ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ว่าฯ ภูเก็ต ร่วม สนข.และเทศบาลนครภูเก็ต ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ารางเบาในเขตพื้นที่เมืองชั้นใน พร้อมรับฟังความต้องการของประชาชนสองข้างทาง เพื่อนำไปปรับปรุงรูปแบบการก่อสร้างต่อไป พบประชาชนส่วนใหญ่ห่วงปัญหาที่จอดรถสาธารณะ
วันนี้ (18 มิ.ย.) นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต พ.ต.อ.ธีระพล ทิพย์เจริญ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นายนิรันดร์ เกตุแก้ว ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค พร้อมคณะที่ปรึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจเส้นทางการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาในเขตพื้นที่เทศบาลนครภูเก็ต ด้วยการเดินเท้า พร้อมแจกแผ่นพับประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนที่สัญจรไปมาอีกด้วย
ทั้งนี้ ด้วยการจัดการจราจรในเมืองภูเก็ตนั้น ซึ่งเริ่มจากบริเวณสถานีราชภัฏภูเก็ต ถึงสถานีฉลอง มีระยะทางรวมประมาณ 14 กิโลเมตร เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรในเมืองภูเก็ตเมื่อมีโครงการ โดยกำหนดเส้นทางเดินรถบริเวณถนนเทพกระษัตรี ช่วงถนนโกมารภัจจ์-ถนนรัษฎา และถนนภูเก็ต ช่วงถนนตลิ่งชัน-ถนนกระ ให้มีการเดินรถทางเดียว เนื่องจากถนนเทพกระษัตรี ช่วงสี่แยกโรงเรียนสตรีภูเก็ต-ถนนโกมารภัจจ์ มีความกว้างของเขตทางค่อนข้างน้อย จึงกำหนดให้มีการเดินรถร่วมกับรถราง ในทิศมุ่งเหนือจำนวน 1 ช่องจราจร และได้ทำการปิดการจราจรบริเวณย่านเมืองเก่า เพื่อพัฒนาเป็นถนนคนเดินร่วมกับรถราง (Tram) จึงต้องมีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจต่อประชาชนถึงความจำเป็นในการจัดการจราจรดังกล่าว
นายนิรันดร์ เกตุแก้ว ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าของโครงการตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำไปออกแบบรายละเอียดที่สามารถแก้ไขปัญหาการจราจรได้ ตลอดจนในเรื่องของการจัดการเดินรถ และเส้นทางต่างๆ โดยวันนี้ทาง สนข.ได้ร่วมกับทางจังหวัด โดยท่านผู้ว่าฯ พร้อมทั้งผู้นำท้องถิ่นได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์โครงการ และทำความเข้าใจต่อประชาชน ในเส้นทางที่มีผลกระทบทางด้านการจราจรค่อนข้างมาก เพื่อทำความเข้าใจ และชี้แจงต่อประชาชน ซึ่งในส่วนนี้เราก็จะรับฟังความเห็นไปเพื่อให้ทางที่ปรึกษานำไปปรับปรุงการออกแบบต่างๆ ให้สอดคล้องต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่
จากการลงพื้นที่ฟังความเห็นจากประชาชนสองข้างทาง ส่วนใหญ่มีความเป็นห่วงเรื่องของการจอดรถสาธารณะ ซึ่งทางเทศบาลจะจัดที่จอดรถที่สาธารณะให้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามองภาพรวมในการเดินทางของประชาชน และปริมาณรถที่จะเข้าเมืองในอนาคตระบบ Tram จะเป็นระบบที่เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพให้แก่เมืองภูเก็ต ให้มีปริมาณการเดินทางภายในเมืองภูเก็ต และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางจากสนามบินเข้ามาในตัวเมืองภูเก็ตก็จะสามารถรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น
“การรับฟังความเห็นต้องมีการรับฟังอย่างต่อเนื่อง ในส่วนหนึ่งจะมีการทำโฟกัสในกลุ่มเล็กๆ เพื่อทำความเข้าใจต่อผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ก่อนที่จะไปจัดสัมมนาใหญ่เพื่อชี้แจงภาพรวมของโครงการอีกครั้ง ก่อนที่โครงการนี้จะถูกนำเสนอผ่านคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัด (อจร.) แล้วนำเสนอไปยังคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป” นายนิรันดร์ กล่าวและว่า
จากการลงมารับฟังความเห็น คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถประมวลผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาจราจร ผลกระทบต่อประชาชนต่างๆ แล้วนำเสนอไปตามขั้นตอน เพื่อขออนุมัติโครงการในรูปแบบการลงทุนต่างๆ ผ่านทาง อจร.จังหวัด เพื่อนำเสนอไปยังคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก คิดว่าภายในต้นปีหน้าจะสามารถดำเนินการเชิญชวนภาคเอกชน หรือทางท้องถิ่นเข้ามาร่วมดำเนินการในส่วนนี้ หรือว่าจะเป็นรูปแบบที่ทางองค์การรถไฟฟ้ามหานคร อาจจะให้ความสนใจเข้ามาร่วมในการพัฒนา แต่อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้ผลการศึกษาโครงการฯ ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน และหลังจากที่รับฟังความเห็นจากประชาชนมีความเห็นร่วมกันแล้ว มีรูปแบบการลงทุนอย่างชัดเจนแล้ว คิดว่าจะถูกนำเสนอผ่าน อจร.จังหวัด จนนำสู่การก่อสร้าง ซึ่งอาจจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2560 และเปิดให้บริการได้ในปี 2564 ก็เป็นการประมาณการในเบื้องต้น นายนิรันดร์ กล่าวในที่สุด
สำหรับความเป็นมาโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน จังหวัดภูเก็ต (รถไฟรางเบา) ในเส้นทางท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลในปัจจุบันได้วางแนวทางในการพัฒนาไว้ 5 แนวทาง ประกอบด้วย การพัฒนาระบบขนส่งทางราง ระบบขนส่งทางบก ระบบขนส่งทางน้ำ ระบบขนส่งทางอากาศ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบขนส่งทางรางจะช่วยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว และเสริมสร้างศักยภาพของโครงข่ายทางรถไฟในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อให้สอดคล้องต่อมติ ครม.นโยบายของรัฐบาล และยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จึงดำเนินการศึกษาเพื่อขยายและเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวระหว่างฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย บริเวณพื้นที่โครงการพัฒนาศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก กับฝั่งทะเลอันดามัน โดยเชื่อมต่อเข้าระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดภูเก็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวเสริมสร้างศักยภาพของโครงข่ายทางรถไฟสายใต้ในปัจจุบัน รวมทั้งแก้ไขปัญหาจราจรซึ่งเป็นผลกระทบจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว