ตรัง - กลุ่ม OTOP บ้านนายอดทอง สาน “หมาจาก” ภาชนะตักน้ำอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จนมียอดการสั่งซื้อเข้ามาจากทุกภาคเดือนละไม่ต่ำกว่ากว่า 1,500 ชิ้น สร้างรายได้เพื่อสู้ต่อปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้เป็นอย่างดี
วันนี้ (30 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสุจินต์ ไข่ริน ประธานกลุ่ม OTOP จักสานก้านจากบ้านนายอดทอง ต.วังวน อ.กันตัง จ.ตรัง กล่าวว่า หมาจาก หรือติหมา ภาชนะตักน้ำอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นมาจากก้านจากพืชเก่าแก่จำพวกปาล์ม และขึ้นอยู่มากในแนวป่าชายเลน นับเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวตรังที่กำลังจะสูญหายไปจากวิถีชุมชนแล้ว อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อ.กันตัง ได้เข้ามาช่วยคิดค้นผลิตภัณฑ์ก้านจากแบบใหม่ๆ ออกสู่ตลาด นอกเหนือไปจากผลิตภัณฑ์จักสาน เช่น ภาชนะใส่ของ ฝาชี สังเวียน หรือโคมไฟ แล้ว ก็สามารถสร้างชื่อเสียง และได้รับความนิยมจากลูกค้าทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะ หมาจาก หรือติหมา ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นมาจากก้านจาก ด้วยการนำใบจากมาตัด ลอก และตากแดดให้แห้ง ก่อนนำมาพับเรียงเป็นตับ และมัดให้แน่นก็สามารถนำไปใช้เป็นภาชนะสำหรับตักน้ำในกะละมัง หรือตุ่ม รวมทั้งในบ่อ ลำห้วย ลำคลอง และใช้วิดน้ำในเรือหางยาวของชาวบ้านสมัยก่อน แต่ปัจจุบัน กลุ่ม OTOP จักสานก้านจากบ้านนายอดทอง และ กศน.กันตัง ได้คิดค้นนำ หมาจาก หรือติหมา มาประยุกต์ใช้ในการใส่อาหาร และเครื่องดื่ม ตลอดจนประดับตกแต่งบ้าน สำนักงาน โรงแรม รีสอร์ต และโฮมสเตย์ ทำให้มียอดการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาค โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวเดือนละไม่ต่ำกว่ากว่า 1,500 ชิ้น จนสามารถสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในกลุ่มได้อย่างงดงาม
น.ส.อุทุมพร ดาบทอง ครูอาสา กศน. อ.กันตัง กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลวังวน ได้ตั้งกลุ่มจักสานก้านจากบ้านนายอดทอง เมื่อปี 2540 ก่อนพัฒนามาเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่ม OTOP โดยล่าสุด ได้พัฒนามาเป็นการประดิษฐ์หมาจาก หรือติหมา โดยการคิดของ นางปราณี จรุงสุจิตกุล หนึ่งในสมาชิก ส่งผลให้ขณะนี้กลายเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว และชาวต่างจังหวัด ทั้งขนาดเล็กราคาใบละ 20 บาท และขนาดใหญ่ราคาใบละ 30 บาท เพราะสามารถทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งได้อย่างสวยงาม ตลอดจนซุ้มประตู และกระถางดอกไม้ จึงมียอดการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาจำนวนมาก จนทางกลุ่มผลิตส่งขายแทบไม่ทัน สามารถสร้างเงินสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน เพื่อสู้ต่อปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้เป็นอย่างดี