เดือนพฤษภาคมนี้ โรงเรียนเปิดเทอมแล้ว เด็กๆก็ต้องเตรียมตัวไปโรงเรียน “บัวน้อย” เองก็ต้องเตรียมพร้อมให้ “เจ้าเม็ดบัว” หลานตัวจิ๋ว ทั้งหาซื้อเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า สมุด หนังสือ ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด จัดเต็มรับเปิดเทอม
พูดถึงดินสอแล้ว “บัวน้อย” น่ะ ห่างหายกับดินสอไปหลายสิบปี นับตั้งแต่จบชั้นประถม เพราะมีปากกาเข้ามาแทนที่ แต่เมื่อได้เห็นศิลปะอันน่าทึ่งที่ปรากฏอยู่บนไส้ดินสอ ก็รู้สึกอึ้งและหลงเสน่ห์ของดินสอขึ้นมาอีกครั้ง
คนที่ทำให้ดินสอธรรมดาๆ กลายเป็นงานศิลปะที่มีเสน่ห์น่ารัก และสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคนก็คือ “ดาลตัน เอ็ม เก็ตตี้” หนุ่มใหญ่วัย 54 ปี
ดาลตันเกิดและเติบโตในนครเซา เปาโล ประเทศบราซิล ในปี 1961 แต่เมื่ออายุ 24 ปี ก็อพยพมาอยู่ในสหรัฐอเมริกา เขาเรียนจบปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรม จากวิทยาลัยเทคนิคชุมชนนอร์วอล์ก รัฐคอนเนคทิคัต และทำงานเป็นช่างไม้ ช่างต่อเติมบ้าน
ย้อนไปเมื่ออายุ 6 ปี เขาเริ่มต้นเรียนรู้การใช้มีดพกเหลาดินสอ และเมื่ออายุ 8 ปี แม่ซึ่งเป็นช่างเย็บผ้า ได้สอนให้เขาใช้เข็มเย็บผ้า ช่วยงานง่ายๆ เช่น เย็บริมผ้า ติดกระดุม
แววแห่งการเป็นศิลปินของดาลตันเริ่มขึ้นเมื่ออายุ 9 ปี พ่อแม่ได้มอบชุดเครื่องมือโลหะสำหรับเด็ก ซึ่งเขานำมาใช้ทำกล่องของเล่น และรถโกคาร์ท แล้วก็เริ่มงานแกะสลักด้วยมีด สิ่ว และค้อน โดยได้ประดิษฐ์สิ่งต่างๆจากวัสดุทุกประเภทเป็นจำนวนมาก
ตอนแรกๆ เขาก็แกะสลักวัตถุชิ้นใหญ่ แต่ด้วยความสนใจสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่น แมงมุม มด บวกกับความอยากท้าทายตัวเอง เขาจึงหันมาแกะสลักวัตถุชิ้นเล็กที่สุดเท่าที่ตามองเห็น นั่นคือ การแกะสลักไส้ดินสอ ซึ่งเริ่มขึ้น เมื่อเขาอายุ 25 ปี และเรียนรู้ด้วยตัวเอง
ศิลปินหนุ่มใหญ่บอกว่า “ตอนอยู่โรงเรียน ผมแกะสลักชื่อเพื่อนคนหนึ่งลงบนด้ามดินสอ และมอบให้เขาเป็นของขวัญ ต่อมาเมื่อผมหันมาสนใจงานประติมากรรม ผมได้ประดิษฐ์งานชิ้นใหญ่ โดยแกะสลักจากไม้ แต่ในที่สุด ผมอยากท้าทายตัวเอง จึงพยายามประดิษฐ์สิ่งต่างๆให้เล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมทดลองแกะสลักวัสดุต่างๆ เช่น แท่งชอล์ก แต่แล้วในวันหนึ่ง ผมจึงค้นพบสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน นั่นก็คือ การแกะสลักไส้ดินสอ”
