xs
xsm
sm
md
lg

สองข่าวสำคัญที่คนไทยควรรู้ แต่...! / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
 
ข่าวแรก เรื่องสารพิษจากเหมือง และโรงไฟฟ้าถ่านหินไหลทะลักลงสู่อ่าวมรดกโลกที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญในประเทศเวียดนาม เนื่องจากฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ขนาด 600-800 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 3 วัน เหตุเกิดเมื่อ 30 กรกฎาคมนี้ ผมนำเสนอรูปภาพก่อนนะครับ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ ตามที่เขาบอกกันว่าหนึ่งภาพให้ความหมายมากกว่าตัวหนังสือหนึ่งพันคำ

ผมทราบข่าวนี้จากเว็บ EcoWatch (http://ecowatch.com/2015/07/31/vietnam-floods/2/) ซึ่งผมได้สมัครเป็นสมาชิก เขาจึงส่งข่าวทำนองนี้มาเป็นประจำ ในภาพชาวบ้านลงไปงมเอาถ่านหินขึ้นมาโดยไม่รู้ถึงสารพิษอันตรายซึ่งได้แก่ สารหนู แคดเมียม แบเรียม เป็นต้น
 

 
น้ำสารพิษเหล่านี้จะลงสู่อ่าว Ha Long ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากนักท่องเที่ยว

ภาพข้างล่างแสดงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเหมืองถ่านหิน และโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมทั้งสภาพของอ่าว Ha Long ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ดูแล้วคล้ายกับอันดามันเรามากครับ 
 

 
ผมถือว่าข่าวนี้เป็นข่าวสำคัญมากสำหรับคนไทย ก็เพราะว่าทางเครือข่ายปกป้องอันดามันเพิ่งประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับโลกของคนไทย และของโลกด้วย

ถ้าอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกต่อไป ไม่ว่าที่จังหวัดกระบี่ ที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และที่หัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งที่ใดๆ ในโลกใบนี้อีกแล้วครับ

เหตุการณ์ในเวียดนาม เกิดจากฝนตกหนัก 600 ถึง 800 มิลลิเมตร ซึ่งไม่เคยเกิดมาก่อนในรอบ 40 ปีในเวียดนาม แต่ผมจำได้แม่นว่าที่จังหวัดสงขลาบ้านเรา เคยมีฝนรั่ว 500 มิลลิเมตรในวันเดียวเท่านั้นเกิดขึ้นในวันที่ 31 ธันวาคม แต่ผมจำปีที่เกิดไม่ได้ ดังนั้น อะไรที่ไม่เคยเกิดก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอในระบบโลกที่ปั่นป่วนในปัจจุบัน 

เหตุการณ์ในเวียดนามครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2558 มีคนเสียชีวิต 17 คน สูญหายอีก 6 คน แต่ผมไม่เห็นข่าวนี้ในทีวีบ้านเราครับ ต่างจากข่าวอื่นๆ ที่มีความสำคัญน้อยกว่านี้มากแต่กลับเป็นข่าว

มาถึงข่าวสำคัญเรื่องที่สอง ซึ่งผมเห็นว่าเกี่ยวข้องกับข่าวแรก

คนจำนวนหนึ่งมีความเห็นว่า ในเมื่อเราจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า แต่ทำไมต้องคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน คนระดับผู้ว่าราชการจังหวัดบางคนถึงกับกล่าวว่า “พวกเอ็นจีโอคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าดีนัก ลองถูกตัดไฟฟ้าสักสองสามวันแล้วจะรู้สึก” ผมเองก็ยังถูกด่าจากบางคนว่า “ถ้ายังใช้ไฟฟ้าอยู่ถือว่าหน้าด้าน” ซึ่งถือว่าเป็นคำด่าที่เบามากแล้วนะครับ

ข่าวที่สองนี้จะเป็นทางออกจากกับดักโรงไฟฟ้าถ่านหินครับ

ข่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม 2558 ถือว่ายังสดๆ อยู่ คือ คำประกาศนโยบายของนางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐอเมริกา

นางฮิลลารี คลินตัน ได้ประกาศ “สองเป้าหมายของชาติที่ท้าทาย” ว่า “ถ้าข้าพเจ้าได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดี ในวันแรก ข้าพเจ้าจะขอตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย 2 ข้อ” คือ

