ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เทศบาลตำบลวิชิต ดึง “สมิทธ ธรรมสโรช” บรรยายพิเศษเพิ่มทักษะแก่ประชาชนเพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินจากสาธารณภัย แผ่นดินไหว/สึนามิ ในอนาคต ด้าน ดร.สมิทธ เน้นย้ำให้เตรียมความพร้อมและฝึกซ้อมหนีภัยอย่างต่อเนื่อง จากที่ภูเก็ตอยู่ในแนวรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยพาดผ่าน โอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมีสูง
เมื่อเวลา 09.40 น.วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมอาคารตะเภาใหญ่ เทศบาลตำบลวิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการซ้อมแผนอพยพผู้ประสบสาธารณภัย (สึนามิ) ประจำปี 2558 โดยจัดการบรรยายเรื่อง “การเกิดแผ่นดินไหว/สึนามิ บทเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว/สึนามิ และการเตรียมการรับมือในอนาคต” โดย ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งทางเทศบาลตำบลวิชิต จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเตรียมความพร้อมในการรับมือจากแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิ สร้างการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการช่วยเหลือประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวในการป้องกัน และช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติ มีประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยหมู่ที่ 6, 7 และ 8 สถานประกอบการโรงแรม นักเรียนในเขตเทศบาล ห้างสรรพสินค้า และหน่วยงานราชการในพื้นที่ จ.ภูเก็ต เข้าร่วม
นายกรีฑา โชติวิชญ์พิพัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลวิชิต กล่าวถึงการจัดโครงการดังกล่าวขึ้นในวันนี้ ว่า ด้วยจังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะที่มีน้ำทะเลล้อมรอบ และตั้งอยู่ติดกับทะเลอันดามัน ซึ่งเคยได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ จ.ภูเก็ต ได้รับความเสียหายในหลายพื้นที่ และสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ของเทศบาลตำบลวิชิต ได้แก่ คลองมุดง อ่าวยนต์ แหลมพันวา และพื้นที่ชายฝั่งอื่นๆ ของจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ถือเป็นเหตุการณ์ภัยพิบัติรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมในการฝึกซ้อมเพื่ออพยพประชาชนและช่วยเหลือผู้ประสบภัยเมื่อเกิดสถานการณ์จริงไปยังจุดอพยพที่ปลอดภัย อีกทั้งให้ประชาชนได้ทราบ และมีความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้สามารถลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้
เทศบาลตำบลวิชิต จึงได้จัดทำโครงการซ้อมแผนอพยพผู้ประสบสาธารณภัย ประจำปี 2558 ขึ้นดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมของหน่วยงานหลัก และหน่วยงานสนับสนุนในการปฏิบัติการในการเตรียมรับภัยจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ เพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย สถานประกอบการทั่วไป อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักเรียน ประชาชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวในพื้นที่ในระบบการป้องกัน และช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง ให้ประชาชนได้ทราบและมีความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติเมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น และเพื่อเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชน
ด้าน นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกประสบภัยซึ่งเกิดจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากแผ่นดินไหว อัคคีภัย อุทกภัย วาตภัย ทำให้พื้นที่ที่เกิดภัยธรรมชาติเหล่านี้ล้วนได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทั้งสิ้น ซึ่งความเสียหายเหล่านี้ใช่ว่าจะเรียก หรือซ่อมแซมฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้ทันทีทันใด ความเสียหายบางอย่างอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือก็ไม่อาจเรียกคืนได้ เช่น ชีวิตประชาชนผู้สูญเสียไปพร้อมกับภัยพิบัตินั้น
สำหรับประเทศไทยอาจเป็นภัยของน้ำท่วม ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานจนกลายเป็นภัยแล้ง หรือภัยจากแผ่นดินไหว มีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะการเกิดแผ่นดินไหวก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดภัยสึนามิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดในทะเล ซึ่งประเทศไทยเคยประสบภัยสึนามิมาแล้วเมื่อปี พ.ศ.2547 สร้างความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การจัดให้มีบรรยายดังกล่าวเชื่อจะช่วยเพิ่มทักษะในการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนการช่วยเหลือผู้อื่นที่ประสบภัยจากแผ่นดินไหว หรือสึนามิ นายสมเกียรติ กล่าว
ขณะที่ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวในขณะทำหน้าที่บรรยายให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ใจความสำคัญตอนหนึ่ง ได้เน้นย้ำเรื่องการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ กรณีจะเกิดภัยพิบัติ ต้องปฏิบัติตัวยังไง นอกจากนี้ ขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเน้นจัดกิจกรรมให้ความรู้กลุ่มเด็ก เยาวชน ให้เข้าใจเรื่องการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติ ให้มีการฝึกซ้อมแผนบ่อยครั้งเพื่อให้เกิดความชำนาญ เมื่อรับรู้ข่าวสารอย่าตื่นตระหนก ต้องมีสติ ตรวจสอบข่าวสารให้แน่ชัด และเตรียมพร้อมปฏิบัติตัวเพื่อรับมือต่อเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยนั้นๆ เพราะภูเก็ตมีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวจากพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากมีรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่าน