ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สาธารณรัฐชิลี เปิดสถานกงสุลฯ ที่ภูเก็ต ตั้ง “นันทนา จิรายุส วงศ์สัตยนนท์” กรรมการบริหารโรงแรมในเครือเมอร์ลิน ภูเก็ต กรุ๊ป เป็นผู้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ ดูแลนักท่องเที่ยวที่ปัจจุบันมีเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ท่านทูตเผยคนชิลีชื่นชอบประทับใจบริการงานท่องเที่ยวของไทย และบริการทางการแพทย์
วันนี้ (13 มี.ค.) ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ฯพณฯ ฆาเวียร์ เบ็คเกอร์ (H.E.Mr.Javier Becker) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐชิลี ประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดที่ทำการสถานกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐชิลี ประจำจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ โดยมี นางนันทนา จิรายุส วงศ์สัตยนนท์ กรรมการบริหารโรงแรมในเครือเมอร์ลินภูเก็ต กรุ๊ป เป็นผู้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ มีนายสมบูรณ์ จิรายุส ผู้บริหารระดับสูงโรงแรมในเครือเมอร์ลินกรุ๊ป นายชาญ วงศ์สัตยนนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทภูเก็ตเจ๊ตทัวร์ จำกัด ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนเข้าร่วม
ทั้งนี้ ภายหลังพิธีเปิดที่ทำการสถานกงสุลดังกล่าว ฯพณฯ ฆาเวียร์ เบ็คเกอร์ เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐชิลี ประจำประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความรู้สึก ซึ่งมีความรู้สึกยินดีมากที่ได้มาเปิดสถานกงสุล ซึ่งดูแลครอบคลุมพื้นที่ภูเก็ต พังงา และกระบี่ โดยใช้เวลาในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้มากว่า 2 ปี ทั้งนี้ สืบเนื่องจากในทุกๆ ปีนั้น จะมีนักท่องเที่ยวชาวชิลีเดินทางมาท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดดังกล่าวประมาณ 10,000 คน และคาดว่าจะมีถึง 15,000 คนในอนาคต และตามที่เกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทางเราไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลนักท่องเที่ยวชาวชิลี
สำหรับชิลี ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าอยู่ห่างไกลจากประเทศไทยมาก ใช้เวลาเดินทางมากกว่า 30 ชั่วโมง แต่อยู่ในมหาสมุทรเดียวกัน คือ แปซิฟิก ในระยะหลังมานี้ประเทศไทยเริ่มเป็นที่สนใจของชาวชิลีที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว ด้วยชื่นชอบชายหาดของภูเก็ต และพื้นที่ใกล้เคียง อย่าง จ.กระบี่ ด้วย และนอกจากภูเก็ตแล้ว ยังมีเชียงใหม่ ที่ชาวชิลีให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวตามวัดต่างๆ ที่มีความสวยงาม
“ภูเก็ตก็เหมือนกับเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยว ซึ่งที่ชิลีมีทะเลเหมือนกันกับภูเก็ตแต่น้ำทะเลมีความหนาวเย็นเป็นอุปสรรคต่อการเล่นน้ำ และมีความสวยงามน้อยกว่าของไทย นอกจากนี้ ชาวชิลียังชอบอาหารไทย และที่ชื่นชอบมากๆ คือ ความอบอุ่น ความสุภาพ อ่อนน้อม ต้อนรับชาวต่างชาติด้วยไมตรีจิต ขณะที่การบริการงานท่องเที่ยวของไทยก็ถือว่าเป็นยอด เกาะภูเก็ต ชาวชีลีประทับใจ ถึงแม้จะเป็นเกาะเล็กๆ แต่มีทุกอย่างรวมอยู่ที่นี่ ซึ่งแตกต่างกับบ้านเมืองของชิลี จะเดินทางไปไหนมาไหนลำบาก แต่ละสถานที่ห่างไกลกันมาก
นักท่องเที่ยวชิลีจะชอบมาภูเก็ตกับเชียงใหม่ และชื่นชอบบริการของสายการบินไทย ซึ่งบริการดีมาก และนอกจากในเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยวการบริการด้านการท่องเที่ยวที่ประทับใจแล้ว บริการทางการแพทย์ก็เป็นเยี่ยม ตนอยู่ในวงการมา 35 ปี ทำงานมา 7 ประเทศ ไม่เคยเห็นที่ไหนบริการทางการแพทย์ได้ดีเยี่ยมได้เท่ากับประเทศไทย ขอให้คนไทยภาคภูมิใจได้เลย นี่คือสิ่งที่ประทับใจจุดประกายให้มีสถานกงสุลที่ภูเก็ต” ฯพณฯ ฆาเวียร์ เบ็คเกอร์ กล่าว
นอกจากนี้ เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐชิลี ประจำประเทศไทย ยังได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับสาธารณรัฐชิลี ด้านการเมือง ไทย และชิลีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2505 และจะครบรอบ 50 ปี ในปี 2555 โดยชิลีเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย เมื่อเดือน ก.ค.2524 และไทยเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก เมื่อ เม.ย.2537
ไทย และชิลีมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาโดยตลอด และพัฒนาความสัมพันธ์มากขึ้นตามลำดับ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า สังคม และความร่วมมือทางวิชาการ ทั้งนี้ รัฐบาลได้พยายามหาแนวทางส่งเสริม และสนับสนุนเพื่อขยายความสัมพันธ์กับชิลี ทั้งในระดับรัฐบาล เอกชน และประชาชนทั่วไป นอกจากนั้น ในกรอบพหุภาคี ไทย และชิลียังมีความร่วมมือกันในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหประชาชาติ เอเปก และเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออก และละตินอเมริกา
ส่วนด้านการค้า และความร่วมมือระหว่างไทยชิลี ชิลีเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญเป็นอันดับ 4 ของไทยในภูมิภาคละตินอเมริกา โดยในปี 2553 การค้ารวมระหว่างไทยและชิลีมีมูลค่าทั้งสิ้น 818.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 173.45 สืบเนื่องจากการฟื้นตัวของวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยไทยส่งออกไปชิลี เป็นมูลค่า 514.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 267.47 และนำเข้าจากชิลีเป็นมูลค่า 304.76 เพิ่มขึ้นร้อยละ 91 ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้าเป็นมูลค่า 209.41 ดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ รถกระบะ ที่ชิลีนำเข้าจากไทยมากที่สุด รองลงมาเป็นปูนซีเมนต์ อาหารทะเลกระป๋อง เครื่องซักผ้า ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋อง รถสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ฯลฯ ขณะที่สินค้านำเข้าที่สำคัญจากชิลี ได้แก่ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง ผลไม้ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ทั้งนี้ ในเรื่องการค้านั้น ล่าสุด ไทยกับชิลีได้ทำสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งสินค้าที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันจะปลอดภาษี 0% ขณะนี้เรื่องอยู่ในวุฒิสภา และคาดว่าน่าจะผ่านสภาภายในกลางปีนี้