xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนร้องผู้ว่าฯ ภูเก็ตช่วย อุทยานตรวจที่ทำกิน บางคนไม่มีหลักฐานยืนยันอยู่ตามมติ ครม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ชาวสวนยางพารา สวนผลไม้พื้นที่ 3 ตำบล ใน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ร้องผู้ว่าฯ เดือดร้อนจากมาตรการของอุทยานที่จะเข้าตรวจสอบพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน อ้างทำกินมานาน แต่บางคนไม่มีหนังสือรับรองตามมติ ครม.มาแสดง หวั่นถูกตัดโค่นทำลายต้นยางพารา และผลไม้

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (10 ก.ค.) ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 3 หมู่ 4 ต.เทพกระษัตรี หมู่ 3 ต.เชิงทะเล และหมู่ที่ 6 ต.สาคู ประมาณ 50 คน เดินทางมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม และความเห็นใจจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ เพื่อขอให้ช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านซึ่งประกอบอาชีพทำสวนยางพารา และสวนผลไม้ในพื้นที่อำเภอถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นการครอบครองที่ดินในพื้นที่อนุรักษ์ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2541 กำลังได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากทางอุทยานจะดำเนินการเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน หากรายใดไม่มีหนังสือรับรองตามมติคณะรัฐมนตรีทางอุทยานก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย และจะตัดโค่นทำลายต้นยางพารา และต้นผลไม้ต่างๆ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะทำให้ชาวบ้านบางส่วนไม่มีหนังสือรับรองตามมติ ครม.มาแสดงได้รับความเดือดร้อน

อย่างไรก็ตาม ในการยื่นหนังสือในครั้งนี้ นายณรงค์ฤทธิ์ รอดดำ และนายศุภฤกษ์ ชูมนุษย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เดือดร้อนได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายภาคภูมิ อินทรสุวรรณ ปลัดจังหวัดภูเก็ต ซึ่งลงมารับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านแทนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตที่ติดภารกิจ

โดยใจความส่วนหนึ่งของหนังสือร้องเรียนระบุว่า ชาวบ้านซึ่งมีอาชีพทำสวนยางพารา สวนผลไม้ ในพื้นที่ 3 ตำบล ซึ่งเป็นผู้มีชื่ออยู่ในแบบจำนวนประมาณ 270 คน และนอกสำรวจอีกประมาณ 30 คน รวมประมาณ 300 คน ที่จะได้รับความเดือดร้อน จากกรณีที่ทางอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จะเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งที่ผ่านมา ชาวบ้านได้แจ้งความประสงค์ไปยังหัวหน้าอุทยานขอให้โอกาสชาวบ้านที่ยังไม่ได้มีการแจ้งสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรี ได้นำหลักฐานมาแสดงขอแจ้งสิทธิอีกครั้ง เพราะยังมีชาวบ้านที่ตกค้างไม่ได้แจ้งสิทธิอีกจำนวนมาก ซึ่งคนเหล่านั้นมีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าได้อยู่อาศัยทำกินในที่ดินมาก่อนปี 2541 จริง

ซึ่งมีหลักฐานหลายอย่าง เช่น หลักฐานการขอสำเนาทะเบียนบ้านต่อที่ว่าการอำเภอถลาง หลักฐานการชำระภาษีที่ดินต่อหน่วยงานราชการ หลักฐานการได้รับสงเคราะห์สวนยางพาราจากหน่วยงานราชการ หลักฐานความน่าเชื่อถือของบุคคลที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ทางกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจึงเดินทางมายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้ช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านในครั้งนี้ เพื่อให้ชาวบ้านได้มีอาชีพในการทำมาหากินต่อไป

นายภาคภูมิ อินทรสุวรรณ ปลัดจังหวัดภูเก็ต กล่าวภายหลังรับหนังสือ ว่า จะนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตถึงข้อร้องเรียนของชาวบ้านในครั้งนี้ และคิดว่าเรื่องนี้น่าจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานลงไปสำรวจพื้นที่ว่ามีความเป็นมาอย่างไรต่อไป เพราะการที่หน่วยงานราชการจะเข้าไปดำเนินการอะไรก็จะต้องมีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อเท็จจริงก่อนว่ามีสภาพเป็นอย่างไร

นายณรงค์ฤทธิ์ รอดดำ และนายศุภฤกษ์ ชูมนุษย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เดือดร้อน กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านกำลังเดือดร้องจากมาตรการของอุทยานที่จะเข้าไปตรวจสอบที่ทำกินของชาวบ้านที่ได้รับหนังสือรับรองตามมติ ครม.ให้อาศัยทำประโยชน์ในที่ดินก่อนปี 2541 ซึ่งในพื้นที่เดียวกันนั้นยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ตกสำรวจ จึงอยากให้ทางราชการช่วยให้มีการสำรวจใหม่อีกครั้ง เนื่องจากชาวบ้านที่ตกสำรวจก็อยู่กันมานาน และอยู่กันมาก่อนที่จะมีมติ ครม.ดังกล่าวอีก

เช่นเดียวกับชาวบ้านอีกหลายรายที่กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หลังจากที่อุทยานนำป้ายไปปิดประกาศไม่ให้มีการแผ้วถาง ปลูกเพิ่ม หรือต่อเติมบ้านพักซึ่งใช้อาศัยกันมาเป็นเวลานาน ให้เก็บได้เพียงผลอาสินเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถทำอะไรในสวนผลไม้ หรือสวนยางที่ตัวเองอยู่มากว่า 40 ปีแล้ว จึงอยากให้หน่วยงานรัฐช่วยเหลือเพื่อให้ชาวบ้านได้มีที่ทำกินต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น