xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.รับฟังความเห็นชาวสุราษฎร์ฯ พัฒนารถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี - การรถไฟแห่งประเทศไทย รับฟังความคิดเห็นชาวสุราษฎร์ฯ ร่วมพัฒนารถไฟทางคู่ช่วงสุราษฎร์ฯ -ชุมพร รับ AEC ส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ติงปัญหาความปลอดภัย

วันนี้ (23 มิ.ย.) ณ ห้องแก้วสมุยแกรนด์ฮอลล์ โรงแรมแก้วสมุย รีสอร์ท อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี นายวิชวุทย์ จินโต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานเปิดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ 1 ปฐมนิเทศโครงการงานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม และออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี เพื่อนำเสนอความสำคัญ ขอบเขตการดำเนินงาน และรูปแบบแนวเส้นทางที่เหมาะสม พร้อมทั้งระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถานศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 300 คน

สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้นำเสนอแนวเส้นทางโครงการโดยเริ่มจากสถานีชุมพร สิ้นสุดโครงการที่สถานีสุราษฎร์ธานี ผ่าน 2 จังหวัด 9 อำเภอ ได้แก่ จ.ชุมพร ผ่าน อ.เมืองชุมพร อ.สวี อ.ทุ่งตะโก อ.หลังสวน และ อ.ละแม มีสถานี 11 สถานี (ไม่รวมสถานีชุมพร) จ.สุราษฎร์ธานี ผ่าน อ.ท่าชนะ อ.ไชยา อ.ท่าฉาง และ อ.พุนพิน มีสถานี 10 สถานี ซึ่งตลอดระยะทางของโครงการรวมทั้งสิ้น 21 สถานี โดยออกแบบก่อสร้างเพิ่มทางวิ่ง 1 ทางคู่ขนานไปกับแนวทางเดิมมีขนาดทาง 1 เมตร (Meter Gauge) รองรับความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงต้องมีการปรับปรุงเส้นทางรถไฟที่เป็นโค้งวงแคบให้รถไฟ สามารถใช้ความเร็วได้เต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น คุณภาพอากาศ ทรัพยากรป่าไม้ แหล่งโบราณคดี และประวัติศาสตร์ เป็นต้น รวมทั้งเสนอมาตรการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง โดยมีระยะเวลาการศึกษารวมทั้งสิ้น 12 เดือน (ตั้งแต่เดือน เม.ย.58- เม.ย.59)

โดยการพัฒนารถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี จะช่วยยกระดับให้จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการเดินทาง และการขนส่งสินค้าไปยังจังหวัดต่างๆ ของอ่าวไทย-อันดามัน โดยมีศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าที่บริเวณสถานีทุ่งโพธิ์ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งสามารถเชื่อมต่อระบบการขนส่งทางรางไปยังสถานีปาดังเบซาร์ สถานีสุไหง-โกลก และประเทศมาเลเซีย อีกทั้งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง เช่น เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) อุทยานแห่งชาติเขาสก เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง

นายวิชวุทย์ จินโต รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า รถไฟทางคู่สามารถเป็นเส้นทางที่รองรับ AEC ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ ที่จะพัฒนาด้านการค้า และบริการนักท่องเที่ยวที่สามารถเพิ่มทางเลือกแก่นักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ทั้งนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน และการมีส่วนร่วมของประชาชน

นายอนุวัตร์ รจิตานนท์ นายกเทศมนตรีเมืองท่าข้าม กล่าวว่า โดยความเห็นส่วนตัวเห็นด้วยต่อโครงการรถไฟทางคู่ ทั้งนี้ พื้นที่เทศบาลเมืองท่าข้าม เป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริงอยากให้ทางการรถไฟฯ โยกย้ายที่ตั้งสถานีปัจจุบันไปไว้ที่บริเวณริมเขื่อนแม่น้ำตาปี เพื่อให้นักท่องเที่ยว และผู้โดยสารได้เห็นความสวยงามภูมิทัศน์แม่น้ำตาปี แม่น้ำสายหลักของภาคใต้ได้ง่ายขึ้น

ด้าน นายวรรณนพ ไพศาลพงศ์ รองวิศวกรใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่เป็นโครงการของรัฐบาล หากแล้วเสร็จสามารถเชื่อมต่อไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียนได้ โดยในส่วนของช่วงระหว่างชุมพร-สุราษฎร์ธานี อาจจะต้องมีการเวนคืนที่ดินของชาวบ้าน แต่ทั้งนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นของการรถไฟฯ แต่อย่างไรก็ตาม การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างไปตามแผนการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ของกระทรวงคมนาคมเพื่อพัฒนาโครงข่ายรถไฟจากทางเดี่ยวให้เป็นทางคู่ แก้ปัญหาความล่าช้าของการเดินรถไฟสายใต้
 
โครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี มีระยะทาง 167.5 กิโลเมตร จะเชื่อมต่อกับโครงการทางคู่ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร มีระยะทางรวม 334.5 กิโลเมตร ซึ่งการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งนี้ ทาง ร.ฟ.ท.จะนำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ได้จากผู้เข้าร่วมประชมไปพิจารณาประกอบในรายงานผลการศึกษาทุกด้านของโครงการ และจะจัดเตรียมส่งมอบให้แก่กระทรวงคมนาคมดำเนินการในขั้นตอนต่อไป โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้า และรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่ www.chumphon-suratrailway.com



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น