xs
xsm
sm
md
lg

เกือบ 20 ปีมีแต่ความย่อยยับ! คน “รัตภูมิ” จี้ ครม.เลิกแหล่งหิน “เขาคูหา” หยุดระเบิดทำลายชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้ยกเลิกการประกาศให้เขาคูหาเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม ชี้การประกาศแหล่งหินเขาคูหาแลการดำเนินการของผู้ประกอบการโรงโม่หิน ขัดแย้งต่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ขัดต่อกฎหมาย ละเมิดสิทธิชุมชน และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชุมชนแห่งนี้มาเกือบ 20 ปี

วันนี้ (23 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานที่ผ่านมา (22 ก.ค.) เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ได้ทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อขอให้ยกเลิกการประกาศให้เขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม เนื้อหาความว่า ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2540 ได้ประกาศให้ “เขาคูหา” อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม

ผู้ร้องเรียน และประชาชนผู้สนับสนุนการร้องเรียน เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา และในพื้นที่ใกล้เคียง โดยพื้นที่ดังกล่าวรวมเรียกกันว่า “ชุมชนเขาคูหา” ซึ่งเป็นชุมชนมีวิถีชีวิตที่ผูกพัน และพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการดำเนินชีวิต จาก “เขาคูหา” และบริเวณโดยรอบ ทั้งในการอุปโภคบริโภค ประกอบอาชีพทั้งเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา สวนยางพารา สวนผัก สวนผลไม้ ประมง และปศุสัตว์ ประกอบอาชีพค้าขาย ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านค้าของชำ ร้านค้าสินค้าเกษตรกรรม ตลอดทั้งงานบริการ ได้แก่ ร้านเสริมสวย อู่ซ่อมรถ รีสอร์ตที่พัก จึงผูกพันกับ “เขาคูหา” อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

ซึ่งการประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 8 ตามที่อ้างถึงดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้ร้องเรียน ผู้สนับสนุน ชุมชนในพื้นที่ชุมชนเขาคูหา พื้นที่ข้างเคียง และประชาชนเครือข่ายในจังหวัดสงขลาดังกล่าวข้างต้น ผู้ร้องเรียนขอชี้แจงถึงความสำคัญของเขาคูหา ดังต่อไปนี้

1.สภาพบริเวณพื้นที่เขาคูหา เขาคูหาเป็นภูเขาลูกโดดตั้งอยู่ใจกลางชุมชนที่มีลักษณะแนววางตัวของภูเขาทอดยาวจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ มีความยาวประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีความกว้างประมาณ 500-600 เมตร ยอดเขาสูงมากที่สุดประมาณ 218 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และสูงจากที่ราบประมาณ 180 เมตร มีสายน้ำเกิดจาก “เขาคูหา” 3 สาย คือ เหมืองตีน (เหมืองนาโพธิ์) เหมืองกลาง (เหมืองต้นเหรียง) เหมืองหัวนอน (เหมืองหลุมพอ) มีคลองเคียน (หรือคลองตะเคียน) ลอดผ่านใต้เขา มีถ้ำน้ำใต้เขาเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ และที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ มีถ้ำโพรงหินอยู่บนเขาเป็นที่อาศัยของค้างคาวจำนวนมาก

“เขาคูหา” ตั้งอยู่ในท้องที่ของหมู่ที่ 5 บ้านจุ้มปะ หมู่ที่ 9 บ้านหัวยาง ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา โดยทิศเหนือใกล้โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา และชุมชนบ้านชายเขา หมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 12 ตำบลคูหาใต้ ทิศตะวันออกใกล้ถนนเพชรเกษม และชุมชนบ้านหน้าเมือง และชุมชนบ้านนาปาบ หมู่ที่ 4 ต.คูหาใต้ ทิศตะวันตกใกล้ถนน ร.พ.ช.สายบ้านควนขัน-อำเภอรัตภูมิ และชุมชนบ้านควนปอม หมู่ที่ 7 ต.คูหาใต้ ทิศใต้ใกล้วัดเจริญภูผา (วัดจุ้มปะ) และโรงเรียนวัดเจริญภูผา และชุมชนบ้านจุ้มปะ หมู่ที่ 5 ต.คูหาใต้

เนื้อที่ของ “เขาคูหา” วัดได้โดยรวมประมาณ 300 ไร่ มีบ้านเรือนของราษฎร โรงเรียน วัด สถานที่ราชการ ร้านค้า พื้นที่ทำกินทางการเกษตร ตั้งอยู่รอบๆ เขาคูหา และมีภูเขาลูกโดดอื่นๆ อยู่รอบๆ รวม 4 เขา ได้แก่ เขาจังโหลน เขาจุ้มปะ เขาตกน้ำ และเขารักเกียรติ (เขารังเกียจ) และมีควน (พื้นที่มีลักษณะเป็นเนินสูง) 3 ควน ได้แก่ ควนหัวแหวน ควนรู ควนหินเหล็กไฟ โดยภูเขา และควนดังกล่าวมีการกล่าวไว้อยู่ในตำนานภูผาของอำเภอรัตภูมิ โดยที่พื้นที่อำเภอรัตภูมิ ยังมีควนอีกหลายควน แต่ไม่ได้กล่าวไว้ในตำนาน