หนึ่ง จะให้บ้านทุกหลังในสหรัฐอเมริกาได้ใช้พลังงานหมุนเวียนภายในปี 2027 หรือภายใน 10 ปี

สอง จะติดแผงโซลาร์เซลล์ไม่น้อยกว่า 500 ล้านแผง (ย้ำ 500 ล้านแผง) ก่อนหมดวาระแรก

ผมได้โพสต์ในเฟซบุ๊กของผมว่า “ฟังหูไว้หู แต่สะท้อนถึงกระแสโลก” 
 

 
ด้วยความที่ผมเคยผิดหวังกับนักการเมืองทั่วโลก รวมทั้งประธานาธิบดีบารัค โอบามาด้วย ผมจึงได้เตือนตัวเองว่า ฟังหูไว้หู

ผมจะลองวิเคราะห์เป้าหมายข้อที่สองเพียงข้อเดียวว่าเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งนางคลินตัน อ้างว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานหลายล้านตำแหน่ง

ประการแรกเธอไม่ได้ระบุว่า แผ่นโซลาร์เซลล์มีขนาดกี่วัตต์ (ซึ่งมักจะเป็นเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมือง) ในที่นี้ผมถือว่าเป็นขนาดทั่วไปที่เขานิยมติดกันคือ 285 วัตต์ ถ้าติด 500 ล้านแผ่นก็จะได้ 142,500 เมกะวัตต์

จากข้อมูลพบว่า ในปี 2014 ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ติดไปแล้วจำนวน 18,280 เมกะวัตต์ โดยมีอัตราการเพิ่มร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีก่อน ดังนั้น อีก 6 ปีนับจากปี 2015 จำนวนโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งจะรวมกันได้ถึง 208,220 เมกะวัตต์ มากกว่าที่เข้าตั้งไว้ในเป้าหมายที่ท้าทายของชาติ

โดยที่ไม่ต้องอาศัยอำนาจประธานาธิบดีคนใหม่แต่ประการใด

เห็นแล้วหรือยังครับว่า นักการเมืองที่รู้จักฉวยโอกาสให้มาเป็นประโยชน์แก่ตนเอง โดยไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ได้คะแนนได้ใจประชาชนไปครอง แต่ก็ยังดีนะครับ ยังดีกว่าพวกที่ชอบทำแต่เรื่องเลวๆ ในบางประเทศ

สำหรับเป้าหมายแรก ผมไม่ขอวิจารณ์นะครับทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าไม่มีความชัดเจนว่า ทุกบ้านที่ใช้พลังงานหมุนเวียนนั้นได้ใช้พลังงานหมุนเวียนล้วนๆ โดยไม่มีอย่างอื่น เช่น ถ่านหิน และนิวเคลียร์มาปนด้วยหรือไม่ นักการเมืองก็ชอบพูดอะไรคลุมเครือแบบนี้แหละ

กลับมาสู่เรื่องไฟฟ้าในบ้านเราครับ

ท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า “ถ้าใครอยากติดโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เอง ก็ทำไป อันนี้เรายินดีอยู่แล้ว แต่การเชื่อมต่อกับสายส่งนั้นมันผิดระเบียบ” 

อันนี้ผมต้องเรียนด้วยความเคารพว่า มันทำไม่ได้จริงๆ ครับท่าน ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีอยู่ 44 รัฐที่มีกฎหมายรองรับให้มีการเชื่อมต่อไฟฟ้าระหว่างบ้านที่ผลิตเองกับระบบสายส่งได้ มันต้องเชื่อมต่อก่อนจึงจะผลิตได้ ถ้าใช้แบตเตอรี่ก็ไม่คุ้มทุน และทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งไม่ควรทำแม้จะรักโลกสักเพียงใดก็ตาม

ผมเองพยายามลองคิดด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ง่ายๆ ว่า ทำอย่างไรให้การไฟฟ้าฯ ยอมให้มีการเชื่อมต่อไฟฟ้าได้ โดยที่การไฟฟ้าฯ ไม่สูญเสียผลประโยชน์ 

