ตรัง - ชาวสิเกา จ.ตรัง ตั้งธนาคารปูม้าตามแนวทาง “สิเกาโมเดล” มุ่งขยายพันธุ์ปูม้าก่อนปล่อยลงสู่ทะเล ทดแทนประชากรปูม้าที่ลดลงอย่างมาก พร้อมสร้างจิตสำนึกให้แก่ชาวประมงที่หากินอยู่กับทะเล
วันนี้ (18 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเกษม บุญมา ประธานกลุ่มธนาคารปูม้าชุมชนบ้านปากคลอง ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการจัดตั้งธนาคารปูม้าไปทั่วทั้ง จ.ตรัง ตามแนวทาง “สิเกาโมเดล” ซึ่งเป็นต้นแบบการจัดการทรัพยากรปูม้า รวมกว่า 10 ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นที่ บ.แหลม บ.โต๊ะบัน บ.พรุจูด บ.ฉางหลาง บ.บางค้างคาว ทำให้สามารถขยายพันธุ์ลูกปูม้าแล้วปล่อยลงสู่ทะเลตรัง โดยมีอัตราการรอดตายเพิ่มขึ้น และนำไปสู่การเติบโตขึ้นเป็นพ่อแม่พันธุ์ในอนาคต เพื่อทดแทนประชากรปูม้าที่ลดลงไปอย่างมาก
โดยทางธนาคารจะรับแม่พันธุ์ปูม้าที่ติดอวนจากชาวประมง แล้วนำมาเพาะเลี้ยงจนมีอายุประมาณ 4 เดือน หรือมีขนาดกระดองกว้างประมาณ 2 นิ้วเศษ ก็จะเริ่มวางไข่ออกมาครั้งละ 1-2 ล้านฟอง ซึ่งจำนวนไข่ขึ้นอยู่กับความกว้างของกระดอง หรืออายุของแม่พันธุ์ ทั้งนี้ เมื่ออนุบาลลูกปูได้ 2 วัน ก็สามารถนำไปปล่อยลงสู่ทะเลอันดามันได้เลย โดยจะมีอัตรารอดของลูกปูม้า 0.01 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 100 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 1 ตัว ซึ่งจะช่วยเพิ่มประชากรปูม้าได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในแต่ละปีถูกจับขึ้นไปประกอบอาหารจำนวนมาก
นอกจากนั้น วิธีการนี้ยังลงทุนไม่สูงนัก โดยธนาคารปูม้าแต่ละแห่งจะใช้เม็ดเงินประมาณ 20,000-30,000 บาท เพื่อนำไปซื้อเครื่องให้อากาศ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มอากาศ หรือออกซิเจนลงไปในน้ำ รวมทั้งซื้อถังเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์ และอนุบาลลูกปูม้า ปั๊มน้ำ และถุงกรอง ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามากสำหรับการลงทุนให้แต่ละชุมชน และกำลังอยู่ระหว่างการขยายผลไปยังทุกบ้านของชาวประมง เพราะสามารถดำเนินการได้ง่ายกว่า และตรงต่อเป้าหมายของโครงการ เพื่อช่วยสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ให้แก่ผู้ที่หากินอยู่กับทะเลโดยตรง