2.สัญลักษณ์ และตำนานของเขาคูหา อ.รัตภูมิ มีคำขวัญประจำอำเภอ คือ “ถิ่นดินแดง แหล่งผลไม้ดก น้ำตกเจ้าฟ้า ภูผามีตำนาน ประตูผ่านสู่ชายแดน” และมีการใช้ชื่อ “เขาคูหา” เป็นสัญลักษณ์ของชุมชน และพื้นที่ ด้วยการตั้งเป็นชื่อชุมชน คือ “ชุมชนบ้านคูหา” ชื่อสี่แยก คือ “สี่แยกคูหา” ชื่อตำบล คือ “ตำบลคูหาใต้” ชื่อวัด คือ “วัดคูหาใน” “วัดคูหานอก” และอื่นๆ รวมถึงการใช้เขาคูหาเป็นนาฬิกาธรรมชาติในการบอกเวลาด้วยการดูจากแสงเงาของภูเขา โดยสังเกตจากหน้าเขาซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 12 และหลังเขาซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 7 ในสมัยอดีตซึ่งสอดคล้องต่อประเพณี และวัฒนธรรมของชุมชน

นอกจากนี้ ร.ต.อ.เยื้อง สมถวิล (ปัจจุบันอายุ 89 ปี) อดีตประธานกลุ่มอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม อำเภอรัตภูมิ ปัจจุบัน ท่านเป็นประธานชมรมเดินไป คุยไป เลาะหาของดี อำเภอรัตภูมิ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมุขปาฐะ และตำนานภูเขา โดยให้ข้อมูลว่า นางยวด สมถวิล มารดา (ให้กำเนิด ร.ต.อ.เยื้อง เมื่ออายุ 27 ปี ได้เล่าและร้องเพลงกล่อมสมัยยังเด็ก ซึ่งมุขปาฐะนี้มีการนำเอาชื่อเขาคูหา และภูเขาอื่นมาใส่ไว้ให้เห็นถึงตำนานของภูเขา ซึ่งมีการเล่าต่อกันมาหลายชั่วอายุคน มุขปาฐะตำนานภูผา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา มีเนื้อหาดังนี้

“ท่านท้าว “จังโหลน” ผู้รุ่งฟ้า มีเมีย งามเลิศ เฉิดเฉลา
ชื่อกานดา ตาเพรา “เขาคูหา” มีบุตร สามองค์ ทรงลักขณา
ชื่อว่า “เขาจุ้มปะ” เป็นพี่ชาย ถัดแต่นั้น สาวหน้างาม
ชื่อว่า “เขาตกน้ำ” งามเฉิดฉาย มีบุตรสุดท้องเป็นน้องชาย
ใจร้ายให้ชื่อ “เขารังเกียจ” เบียดเสียดพี่น้องให้ต้องแค้น
ถีบพี่พลัดลงในคงคา รู้ไปถึงบิดาเขาโกรธแน่น
ท้าวจังโหลนขับไล่ไม่ให้อยู่ ไปเป็นคู่ แต่สวน กับ “ควนหัวแหวน”
ฝ่าย “ควนรู” รู้เรื่องให้เคืองแค้น ว่าเจ้าควนหัวแหวนมีผัวใหม่
จะได้หรือไม่ได้ก็ตามใจ ต้องไปบอก “ควนหินเหล็กไฟ” เสียให้รู้...”
 
 

 
นอกจากนี้ ภูเขาทั้ง 5 เขา และควนทั้ง 3 ควน ที่กล่าวข้างต้ นยังมีความสำคัญ ดังนี้ 1.เขาคูหา (เขาแม่) เป็นเขาหินปูนซึ่งมีโพรงถ้ำบนเขา และโพรงถ้ำน้ำใต้เขา โดยถ้ำบนเขาจะมีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นแหล่งขี้ค้างคาวที่ชาวบ้านเข้าไปเก็บมาทำปุ๋ย หรือนำไปขาย มีพืชพรรณต้นไม้ มีสัตว์ป่า มีแหล่งน้ำที่ความอุดมสมบูรณ์ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่อาศัยอยู่รอบภูเขาได้ใช้ในการดำรงชีพ และทำการเกษตรในพื้นที่โดยรอบ