ผมเสนออย่างนี้ครับ คือ (1) ไม่ต้องมีการชดเชยค่าไฟฟ้าจากผู้ผลิตจากโซลาร์เซลล์ ตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเคยเสนอ แต่การไฟฟ้าฯ ปฏิเสธ (แสดงว่าการไฟฟ้าฯ มีอำนาจเหนือรัฐบาลที่ไม่มีความรู้) และ (2) บ้านที่ติดโซลาร์เซลล์ทุกๆ 1 กิโลวัตต์จ่ายให้การไฟฟ้าปีละ 300 บาท ผลการคำนวณพบว่า ผู้ติดตั้งจะคุ้มทุนภายใน 11 ปี ทีเหลืออีกประมาณ 14 ปี ได้ใช้ไฟฟ้าฟรี โดยมีเงื่อนไข ดังตาราง คือ

(1) เงินลงทุน 5 หมื่นบาท พร้อมค่าเสียโอกาสจากดอกเบี้ยฝากธนาคาร 2.25% ต่อปี

(2) ค่าไฟฟ้าปัจจุบัน 4.49 บาทต่อหน่วย (คิดทุกอย่าง รวมเอฟที และภาษี สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวน 800 หน่วยต่อเดือน โดยที่ค่าไฟฟ้าขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี ศึกษาจากรายงานประจำปีของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปี 2553 ถึง 2557)

(3) ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,350 หน่วย (งานวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลิตได้กิโลวัตต์ละ 1,366 หน่วยในเขตกรุงเทพมหานคร) 
 

 
ถ้ามีการติดตั้ง 1,000 เมกะวัตต์ ทางการไฟฟ้าฯ ก็จะมีรายได้ปีละ 300 ล้านบาททุกปีโดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ถ้าติดสัก 3 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณร้อยละ 2.3 ของความต้องการทั้งประเทศในปี 2557 (หมายเหตุ : ปี 2014 ญี่ปุ่นติด 23,300 เมกะวัตต์) การไฟฟ้าฯ จะได้เงิน 9 พันล้านบาทต่อปี

ถ้าเป็นอย่างนี้ท่านนายกฯ ประยุทธ์ รับได้ไหมครับ เอาไหมครับ เลิกคิดเถอะครับเรื่องถ่านหิน แนวนโยบายของกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฯ ในปัจจุบันกำลังสวนกระแสโลกอย่างรุนแรง

โลกเขาเดินทางมาถึงยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 3 ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในปี 2553 หรือเมื่อ 5 ปีมานี่เอง เป็นยุคที่ระบบเศรษฐกิจพื้นฐานของโลกต้องเปลี่ยนไปเมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารแบบใหม่คือ อินเทอร์เน็ตมาบรรจบกับระบบเทคโนโลยีพลังงานแบบใหม่ ซึ่งก็คือ พลังงานหมุนเวียนนั่นเอง (หมายเหตุ : การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 1 คือ การค้นพบเครื่องจักรทอผ้า เมื่อปลายศตวรรษที่ 18 ในประเทศอังกฤษ ยุคที่สอง คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Henry Ford เมื่อต้นศตวรรษที่ 20)

ในยุคนี้ เป็นยุคที่คนหลายร้อยล้านคนสามารถผลิตไฟฟ้าสีเขียวเพื่อใช้เองในบ้าน ในสำนักงาน รวมทั้งในโรงงานของตนเอง ไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้จะถูกส่งไปแบ่งปันไปให้แก่ผู้ใช้ที่อยู่ข้างเคียง ดังภาพข้างล่างนี้ซึ่งเป็นของนักอนาคตศึกษา 
 

 
มันเกิดขึ้นแล้ว และเป็นจริงครับมันคือ หลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ท่านนายกฯ พูดถึงอยู่บ่อยๆ นั่นเอง ความพยายามในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยของ คสช.คือ การป้องฟ้าด้วยฝ่ามือ คือ การหลอกใช้อำนาจของ คสช.เพื่อให้พ่อค้าถ่านหินได้ขายถ่านหินซึ่งเป็นต้นเหตุของภัยพิบัติทางธรรมชาติของโลกเท่านั้นเองครับผม
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น