xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.อุตสาหกรรมปัตตานีชี้อุตสาหกรรมประมงจ่อปิด 30 บริษัท วอนรัฐแก้ กม.ขึ้นทะเบียนเรือประมงให้ถูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ปัตตานี - ประธานอุตสาหกรรมปัตตานี เผยผลกระทบเทียร์ 3 ภาครัฐตรวจเข้มค้ามนุษย์ภาคประมง งดออกอาชญาบัตรเรือประมง 3,214 ลำ ส่งผลกระทบโรงงานอุตสาหกรรมจ่อปิด 30 บริษัท หากรัฐไม่เร่งแก้กฎหมายขึ้นทะเบียนประมงให้ถูกต้อง

วันนี้ (26 มิ.ย.) จากกรณีสหรัฐได้ประกาศให้เทียร์ 3 และอียูให้ใบเหลืองภาคการประมงของประเทศไทย ซึ่งตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา การแก้ปัญหาดังกล่าวยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควรประกอบกับทางภาครัฐเองได้เข้ามากวดขันต่อแรงงานต่างด้าว ทำให้กระทบต่อภาคการประมงโดยตรง นอกจากนี้ ทางภาครัฐไม่ออกใบอาชญาบัตรให้แก่เรือประมงผิดกฎหมาย ทำให้เรือประมงกว่า 3 พันลำต้องหยุดออกหาปลา ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการประมงในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม แพปลา และโรงงานแช่เข็ง เพราะไม่มีวัตถุดิบในการผลิต ทำให้สูญเสียรายได้ และต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นยู่อย่างนี้ผู้ประกอบการกว่า 30 บริษัทในพื้นที่ก็ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ และอาจตัดสินใจขายกิจการทิ้ง หากภาครัฐยังไม่แก้ปัญหาเรือประมงผิดกฎหมายอย่างถูกต้อง

นางสุภาวดี โชคสกุลนิมิต ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ประกาศให้เทียร์ 3 ที่เกี่ยวต่อการค้ามนุษย์แก่ประเทศไทย ทำให้ภาครัฐเข้ามาเข้มงวดต่อแรงงานต่างด้าวมากขึ้น จึงเกิดปัญหาเรื่องของการส่งออกไปอียูไม่ได้ เพราะติดปัญหาในเรื่องการค้ามนุษย์ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของ 8 องค์กรที่จะเข้ามาแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวเพื่อจะสามารถส่งออกได้ จนกระทั่งอียู ได้ให้ใบเหลืองแก่เรือประมงที่ผิดกฎหมาย จึงทำให้ภาครัฐเกิดการเข้มงวดตรวจจับเรือประมงผิดกฎหมาย แรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์ ซึ่งภาครัฐได้ประกาศว่าภายใน 6 เดือน จะแก้ปัญหาเหล่านี้ให้จบ และสั่งให้เรือประมงผิดกฏหมาย 3,214 ลำไม่ให้ออกอาชญาบัตร หรือใบอนุญาตเครื่องมือทำการประมง

หากฝ่าฝืนก็จะจับ และยึดเรือทันที ทำให้กลุ่มชาวประมงได้รับผลกระทบรวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่อประมงก็ต้องหยุดโดยทันทีเช่นกัน ทำให้ต้องสูญเสียเม็ดเงินไปกว่า 2 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี และหากเปรียบเทียบกับผู้ได้รับผลกระทบในทางอ้อมหลายอาชีพก็อาจจะสูญเสียเม็ดเงินไปกว่า 7 แสน 2 หมื่นล้านบาทต่อปี รวมทั้งเรือประมงที่ต้องใช้น้ำมันหากเรือประมงกว่า 3 พันลำหยุด ตัวเลขอาจหายไป 1 หมื่นกว่าล้าน ทำให้ยอดตัวเลขที่หายไปกว่า 7 แสน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งตัวเลขขนาดนี้จะเกิดปัญหาแบบโดมิโน คือตายทั้งระบบ

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาเรือประมงที่ผิดกฎหมายไม่ใช่เรื่องยาก คือ เมื่อ อียู ให้ใบเหลืองเรือประมงไทยที่ผิดกฎหมาย โดยที่ไม่ได้ระบุว่าผิดกรณีใด แต่แค่ให้ออกกฎหมายที่สอดคล้องต่อสากล ฉะนั้นแนวทางการแก้ไขก็คือ ขึ้นทะเบียนเรือประมงทั้งหมดให้ถูกกฎหมาย เมื่อขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายแล้วก็ให้เอากฎระเบียบไอยูยู มาจับตรวจสอบว่ามีเครื่องมือประเภทไหนที่สอดคล้องต่อกฎหมายสากล นี่คือการแก้ไขที่ถูกต้อง

และหากปัญหานี้ยังไม่สามารถแก้ไข ตนเชื่อว่าไม่ถึง 3 เดือน จะกระทบเป็นลูกโซ่ทันที โดยเฉพาะโรงงาน ภาคอุตสาหกรรม ต้องปิด หรือหยุดกิจการทันที โดยเฉพาะที่กระทบโดยตรง คือ แพปลา และโรงงานอุตสาหกรรมเพราะไม่มีวัตถุดิบในการผลิต ในระยะแรกอาจจะปลดพนักงานออก ก่อนจะปิดกิจการ บอกตรงๆ ว่าขณะนี้เริ่มที่จะมีโรงงานหลายแห่งเตรียมหยุดกิจกรรม และประกาศขายกิจการถ้ามีคนซื้อ โดยเฉพาะโรงงานปลาป่น โรงน้ำแข็ง ห้องเย็น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ล้มแน่นอน ฉะนั้นทั้งประเทศ 22 จังหวัดมูลค่าการส่งออกที่หายไปหลายแสนล้าน คนงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องตกงานหลายแสนคน

ส่วนปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขคือ แรงงานต่างด้าว ยอมรับว่าแรงงานต่างด้างขาดไม่ได้ เพราะอาชีพประมงคนไทยไม่นิยมทำ หรือมีน้อยมาก ฉะนั้นควรเปิดเสรีให้ขึ้นทะเบียนได้ทั้งปี เมื่อถูกต้องเราก็ได้แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายตอบโจทย์ไอยูยู และได้มีข้อมูลแรงงานทุกคน ไม่ต้องไปซุ่มจับตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งภาครัฐต้องมองให้เห็นตรงจุดนี้ เพราะผู้ทำธุรกิจจะอยู่หน้างาน และรู้ปัญหาวิธีแก้มากกว่าผู้ที่ไม่รู้เรื่องแก้ไม่ตรงจุด
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น