2.เขาจังโหลน (เขาพ่อ) ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเขาคูหา เป็นภูเขาที่มีถ้ำหลายถ้ำอยู่บนเขา โดยถ้ำที่สำคัญ ได้แก่ “ถ้ำหน้าพระ” “ถ้ำในวัด” ซึ่งค้นพบวัตถุโบราณเป็นพระพุทธรูป ค้นพบรอยพระพุทธบาทไม้ เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้าน พบแผ่นจารึกอักษรขอม ส่วนถ้ำอื่นๆ มีขี้ค้างคาวอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นแหล่งที่ชาวบ้านมักเข้าไปเก็บนำมาทำปุ๋ย หรือขาย นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของ “วัดจังโหลน” อยู่ตีนเขา โดยเขาจังโหลน เป็นภูเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด มีพืชพรรณต้นไม้ มีสัตว์ป่า และยังมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นแหล่งค้นพบโบราณวัตถุในเขาจังโหลน

3.เขาจุ้มปะ (เขาลูกชายคนโต) อยู่ทางด้านทิศใต้ของเขาคูหา เป็นเขาหินขนาดเล็ก เป็นที่ตั้งของวัดเจริญภูผา (จุ้มปะ) มีองค์เจดีย์อยู่บนยอดเขาอายุกว่า 100 ปี ต่อมา ได้โทรมลง และถูกฟ้าผ่าหลายครั้ง จนกระทั่งพังราบ แต่ยังมีซากปรักหักพังของเจดีย์ดังกล่าวอยู่ ต่อมา ในสมัยหลวงพ่อเล็ก อดีตเจ้าอาวาสวัดจุ้มปะ ได้สร้างเจดีย์องค์ใหม่บริเวณที่ตั้งปัจจุบันภายในวัดซึ่งอยู่ที่เชิงเขา โดยหลวงพ่อเล็ก เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ประชาชนทั่วไปให้ความเคารพศรัทธา เขาจุ้มปะยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติอยู่เช่นเดียวกับเขาจังโหลน

4.เขาตกน้ำ (เขาลูกสาวคนรอง) อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขาคูหา ซึ่งอยู่ทางด้านหลังที่ว่าการอำเภอรัตภูมิ อยู่ติดคลองภูมี หรือคลองรัตภูมิ เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยเก่าแก่ชุมชนหนึ่งทั้งสองฝั่งคลอง มีวัดเขาตกน้ำ ส่วนอีกฝั่งด้านที่ติดภูเขา อดีตเคยมีที่พักสงฆ์อยู่ตีนเขา ต่อมา ได้ย้ายไปอยู่ที่วัดเขาตกน้ำเพียงจุดเดียว โดยเขาตกน้ำ มีรากเขากว้าง และมีง่อนหินงอกโผล่ในคลองภูมี จึงเรียกว่า “เขาตกน้ำ” เขาตกน้ำยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเช่นเดียวกับเขาอื่น

5.เขารังเกียจ (เขาน้องชายสุดท้อง) อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขาคูหา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเขารักเกียรติ ตั้งอยู่ที่ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ มีวัดเขารักเกียรติตั้งอยู่ตีนเขา โดยมีการค้นพบภาชนะดินเผาแบบเชือกคาด ภาชนะดินเผาแบบหม้อสามขา ขวานหินขัด โครงกระดูกมนุษย์ และสัตว์ ซึ่งได้นำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สงขลา และยังพบพระพุทธรูปโบราณ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแล้ว เขารังเกียจยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเช่นเดียวกับเขาอื่น เหตุที่เรียกเขารังเกียจ ตามตำนานโบราณที่ถีบพี่สาวตกน้ำ บิดาเขาจังโหลน จึงไล่ให้มาอยู่ไกล

6.ควนหัวแหวน อยู่ทางด้านทิศใต้ของเขาคูหา มีลักษณะเป็นเนินดิน ตั้งอยู่บริเวณตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ

7.ควนรู อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขาคูหา อยู่ในเขตตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ ใกล้กับสี่แยกคูหา มีลักษณะเป็นเนินดิน

8.ควนหินเหล็กไฟ อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเขาคูหา เป็นที่ตั้งของป่าช้าโบราณ ปัจจุบันเป็นสวนยางพาราของชาวบ้าน มีลักษณะเป็นเนินดิน และหิน เหตุที่ชื่อควนหินเหล็กไฟ เนื่องจากหินที่พบบริเวณดังกล่าวสามารถเอามาตีกระทบกันเกิดประกายไฟได้

