xs
xsm
sm
md
lg

ชายแดนสตูลยังไร้มาตรการเข้มระวังเมอร์ส สคร.12 สงขลาย้ำผู้ที่กลับจากพื้นที่เสี่ยงดูแลตนเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - บริเวณด่านชายแดนวังประจันสตูล ยังไร้มาตรการเข้มงวดบุคคลเข้าออกในการเฝ้าระวังไวรัสเมอร์ส ขณะที่ สคร.12 สงขลา เตือนเข้มผู้ที่กลับจากพื้นที่การระบาดของโรคควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

วันนี้ (19 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ด้านวังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล ยังไม่มีมาตรการในการเข้มงวดตรวจตราบุคคลเดินทางเข้าออกระหว่างชายแดนในการเฝ้าระวังไวรัสเมอร์ส โดยบริเวณด่านชายแดนยังคงมีการทำงานกันอย่างปกติ มีเพียงข่าวประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนเคร่งครัดในการเฝ้าระวังโรค ในขณะที่สาธารณสุขจังหวัดสตูล ได้เตรียมแผนการทำงานที่เข้มข้นในการเฝ้าระวัง

ส่วนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จ.สงขลา เร่งประชาสัมพันธ์ และทำหนังสือเวียนไปตามชุมชน หมู่บ้าน และ อสม. เน้นย้ำให้ผู้ที่เดินทางเข้าออกพื้นที่เสี่ยง เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ รวมถึงเกาหลีใต้ ทั้งประกอบพิธีศาสนา ท่องเที่ยว ทำงาน ศึกษา ติดต่อธุรกิจ ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จ.สงขลา เปิดเผยว่า พื้นที่เขต 12 รวมถึง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเมอร์ส เนื่องจากมีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปมาประเทศแถบตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่พบการระบาดของโรคเพื่อไปประกอบพิธีศาสนา ท่องเที่ยว ทำงาน ศึกษา ติดต่อธุรกิจตลอดทั้งปี และล่าสุด มีการระบาดหลายจุดในประเทศเกาหลีใต้ ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนที่เดินทางไปพื้นที่เหล่านี้ดูแลตนเองอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้นำโรคกลับมาติดต่อคนใกล้ชิดในครอบครัว และผู้ดูแลขณะป่วย

ซึ่งการติดต่อโรคนี้เป็นการติดต่อจากคนสู่คนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ดูแลใกล้ชิด แพทย์ พยาบาล และผู้สัมผัสใกล้ชิด และในผู้ป่วยบางรายมีประวัติสัมผัสกับอูฐ และดื่มน้ำนมดิบจากอูฐ สําหรับการแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คน สามารถแพร่ผ่านทางเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยจากการไอ จาม และสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยมิได้มีการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาล โรคนี้มีระยะเวลาฟักตัว 2-14 วัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเมอร์สมักมีอาการไข้ ไอ และบางรายมีอาการท้องร่วงร่วมด้วย บางรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการไข้ หายใจหอบเหนื่อย และปอดบวม

ดร.นพ.สุวิช กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ผู้ที่จะเดินทางไปไปยังประเทศที่มีความเสี่ยง หรือมีการระบาด ขณะนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่มีข้อห้ามในการเดินทาง แต่ขอให้เคร่งครัด การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลควรปฏิบัติตัวดังนี้ หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ หรือผู้ที่มีอาการไอจาม ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสกับอูฐ หรือดื่มนมอูฐดิบ

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวาย หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำควรระวังเป็นพิเศษ ผู้เดินทางกลับจากประเทศที่มีความเสี่ยงเป็นเวลา 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอหลีกเลี่ยงคลุกคลีบุคคลอื่น สวมหน้ากากป้องกันโรค ล้างมือให้สะอาด และรีบไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางไปประเทศเสี่ยงดังกล่าวด้วย หรือหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2012 สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น