ตรัง - สารวัตรหนุ่มเมืองตรัง วอนขอความเป็นธรรม หลังประสบเหตุรถคว่ำจากไปคุมม็อบที่กรุงเทพฯ จนแขนขวาขาด เมื่อ 5 ปีก่อน แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา แถมเงินที่ใช้รักษาตัวก็หมดแล้ว
วันนี้ (3 มิ.ย.) พ.ต.ท.ธวัช ข่ายม่าน สารวัตรอำนวยการ (สว.อก.) สภ.เมืองตรัง วัย 47 ปี ได้เปิดบ้านเลขที่ 7 ม.2 ต.ทุ่งค่าย อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เพื่อร้องขอความเป็นธรรมต่อสื่อมวลชน หลังจากที่ตนเองต้องประสบอุบัติเหตุรถทัวร์พลิกคว่ำจนทำให้มือขวาขาด เมื่อกลางปี 2553 ขณะเดินทางกลับจากภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อย และควบคุมฝูงชนในเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมืองที่กรุงเทพฯ จนทำให้ปัจจุบันนี้เขาต้องอยู่ในสภาพที่เดือดร้อนอย่างหนัก ทั้งในการใช้ชีวิต และการทำงาน
โดยในครั้งนั้น กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ภ.จว.) ตรัง ได้มีคำสั่งที่ 209/2553 ให้ พ.ต.อ.นุกูล ไกรทอง รอง ผบก.ภ.จว.ตรัง พร้อมทั้ง พ.ต.ท.ธวัช และเพื่อนข้าราชการตำรวจอีก 197 นายเดินทางไปรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชน กรณีกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ชุมนุมประท้วงในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งกำลังของ ภ.จว.ตรัง ได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบบ้านพักของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น
กระทั่งหลังจากปฏิบัติหน้าที่จนครบ 7 วัน ก็ได้มีการสับเปลี่ยนกำลัง โดยมีการจัดรถทัวร์มารับกลับบ้านที่จังหวัดตรัง อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 03.45 น. วันที่ 4 พฤษภาคม 2553 ชีวิตของ พ.ต.ท.ธวัช ก็ต้องพบต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อรถทัวร์ประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำ จนทำให้เขาบาดเจ็บสาหัส แขนขวาบริเวณเลยข้อมือขาด มือซ้ายหัก 3 ท่อน ซี่โครงหัก 1 ซี่ กระดูกสันหลังร้าว และหัก ส่วนตาขวาก็ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างแรง จนนับว่าหนักที่สุดของผู้บาดเจ็บทั้งหมดจากอุบัติเหตุในครั้งนี้
พ.ต.ท.ธวัช กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ตนต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้น มีข้าราชตำรวจชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. เดินทางมาเยี่ยม พร้อมบอกกับแม่ของตนต่อหน้าสื่อมวลชนที่ไปรอทำข่าวในขณะนั้นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะดูแลสวัสดิการ ปูนบำเหน็จทั้งเงินเดือน และชั้นยศให้แก่ตน ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่จนถึงทุกวันนี้เป็นระยะเวลากว่า 5 ปีแล้ว ตนกลับได้รับการช่วยเหลือเพียงแค่สวัสดิการรักษาพยาบาลเท่านั้น ขณะที่ส่วนอื่นๆ ยังไม่มีการพิจารณา
ต่อมา ในปี 2555 รัฐบาลในขณะนั้นได้ประกาศให้มีการเยียวยาทางแพ่ง และการฟื้นฟูด้วยวิธีการอื่นให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ช่วงระหว่างปี 2548-2553 ดังนั้น จึงได้ไปยื่นคำร้องเลขที่ 000832 เพื่อขอรับการเยียวยาดังกล่าวตามกฎเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่จนถึงปัจจุบันนี้ตนก็ยังไม่ได้รับหนังสือตอบรับยืนยันอย่างเป็นทางการ จากคณะกรรมการด้านการเยียวยาทางแพ่งและการฟื้นฟูว่า ตนได้รับสิทธิหรือไม่ได้รับสิทธิด้วยเหตุผลใด
“เงินสวัสดิการที่เคยได้รับผมนำไปใช้กับการรักษาตัวจนหมดแล้ว แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ยังไม่ปูนบำเหน็จชั้นยศ หรือเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษให้ขณะที่ชีวิตกลับต้องเปลี่ยนแปลงปรับตัวใหม่ทั้งหมด ด้วยมือซ้ายที่เหลือ และต้องมีภรรยาคอยช่วยเหลือตลอดทำให้ผมจำเป็นต้องปิดตัวเอง หรือไม่ออกไปสังคมกับผู้ใดมากนัก เพราะกลัวคนอื่นรังเกียจ ผมและเพื่อนตำรวจๆ ที่ประสบอุบัติเหตุในคราวนั้นจึงอยากขอถามว่า ต้องให้พวกตนสูญเสียชีวิตก่อนใช่หรือไม่ ถึงจะได้รับการดูแลเยียวยาสักที”