ตำนานเขา และควนใน อำเภอรัตภูมิตามมุกขปาถะ เห็นได้ว่า กลุ่มเขาคูหามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน สอดคล้องกัน แสดงให้เห็นถึงจุดเด่นที่เป็นภูมิลักษณะวรรณกรรมของอำเภอ ทั้งเป็นเอกลักษณ์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรม นอกจากนี้ จะเห็นว่า อำเภอรัตภูมิ เป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ มีการค้นพบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งบ่งบอกว่า พื้นที่นี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์โบราณประมาณ 6,000 ปีมาแล้ว และมีการค้นพบโบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์ คือ แผ่นจารึกอักษรขอม จากถ้ำเขาจังโหลน ตำบลคูหาใต้ และเขาพระ ตำบลเขาพระ เป็นโบราณวัตถุในสมัยพุทธศตวรรษที่ 24-25 (ตรงกับสมัยกรุงธนบุรี) จากหลักฐานประวัติศาสตร์ดังกล่าวจะเห็นว่า พื้นที่อำเภอรัตภูมิเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์โบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งคนรัตภูมิ ได้ให้ความสำคัญต่อภูเขาเป็นอย่างมาก จึงผูกคำกลอนโบราณจากตำนานภูเขาของอำเภอรัตภูมิ ซึ่งเป็นไปตามคำบอกเล่าของ ร.ต.อ.เยื้อง สมถวิล ที่กล่าวแล้วข้างต้น

3.สายน้ำของเขาคูหา เขาคูหามีสายน้ำที่สำคัญที่ไหลลอดผ่านใต้เขา คือ “คลองเคียน” ซึ่งไหลผ่านพื้นที่หลายตำบล โดยมีต้นน้ำอยู่ตำบลท่าชะมวง อำเภอรัตภูมิ ปลายน้ำอยู่ที่ตำบลควนโส อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ก่อนไหลลงทะเลสาบสงขลา มีความยาวรวมประมาณ 40-50 กิโลเมตร และยังมีเหมืองน้ำขนาดเล็กที่เกิดจากเขาคูหา 3 เหมือง ได้แก่ เหมืองนาโพธิ์ เหมืองกลาง และเหมืองหัวนอน เป็นต้น
 
 

 
4.ความอุดมสมบูรณ์ของเขาคูหา บริเวณเขาคูหาได้พบสายพันธุ์ปลาในคลองเคียน และลำเหมือง ได้แก่ ปลาช่อน ปลาช่อนไช ปลาชะโด ปลาลูกขาว ปลากระทิง ปลาหลด ปลาโสด ปลาแหยง ปลาหมอ ปลาหมอเทศ ปลาโทง ปลาแก้มช้ำ ปลาขี้ขม ปลากระดี่ ปลาดำสี ปลาหลาด ปลาโอน ปลาลูกแหยงขี้ไก่ ปลาบู่ ปลากด ปลาขอทราย ปลาผี ปลาไหล ปลาดุกรำพัน ปลาแปล๊ะ ปลากั้ง ฯลฯ รวมถึงหอย และกุ้งนา และกุ้งฝอย อื่นๆ ด้วย

เขาคูหาในปัจจุบันยังมีสภาพความเป็นป่า พบพรรณไม้ชนิดไม้เบญจพรรณ ไม้ที่พบได้ทั่วไปตามป่าดิบชื้นทั่วไปบนเขาหินปูน ได้แก่ เหรียง ยางแดง เลือดควาย ลำพูป่า เขลง (กาหยี) พลอง แก้มอ้น แคยอดดำ ปอแต๊บ ตังหน ข่อยหนาม มะพร้าวนกกก มะพร้าวนกคุ่ม ปออีเก้ง ผ่าเสี้ยน เป็น ข่อยหนาม หว้าหิน พลองกินลูก พังแหร มะเดื่อปล้อง จิกเขา ผกากรอง ลูกใต้ใบ ปุด กระดาด เสี้ยว แสลงพัน กระไดลิง สะบ้าลิง ถอบแถบเครือ กระพี้เครือ หนามหัน เถาคัน ยาบขี้ไก่ กล้วยไม้ป่า หวายน้ำ หวายกำพวน เต่าร้าง จั๋ง ข้าหลวงหลังลาย จันผา นนทรี กระเขา ตะเคียน และอื่นๆ

ก่อนที่จะมีการระบิดหินที่เขาคูหานั้น ยังมีสัตว์ป่าต่างๆ เช่น ลิง ค่าง ค้างคาวแม่ไก่ นกทูนหิน เป็นต้น ส่วนในถ้ำเขาคูหา มีค้างคาวอาศัยเป็นจำนวนมาก จนมีแหล่งปุ๋ยขี้ค้างคาว (มายา) ที่นำไปเป็นปุ๋ยธรรมชาติในการทำเกษตรทำสวนทางธรรมชาติของชุมชนเขาคูหา ปัจจุบัน ยังมีฝูงลิงอยู่บนเขาคูหา

