พัทลุง - ชาวบ้านใน ต.โคกชะงาย อ.เมืองพัทลุง หลายครอบครัวใช้เวลาว่างหลังจากกรีดยาง และทำนามาประกอบอาชีพเสริมด้วยการเย็บตับจาก จากใบสาคู ส่งขายเป็นวัสดุมุงหลังคาที่ยังได้รับความนิยมในท้องถิ่น เผยมีรายได้เข้าหมู่บ้านกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน
ชาวบ้านหมู่ที่ 5 ต.โคกชะงาย อ.เมือง จ.พัทลุง ใช้เวลาว่างจากงานหลักมาเย็บจาก ซึ่งเป็นวัสดุที่ได้มาจากใบของต้นสาคู ซึ่งงานเย็บจากเป็นอาชีพ และมรดกทางภูมิปัญญาตกทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย สามารถสร้างรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว โดยมีพ่อค้าแม่ค้า มารับซื้อถึงที่ในราคาตับละ 15 บาท ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นหมู่บ้านตับจาก หากลูกค้า หรือชาวบ้านต้องการมุงหลังคาขนำ กระท่อม หรือสร้างโรงเพาะเห็ดก็ต้องนึกถึงที่นี่
นางคลิ้ง ดำยัง อายุ 70 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3 ม.5 ต.โคกชะงาย อ.เมือง จ.พัทลุง หนึ่งในชาวบ้านที่ดำรงชีพด้วยการเย็บตับจาก จากต้นสาคู กล่าวว่า การเย็บตับจากเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ตั้งแต่ราคาตับละ 50 สตางค์ จนปัจจุบันราคาตับละ 15 บาท ทั้งนี้ ตับจาก จากต้นสาคูได้รับความนิยมในการทำขนำ หรือในงานก่อสร้างเล็กๆ และโรงเพาะเห็ด เนื่องจากราคาถูกกว่าสังกะสี และกระเบื้อง ปัจจุบันตนเย็บตับจากได้ประมาณวันละ 30-40 ตับ โดยเดือนหนึ่งเย็บตับจากได้ประมาณ 800-900 ตับ สร้างรายได้ต่อเดือนประมาณ 10,000-12,000 บาท พอที่จะเป็นรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว
ป้าคลิ้ง ยังกล่าวให้ฟังอีกว่า ปัจจุบันมีต้นสาคูที่นำใบมาเป็นวัตถุดิบในการเย็บตับจาก มีอยู่ประมาณ 100 ไร่ ตามริมลำคลองท้ายบ้าน โดยชาวบ้านในหมู่บ้านหลายครอบครัวจะใช้เวลาว่างหลังจากกรีดยาง และทำนามาประกอบอาชีพเสริมโดยการเย็บตับจาก เดือนหนึ่งจะมีเงินเข้าหมู่บ้านกว่า 1 แสนบาท
“การเย็บใบสาคูเพื่อใช้เป็นวัสดุในการมุงหลังคานั้นเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณ สมัยก่อนคนจะใช้ใบไม้มุงหลังคาทำเป็นที่อยู่อาศัย หรือที่จัดเลี้ยงรับแขกในงานบุญต่างๆ เมื่อวิถีสังคมเปลี่ยนแปลงไปมีการใช้กระเบื้อง สังกะสีมามุงหลังคาแทน แต่การเย็บใบสาคูก็ยังไม่หมดไป เพราะตับจากใบสาคูยังเป็นที่นิยมของผู้ใช้ แม้ภูมิปัญญาด้านนี้จะกำลังเลือนหายไปก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังมีต้นสาคู ก็เชื่อว่ายังมีการเย็บตับจากสร้างรายได้เสริมได้ต่อไป”
ป้าคลิ้ง กล่าวและว่า วิธีการเย็บใบสาคูเพื่อใช้มุงหลังคามีขั้นตอนคือ 1.เลือกใบสาคูที่แก่ มีขนาดใหญ่ ใบสวยงามไม่ฉีกขาด 2.นำใบสาคู จำนวน 4-5 ใบ มาวางซ้อนเหลื่อมกันแล้วพับทบกับไม้ตับจากที่ทำจากไม้ต้นหมาก เสร็จแล้วเย็บให้แน่น
โดยใช้เชือกที่ทำจากต้นคล้า หรือชื่อท้องถิ่นว่าต้นฆูแม ซึ่งมีความเหนียว และคงทนกว่าเชือกพลาสติก และทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อยจนสุดปลายไม้ตับจาก จากนั้นจึงมัดให้แน่นไม่ให้หลุด และนำไปตากแดดให้แห้ง ใบสาคูที่นำมาเย็บเป็นตับจากจะมีความทนทาน โดยปกติจะมีอายุการใช้งาน 6-10 ปี แต่ถ้านำใบสาคูไปแช่น้ำเสียก่อนประมาณ 15 วัน ถึง 1 เดือน จะมีอายุการใช้งานได้นานกว่า 10 ปี
สำหรับต้นสาคูที่ชาวบ้านนำใบมาเย็บเพื่อใช้เป็นวัสดุมุงหลังคาลักษณะเดียวกับใบจากนั้น เป็นพืชในตระกูลปาล์ม มีลักษณะคล้ายต้นมะพร้าว สูงประมาณ 8-10 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อจากรากเหง้าของต้นเดิม เติบโต และอยู่เหนือผิวดินทางด้านหลังของต้นเดิม ทางใบตั้งเกือบตรง กาบและทางใบมีสีเขียว ใบคล้ายใบมะพร้าวแต่ยาวใหญ่ และหนากว่า เมื่อโตเต็มที่จะมีจั่นดอกแตกออกตรงส่วนยอด เมื่อออกผล และมีผลสาคูก็จะหยุดความเติบโต และยืนต้นตาย
ต้นสาคู จะขึ้นอยู่ในที่ลุ่มน้ำชื้นแฉะบริเวณลุ่มน้ำคลองทั่วไปของภาคใต้ บริเวณที่สาคูขึ้นอยู่ จะเรียกว่าป่าสาคู สาคูนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น แป้งสาคูใช้ประกอบอาหาร ใบสาคูใช้มุงหลังคา โดยเย็บเป็นจากสาคู ทางสาคูนำไปทำเป็นคอกสัตว์ได้ ยอดอ่อนนำไปสุมกับทางสาคู ประมาณ 1-2 เดือน ก็จะเกิดด้วงสาคู นำไปคั่วเกลือรับประทานเป็นอาหารพื้นบ้านที่ได้รับความนิยม ขณะที่ป่าสาคูยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าสาคู คือ บ่อน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในฤดูแล้ง และแป้งสาคูยังนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ หมู ได้ดีอีกด้วย