส่วนกลาง และภูมิภาคท้องถิ่นทำงานร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบบูรณาการร่วมกันในทุกเรื่อง และให้ทางจังหวัดตรวจสอบข้อมูลสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย ระบบสัญญาณเตือนภัยในแต่ละหอให้พร้อมใช้งาน และที่หลบภัยพร้อมป้ายบอกทางให้ชัดเจนเพื่อส่งข้อมูลเข้า ครม. พิจารณาต่อไป

ขณะที่ นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับให้แต่ละหน่วยงานของ 2 กระทรวงบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประชาชน ลดการสูญเสียในชีวิตทรัพย์สิน เน้นการทำงานเป็นทีมให้ทลายกำแพงข้อจำกัดในบางเรื่องเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ซึ่งในส่วนของวัสดุอุปกรณ์สามารถใช้ร่วมกันเมื่อเกิดภัยไม่ว่าจะเป็นของกระทรวงใด หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ริกเตอร์ ให้สามารถส่ง SMS แจ้งเตือนได้ทันที ให้ดูแลอุปกรณ์ ทุ่นต่างๆ สัญญาณเตือนภัยให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา

สำหรับภาพรวมในพื้นที่ฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด มีหอเตียนภัยทั้งหมด 129 หอเตือนภัย แยกเป็น จ.กระบี่ 32 หอ พังงา 18 หอ ภูเก็ต19 หอ ระนอง 13 หอ สตูล 22 หอ และตรัง 25 หอ ซึ่งหากทุกจุดใช้งานได้ทั้งหมดก็เพียงพอต่อการเตือนภัยแก่ประชาชน

ขณะที่พื้นที่จังหวัดภูเก็ต ดร.พัลลภ สิงหเสนี รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้รายงานข้อมูลพื้นที่เสี่ยงซึ่งประกอบด้วย ต.ไม้ขาว ต.เชิงเล อ.ถลาง ต.ป่าตอง อ.กะทู้ ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต การเตรียมพร้อมดังนี้ คือ 1.การเตือนภัย ภูเก็ต มีหอ 19 แห่ง เครื่องรับสัญญาณ 7แห่ง เสากระจายข่าว 3 แห่ง เครื่องกระจายข่าวเคลื่อนที่ 15 เครื่อง นอกจากนี้ มีการตั้งศูนย์ควบคุมประจำจังหวัดภูเก็ตเพื่อประเมินสถานการณ์ภายในจังหวัด ทั้งนี้ หากประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วมีแนวโน้มเกิดสึนามิก็จะแจ้งไปยังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อเปิดสัญญาณเตือนภัย และแจ้งอพยพประชาชน

2.การอพยพและตั้งศูนย์พักพิงภูเก็ตไม่มีจุดหลบภัย แต่มีศูนย์พักพิงชั่วคราว จำนวน 55 แห่ง สามารถรองรับผู้อพยพได้ตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป 3.การซ้อมแผน จ.ภูเก็ต มีการซ้อมแผนเป็นระยะๆ ล่าสุด ที่แหลมตุ๊กแก หาดป่าตอง บางลา โดยใช้งบประมาณทั้งของจังหวัด โดยมหาดไทย และท้องถิ่น สำหรับสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องการขณะนี้ คือ ขอรับการสนับสนุนการติดตั้งหอ 3 จุด คือ ที่ท่าเรืออ่าวมะขาม ต. วิชิต ท่าเรือยอร์ทเฮฟเว่น ต.ไม้ขาว หนองน้ำในหาน ต.กะรน และติดตั้งป้ายบอกเส้นทางการอพยพ เนื่องจากที่มีอยู่ชำรุดเสียหายซีดจางมองไม่เห็นจึงขอรับงบสนับสนุนติดตั้งป้ายในพื้นที่กะตะ กะรัต ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และนักท่องเที่ยวซึ่งมีจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังต้องการให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติรวมระบบแจ้งภัยดินถล่ม ดินสไลด์ ที่กรมทรัพยากรน้ำได้ติดตั้งสถานีเตือนภัยล่วงหน้าจังหวัดภูเก็ตเพื่อแจ้งเตือนประชาชนด้วย ดร.พัลลภ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีฯ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และคณะส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเดินทางลงพื้นที่หาดป่าตอง อ.กะทู้ เพื่อทดสอบระบบหอสัญญาณเตือนภัยด้วย โดยมี น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง พร้อมทีมงานร่วมให้การต้อนรับ



กำลังโหลดความคิดเห็น