5.ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ กลุ่มเขาคูหาประกอบไปด้วย เขารักเกียรติ หรือเขารังเกียจ ซึ่งเป็นที่อยู่ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และเขาจังโหลน ซึ่งพบแผ่นจารึกอักขระ ปรากฏภาษาขอม ภาษาไทย และภาษาบาลี ในจาระฉนวน มีข้อความว่า “ท่านวัดท่าข้ามเป็นผู้สร้างพุทธบาทนี้ เมื่อปีมะโรง โทศก เดือน 3 พ.ศ.2363 ตรงกับรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2” ปัจจุบัน จารึกถ้ำเขาจังโหลน ตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์สงขลา ซึ่งทั้ง 2 แห่งได้มีการขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาไว้แล้ว ในส่วนของเขาคูหามีการพบถ้ำ และพระพุทธรูป แต่ไม่มีหน่วยงานราชการมาทำการตรวจสอบสำรวจ

ผู้ร้องขอเรียนว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม ฉบับที่ 8 ที่อ้างถึง เป็นสาเหตุทำให้เกิดการสัมปทานให้ประกอบกิจการเหมืองหินเขาคูหาที่จะต้องระเบิดหิน ส่งผลกระทบต่อชุมชนเขาคูหา และพื้นที่ใกล้เคียง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมต่อ ดังนี้

1.การสูญเสียความเป็นสัญลักษณ์ของเขาคูหา การทำเหมืองหินเขาคูหา ทำให้ภูเขาได้รับความเสียหายไปแล้วส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะส่วนกลางของภูเขา หากปล่อยให้ดำเนินการต่อไปจะทำให้เขาลูกโดดกลายเป็นเขาที่ขาดจากกัน และจะทำให้เขาทั้งลูกหายไป ซึ่งเมื่อมีการหยุดสัมปทานเหมืองในปัจจุบัน สังเกตได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อขับรถผ่านทางถนนเพชรเกษม-สายเอเชีย ซึ่งเป็นถนนสายหลัก จะเห็นภูเขาเว้าแหว่งเป็นลักษณะอุจาด หากปล่อยให้มีการทำสัมปทานเหมืองหินเขาคูหาต่อไปจนหมด สถานที่ต่างๆ ที่มีการใช้ชื่อเขาคูหาเป็นสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นชื่อตำบล ชื่อสี่แยก ชื่อชุมชน ชื่อวัด ชื่อโรงเรียน ชื่อสถานที่ตั้งหน่วยงานราชการ ตลอดทั้งคำขวัญประจำอำเภอ คำขวัญประจำตำบล ตำนาน และบทเพลง อาจจะหายไป เพราะการสูญเสียสัญลักษณ์อย่างเขาคูหาไป

2.ความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้ร้องเรียน และประชาชนโดยรอบเมื่อมีการทำเหมืองหินเขาคูหา การดำเนินกิจการสัมปทานเหมืองหินต้องมีการระเบิดหิน ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปทั่วบริเวณคล้ายแผ่นดินไหวขนาดย่อมชั่วคราวในช่วงเย็นทุกๆ วัน ทำให้บ้านเรือนเกิดสภาพแตกร้าวหลายแห่ง และบางครั้งมีก้อนหินปลิวใส่หลังคาบ้านเรือนของประชาชน และตกใส่ที่ดินของประชาชนซึ่งอยู่รายรอบเขา ซึ่งบ้านที่มีการแตกร้าวได้รับความเสียหายอย่างน้อยที่สุดมีจำนวนกว่า 500 หลังคาเรือน โดยที่ได้มีการลงทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่อำเภอรัตภูมิไว้ 2 ครั้ง แต่ความจริงแล้วกรณีบ้านร้าวมีทั้งหมดเกือบ 700 หลังคาเรือน นอกจากบ้านแตกร้าว และก้อนหินหล่นใส่แล้ว ยังมีผลกระทบสำคัญ คือ เกิดฝุ่นละอองคละคลุ้ง และลอยมาตกตามบ้านเรือนประชาชนที่อยู่อาศัยโดยรอบ และตกในที่ทำกิน ทำให้เกิดความเดือดร้อน

3.ความเสียหายต่อการประกอบอาชีพ เนื่องจากพื้นที่เขาคูหา เป็นชุมชนเกษตรกรรมซึ่งพึ่งพาทั้งแหล่งน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ของเขาคูหา เมื่อมีการทำสัมปทานเหมืองหินเขาคูหา ที่ต้องมีการระเบิดหิน ทำให้ก้อนหินขนาดใหญ่ และขนาดเล็กปิดปากถ้ำน้ำที่อยู่ด้านล่าง และปิดกั้นเส้นทางน้ำคลองเคียน ที่ไหลผ่านลอดใต้เขา ตลอดทั้งปิดกั้นเหมืองน้ำขนาดเล็กที่เกิดจากเขาคูหา อย่างน้อย 3 เหมือง ได้แก่ เหมืองนาโพธิ์ เหมืองกลาง และเหมืองหัวนอน ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในการทำเกษตร การอุดตันของทางน้ำทำให้น้ำหลากท่วมในพื้นที่