แนวคิดของดาลตันที่หันมาแกะสลักไส้ดินสอ ก็เพื่อให้คนทั่วไปหันมาสนใจสิ่งของเล็กๆ เพราะเขาเชื่อว่า วัตถุเล็กๆนั้นมีความสวยงาม
ดินสอส่วนใหญ่ที่เขานำมาแกะสลักซึ่งมีทั้งแบบกลมและแบนนั้น ไม่ได้ซื้อหามาจากไหน แต่เก็บมาจากริมถนน งานของเขาจึงเป็นการรีไซเคิล เปลี่ยนของที่ทิ้งแล้ว ให้กลายเป็นงานศิลปะได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เมื่อใดที่รู้สึกอยากสร้างชิ้นงาน ดาลตันจะไปนั่งที่โต๊ะประจำ แล้วใช้เครื่องมือพื้นฐาน 3 ชิ้น คือ ใบมีดโกน เข็มเย็บผ้า และมีดแกะสลักทรงสามเหลี่ยมขนาดเล็กที่คมมาก แกะสลักแค่ 1-2 ชม. ต่อวัน เขาบอกว่า “ผมใช้เข็มเย็บผ้าเจาะลงบนไส้ดินสอ เกาให้เป็นเส้นสาย และใช้มือหมุนไส้ดินสอไปรอบๆอย่างช้าๆ” ซึ่งบางครั้งกว่าจะแกะสลักงานชิ้นหนึ่งสำเร็จ ต้องใช้เวลาหลายเดือน หรือบางครั้งเป็นปีๆทีเดียว
แรกๆเมื่อดาลตันแกะสลักชิ้นงาน เขารู้สึกหงุดหงิด ที่ไส้ดินสอหักลงก่อนจะสำเร็จ แต่หลังจากที่ผ่านการแกะสลักมานานหลายเดือน เขาเล่าว่า “ผมจะบ้าตาย ตอนที่มือหนักไปหน่อย จนทำให้ไส้ดินสอหัก โดยเฉพาะตอนใกล้เสร็จ ผมจึงตัดสินใจเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงาน จากเดิมที่เริ่มต้นแกะสลักงานชิ้นใหม่ ผมจะคิดเสมอว่า เดี๋ยวมันก็หักในที่สุด แล้วมันก็หักจริงๆ ทีนี้ผมก็หันมาคิดใหม่ว่า ผมจะแกะสลักได้ถึงแค่ไหน ซึ่งเมื่อคิดอย่างนี้ มันแทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ผมทำดินสอหักน้อยลง ไม่บ่อยเหมือนเมื่อก่อน”
สำหรับดาลตันแล้ว การแกะสลักดินสอถือเป็นงานอดิเรก และเป็นรูปแบบหนึ่งของการปฏิบัติสมาธิ ซึ่งต้องอาศัยความอดทนและความละเอียดอ่อนสูง ที่สำคัญ ผลงานแกะสลักไส้ดินสอของเขามิใช่ทำไว้ขาย แต่เป็นงานศิลปะล้วนๆ ที่ทำจากใจ มอบให้กับเพื่อนฝูง
เขามีกล่องใบหนึ่ง เรียกว่า “คอลเลกชั่นสุสาน” ไว้เก็บผลงานแกะสลักมากกว่า 100 ชิ้น ซึ่งเป็นไส้ดินสอที่หักขณะยังแกะไม่เสร็จ เขาบอกว่า “ผมนำไส้ดินสอที่หักมาติดกับปลายเข็ม และเสียบลงบนโฟม คนทั่วไปอาจคิดว่า ผมแปลก..ที่เก็บพวกนี้ไว้ แต่สิ่งเหล่านี้ยังมีความน่าสนใจอยู่นะ เพราะผมใช้เวลาแกะสลักนานหลายเดือน พวกนี้อาจตายไปแล้ว แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผมก็ชุบชีวิตพวกมันขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้ในการจัดแสดงผลงานของผม”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 173 พฤษภาคม 2558 โดย บัวน้อย)