ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองสนธิกำลังดูแลความปลอดภัยนายกรัฐมนตรี เดินทางร่วมรำลึก 10 ปี สึนามิ ย้ำจัดชุดเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้อนเรียนก่อนเข้าถึงตัวนายกรัฐมนตรี ขณะที่ป้ายประท้วงห้ามมีเด็ดขาด ส่วนการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ภูเก็ตช่วงปีใหม่ 3 หน่วยงานหลัก ทหารบก ทหารเรือ ตำรวจ ร่วมดูแล
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (24 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย เขต 18 พล.ต.เรืองศักดิ์ สุวรรณคาร รองแม่ทัพภาค 4 ประชุมร่วมกับ นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พ.ต.อ.พีรยุทธ์ การะเจดีย์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต พล.ต.ธีร์ณฉัฏฐ์ จินดาเงิน ผู้บัญชาการมนฑลทหารบกที่ 41 รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ จ.ภูเก็ต เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลความปลอดภัยนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางมาเป็นประธานพิธีรำลึกครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์ธรณีพิบัติพังงา ในวันที่ 26 ธ.ค.2557 และการดูแลรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2557
สำหรับการเดินทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงสนามบินภูเก็ต ในเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 26 ธ.ค. หลังจากนั้น จะเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปยังสถานที่จัดงานพิธีรำลึกครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ ถล่มในหมาสมุทรอินเดีย ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงต่างประเทศจัดขึ้น ณ อนุสรณ์สถานเรือ ต.813 บ้านบางเนียง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ในระหว่างเวลา 17.00-19.00 น. และเดินทางกลับมายังสนามบินภูเก็ตในวันเดียวกัน
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในการดูแลความปลอดภัยกำลังทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูแลเป็นหลักอยู่แล้ว แต่ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย และสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เรื่องของกลุ่มอาชีพ และกลุ่มบุคคลที่จะเข้าไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี จึงอยากฝากให้ทหาร และตำรวจ รวมทั้งสันติบาลดูแลเรื่องนี้ด้วย และจะต้องหาทางป้องกัน ซึ่งรวมถึงกลุ่มประท้วง หรือบุคคลที่จะเข้าประชิดตัวนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดูแล
เช่นเดียวกับ พล.ต.เรืองศักดิ์ สุวรรณคาร รองแม่ทัพภาค 4 ในการเดินทางมายังสนามบินภูเก็ตในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี ขอให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งทหาร ตำรวจ และจังหวัด จัดเจ้าหน้าที่ไว้ส่วนหนึ่งเพื่อรับเรื่องร้องเรียนที่กลุ่มผู้ประกอบการ หรือกลุ่มบุคคลที่ต้องการจะยื่นหนังสือร้องเรียนต่อทางท่านยนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลังจากรับหนังสือก็จะให้ส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง นอกจากนั้น ในส่วนของป้ายประท้วงต่างๆ จะต้องไม่ให้มีในพื้นที่เด็ดขาด จะต้องมีการตรวจสอบ และจัดเก็บให้เรียบร้อย
ส่วนกรณีการเดินทางไปยังจังหวัดพังงา ของนายกรัฐมนตรี นั้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนสำรองในการเดินทางไว้ด้วย เพราะบางครั้งอาจจะเปลี่ยนการเดินทาง จากเดิมที่เป็นเฮลิคอปเตอร์ อาจจะเปลี่ยนมาเป็นรถถ้าหากมีความจำเป็นในการเดินทาง ซึ่งเรื่องนี้ให้ประสานทางจังหวัดพังงา ในการเตรียมแผนสำรองไว้ด้วย ซึ่งในเรื่องของการดูแลความปลอดภัยก็เช่นเดียวกัน มีการรักษาความปลอดภัยขั้นสูง ซึ่งเป็นการสนธิกำลังร่วมกันทุกภาคส่วน
ส่วนเรื่องของการดูแลความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2557 นั้น ในส่วนของทหารจะร่วมกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารเรือในการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ดุแลความปลอดภัยตามจุดเสี่ยงต่างๆ ซึ่งในส่าวนของจังหวีดภูเก็ต มีการตั้งจุดตรวจหลัก จำนวน 10 จุด จุดตรวจย่อย 14 จุด และจุดตรวจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ อีก 19 จุด