นอกจากนี้ ก้อนหินได้ปลิวตกลงในที่นาที่สวนที่อยู่ใกล้เขาคูหา ทำให้ไม่สามารถทำนา และทำสวนได้ ทำให้สูญเสียการใช้ประโยชน์ในที่ดินของตนเอง และสภาพที่ดินมีก้อนหินขนาดใหญ่และขนาดเล็กไม่อาจที่จะใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ ในระยะที่ห่างออกไปฝุ่นละอองได้ปลิวไปเกาะติดใบไม้ในสวนยางพารา สวนผัก และสวนผลไม้ ทำให้ผลผลิตลดน้อยลง ในส่วนการประมง ปรากฏว่า ในคลองเคียน น้ำมีลักษณะขุ่น และมีก้อนหินอุดตันในช่องเขา ทำให้ไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้ และทำลายที่อยู่อาศัย และแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำ ส่วนด้านปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ และวัว ซึ่งสัตว์ดังกล่าวตกใจต่อเสียงดังได้ง่าย ทำให้บางตัวตาย บางตัวไม่ออกไข่ บางตัวไม่ตกลูก ทำให้เกิดการขาดทุน ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

4.ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากฝุ่นละอองที่เกิดจากดำเนินกิจกรรมต่างๆ ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ การประกอบกิจการเหมืองหินทำให้เกิดฝุ่นจากการดำเนินงาน เช่น เกิดฝุ่นจากการระเบิด จากการใช้เครื่องเจาะอัดระเบิด จากการคุ้ยหินจากยอดเขาลงสู่ด้านล่าง จากการโม่ย่อยหิน และฝุ่นจากการขนส่งลำเลียงบนถนน จะเห็นได้ว่า ฝุ่นจะฟุ้งกระจายไปทั่วชุมชนเขาคูหา สร้างความเสียหายต่อสุขภาพ ทำให้ประชาชนเกิดโรคภูมิแพ้ โรคระบบทางเดินหายใจ และในอนาคตอาจจะเกิดโรคซิลิโคสิส หรือโรคปอดฝุ่นใยหินได้ ซึ่งระยะการฟักตัว หรือสะสมก่อให้เกิดโรคฝุ่นใยหินประมาณ 10-20 ปี ในส่วนของบ้านเรือน เมื่อฝุ่นปลิวมาเข้าบ้านเรือนเกาะจับเครื่องเรือน และทรัพย์สินอื่นๆ ในบ้านต้องทำความสะอาดมากกว่าปกติ ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย

5.เสียงดังรบกวนตลอดเวลา และเกิดความหวาดผวาจากเสียงดัง เกิดความเสียหายต่อสุขภาพ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในระยะใกล้เคียงจะได้ยินเสียงการคุ้ยเขี่ยหินบนเขาตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ได้ยินเสียงเครื่องจักรกระแทกหินให้เป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กลง และมีการระเบิดภูเขาในช่วงเย็นทุกวัน และหากอยู่ในเส้นทางการลำเลียงของรถบรรทุกหินก็จะได้ยินเสียงดังรบกวนขณะรถบรรทุกวิ่งผ่านวันละหลายคันรถ ทำให้เกิดความเสียหายต่อการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขของประชาชน แม้ว่าการวัดระดับเสียงอาจจะไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดไว้ก็ตาม แต่ก็ยังทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ รบกวนความสงบสุข และเสียงระเบิดหินก็ได้ยินไกลถึง 10 กิโลเมตร ในทุกๆ ช่วงเวลาเย็นที่มีการระเบิดหิน นอกจากนี้ การระเบิดแต่ละครั้งจะทำให้ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงกับภูเขาเกิดความตกใจกลัวต่อเสียงดังของระเบิด ทำให้จิตใจไม่เป็นปกติสุข เกิดความหวาดผวาต่อเนื่องกันทุกวัน ทำให้สุขภาพจิตไม่มีความสงบสุข

6.ความหวาดกลัวต่อหินที่จะหล่นใส่เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิต เนื่องจากในการทำระเบิดหินนั้น ได้เคยเกิดอุบัติเหตุหินหล่นใส่หลังคาบ้าน และเล้าเป็ด และในที่ดินรอบๆ ภูเขา ที่อยู่ในพื้นที่รอบเขา ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวทุกครั้งที่มีการระเบิดหิน เพราะเกรงว่าหินจะปลิวหล่นใส่บ้านตัวเอง และคนในครอบครัว จะเกิดอันตรายแก่ตนเอง และครอบครัว ซึ่งเกี่ยวกับการตกใจกลัวเสียงระเบิด และความหวาดกลัวหินหล่นใส่ดังกล่าวนั้น แม้ไม่เกินมาตรฐานความปลอดภัยตามที่หน่วยงานราชการกำหนดก็ตาม
 

