xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสิเกาออกหา “หอยชักตีน” ปรุงเมนูยอดฮิตสร้างรายได้งาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - ชาวสิเกา เมืองตรัง รวมตัวออกหา “หอยชักตีน” วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็นช่วงน้ำทะเลลด นำมาทำเมนูยอดฮิตสร้างรายได้ให้ครอบครัวอย่างงดงาม

วันนี้ (22 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบรรจง นฤพรเมธี ประธานกลุ่มท่องเที่ยวบ่อหินฟาร์มสเตย์ อ.สิเกา จ.ตรัง องค์กรชุมชนเจ้าของรางวัลกินรีท่องเที่ยวชุมชน ประจำปี 2556 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า หอยชักตีน หรือหอยสังข์กระโดด เป็นหอยประจำถิ่นที่สามารถพบได้ทั่วไป ทั้งในฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะที่ จ.ตรัง กระบี่ ภูเก็ต พังงา และสตูล มักพบหอยชนิดนี้อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นทรายปนโคลน และบริเวณหญ้าทะเลเขตน้ำขึ้นน้ำลง ไปจนถึงในระดับความลึกประมาณ 55 เมตร

 
สำหรับการที่เรียกกันว่าหอยชักตีนนั้น ก็เพราะตัวหอยมีลักษณะพิเศษ ตรงบริเวณปากจะมีติ่งคล้ายๆ เล็บสีน้ำตาลยื่นออกมาเพื่อใช้สำหรับเดิน ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่าตีน อีกทั้งในการกินหอยชนิดนี้จะต้องดึงส่วนที่เรียกว่าตีน เพื่อให้ตัวหอยหลุดตามออกมา ดังนั้น ชาวบ้านจึงเรียกหอยชนิดนี้กันติดปากว่า หอยชักตีน และนำไปทำเป็นเมนูอาหารทะเลจานเด็ดอย่างแพร่หลาย ส่วนเปลือกหอยหากนำไปทำความสะอาด ก็ยังสามารถประดิษฐ์เป็นของที่ระลึก หรือของประดับบ้านที่สวยงามได้อีกด้วย

 
นายฉลอง มาศโอสถ ชาวประมงตำบลบ่อหิน กล่าวว่า ชาวบ้านจะออกไปหาหอยชนิดนี้กันวันละ 2 รอบ ในตอนเช้า และเย็นช่วงน้ำลง และเก็บหอยได้วันละ 5-6 กิโลกรัม โดยมีพ่อค้ามารับซื้อราคากิโลกรัมละ 50 บาท แต่หากนำไปปรุงแล้วจะขายได้กิโลกรัมละ 120-150 บาท ส่วนเคล็ดลับความอร่อยก็คือ การนำเอาหอยชักตีนสดๆ มาแช่ในน้ำเกลือเพื่อให้คลายโคลนออกหมด ก่อนต้มให้หอยสุก แล้วใช้ไม้จิ้มฟันดึงหอยออกมาจากเปลือก ยกเว้นส่วนที่เป็นตีนให้กัดทิ้งไป เมื่อจิ้มกับน้ำจิ้มซีฟูดก็จะสัมผัสได้ถึงความหวานของเนื้อหอย


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น