 
แต่ศาลยุติธรรม โดยคำพิพากษาฎีกาถึงที่สุด ได้พิพากษาเกี่ยวกับความหวาดกลัวดังกล่าวแล้วว่า เป็นความเสียหายต่อสุขภาพอนามัย และสิทธิที่จะอยู่อย่างสงบไม่ถูกรบกวน เพราะความหวาดระแวงอันเกิดจากสิ่งของตกหล่นเข้าไปในบ้านอันอาจเกิดอันตรายแก่อาคาร และผู้อยู่อาศัยในบ้านนั้น ถือเป็นความเสียหายอย่างหนึ่งที่มิใช่ตัวเงินซึ่งควรได้รับการชดเชยความเสียหาย อันเป็นการวางบรรทัดฐานที่ดีเพื่อคุ้มครองเยียวยาการถูกละเมิดสิทธิของประชาชน เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เขาคูหา ต้องรู้สึกวิตกกังวลต่อก้อนหินที่จะกระเด็นกระดอนมา และตกใส่บ้านเรือนจากการระเบิดหินแต่ละครั้ง

เรื่องความเสียหายต่อทรัพย์สิน บ้านเรือนแตกร้าว ฝุ่นละออง และความหวาดกลัวต่อเสียงระเบิดอันดัง และต่อหินหล่นใส่ ได้มีการฟ้องดำเนินคดีต่อผู้ประกอบการเหมืองหินเขาคูหาให้จ่ายค่าชดเชยให้ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ ต่อ ศาลแขวงสงขลา 1 คดี มีชาวบ้านฟ้อง 4 ราย และศาลจังหวัดสงขลา 1 คดี มีชาวบ้านฟ้อง 2 ราย ซึ่งศาลได้พิพากษาในทำนองเดียวกันถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นว่า เป็นผลจากการประกอบกิจการการระเบิดหิน โดยที่โจทก์ในคดีศาลแขวงปัจจุบันได้รับเงินชดเชยตามฟ้องแล้ว ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ส่วนคดีศาลจังหวัด ยังไม่ได้รับการจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด โดยคดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา ปัจจุบันในการจ่ายค่าชดเชยต่อผู้เสียหายรายอื่นแม้จะมีความพยายามของบริษัทผู้ประกอบการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ประชาชนบ้าง แต่ก็ยังไม่ครบถ้วนทุกราย และไม่ครอบคลุมความเสียหายทั้งหมดแต่อย่างใด

แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการเหมืองหิน และหน่วยงานราชการในพื้นที่ขาดธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคม เพิกเฉยไม่เร่งรัดให้ผู้ประกอบการเหมืองหินดำเนินการรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนแต่อย่างใด และไม่ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพื่อให้ประชาชนได้อยู่อย่างสงบสุข ไม่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการเหมืองหิน

ผู้ร้องขอเรียนว่า หลังจากที่ได้มีการหยุดประกอบกิจการเหมืองหินเนื่องจากอยู่ระหว่างการขอต่อใบอนุญาตทำเหมือง มีความแตกต่างของสภาพทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ ก่อนที่จะมีการระเบิดหินนั้น แต่เดิมเขาคูหา ก็มีลักษณะเหมือนเขาทั่วไปที่มองในระยะไกลเป็นสีเขียวอันเกิดจากต้นไม้ปกคลุมไปทั่วบริเวณ มีความอุดมสมบูรณ์ มีพืชพรรณ สัตว์ป่า ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ต่อมา เมื่อมีการสัมปทานเหมืองหินเขาคูหา ภูเขาก็เริ่มเว้าแหว่งไปเรื่อยจน จะแยกขาดออกจากกัน เมื่อสังเกตจากภาพถ่ายทางอากาศจะพบว่า ไม่มีต้นไม้ปกคลุมบริเวณเหมือนดังแต่ก่อน ก่อให้เกิดทัศนอุจาดอย่างเห็นได้ชัดเจนจากริมถนนเพชรเกษม

แต่หลังจากที่มีการหยุดสัมปทานเหมืองหิน ตั้งแต่ปี 2553 พบว่า ประมาณปี 2557 น้ำในคลองเคียน เริ่มใสขึ้น สัตว์น้ำเริ่มมากขึ้น สามารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น และพื้นที่ที่อยู่ติดเขาคูหาสามารถทำนาได้ ไม่มีเสียงดังรบกวน ไม่มีแรงสั่นสะเทือนเหมือนแผ่นดินไหว ไม่มีฝุ่นละอองสร้างความรำคาญกวนใจภายในบ้านเรือน ในที่นาที่สวน สุขภาพเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจและสุขภาพพลานามัยของตนเองลดลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ตกใจต่อเสียงระเบิดหิน ไม่หวาดผวาต่อก้อนหินที่จะตกหล่นลงบนหลังคาเรือนตนเอง ประชาชนมีความสุขสงบ ดำรงอยู่ในชุมชนของตนเองกับสภาพแวดล้อมที่ดี

นอกจากนี้ ประชาชนในชุมชนเริ่มกลับมาอยู่อาศัยบริเวณโดยรอบเขาคูหา มีการสร้างบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้น บริเวณที่ประกอบกิจการเหมืองเริ่มมีพรรณไม้ขึ้นปกคลุม โดยเฉพาะด้านหลังเขาคูหา ทางทิศตะวันตกมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมเขียวอย่างเห็นได้ชัดเจนไม่เห็นสภาพเดิมที่มีเพียงก้อนหินกองอยู่ เห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อมีการหยุดประกอบกิจการเหมืองหินบนเขาคูหา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กลับฟื้นคืนสภาพ แต่ก็ใช้เวลาพอสมควร และทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบได้อยู่อย่างปกติสุข และสงบปราศจากมลพิษ และสิ่งรบกวน การประกาศแหล่งหินตามที่อ้างถึงมีความไม่ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายไม่เหมาะสม กล่าวคือ

การประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม ฉบับที่ 8 ตามที่อ้างถึงนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 มีเพียงนายอำเภอรัตภูมิ ได้ตรวจสอบสภาพพื้นที่ แล้วมีการนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในนามคณะกรรมการกำหนดแหล่งหินเพื่อการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมระดับจังหวัด เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้มีการประกาศให้เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมบางส่วน

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนแต่อย่างใดทั้งสิ้น หรือแม้แต่การที่จะคำนึงถึงความสำคัญของความเป็นเขาคูหา ทั้งในแง่มุมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในแง่มุมของวัฒนธรรมประเพณี และในแง่มุมของสิทธิชุมชน นอกจากนี้ ในการประกาศให้เขาคูหา เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า บริเวณที่จะมีการอนุญาตให้มีการทำกิจการเหมืองหินได้นั้นเป็นบริเวณใดแน่ชัด แต่ในประกาศกลับเขียนเพียงว่า ให้อนุญาตให้ประกอบกิจการเพียงบางส่วน และในแผนที่ที่ประกาศก็ไม่ระบุว่า เป็นส่วนใดของภูเขา

การออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเช่นนี้ ก่อให้เกิดการทำลายลักษณะภูเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนราชการเองก็กำหนดให้เป็นพื้นที่สำคัญทางสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดเป็นพื้นที่ประเภทลุ่มน้ำชั้น 1 บี และยังเป็นการทำลายเอกลักษณ์ สัญลักษณ์ ตำนาน วัฒนธรรมประเพณี ของชุมชนเขาคูหาให้เหลือเพียงแต่ชื่อ โดยที่ไม่ได้มีการสอบถามความคิดเห็น และฟังเสียงของประชาชนในชุมชน และไม่มีการแจ้งข้อมูลข่าวสารเพื่อให้มีการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด ซึ่งหากหน่วยงานราชการได้มีการสอบถามแล้วก็จะรับทราบว่า เขาคูหามีความสำคัญต่อชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร และชุมชนจะไม่อนุญาตให้เขาคูหาเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น และอาศัยตามสิทธิในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 56 ก็ดี รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 66 และมาตรา 67 ก็ดี ได้กำหนดถึงสิทธิชุมชน ซึ่งทางเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา สามารถใช้สิทธิส่วนบุคคล และชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมคุ้มครองรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อ สุขภาพ อนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของตน ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้รับรองถึงสิทธิดังกล่าวนี้ในมาตรา 4 ที่บัญญัติไว้ว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครอง ตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

ผู้ร้องเรียนจึงขอใช้สิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ในการขอให้หน่วยงานของท่านได้ดำเนินการเพิกถอน “เขาคูหา” ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ออกจากความเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2540 เสียนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป

จึงเรียนมาเพื่อทราบ และโปรดดำเนินการตามที่ร้องขอ หากท่านมีข้อขัดข้องสงสัยประการใด ขอให้ติดต่อผู้ร้องเรียนได้ตามที่อยู่ข้างต้น ขอแสดงความนับถือ นายเอกชัย อิสระทะ, นายกฤษณรักษ์ จันทสุวรรณ, นายครื้น บุญรัตน์, นายสุทธิวงศ์ รักเงิน, นายบรรจง ทองเอื่อย, นายประเวศ จันทะสระ, นายสุวรรณ อ่อนรักษ์, นายนิพนธ์ ปราบฤทธิ์ และ น.ส.อรปรียา บุญรัตน์
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น