xs
xsm
sm
md
lg

คนอันดามันฮือต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประกาศพร้อมสู้ทุกวิถีทางหากรัฐยังดึงดันสร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินเผยประเทศที่ได้รับบทเรียนจากมลพิษถ่านหินทั่วโลกทยอยยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน หันมาพัฒนาพลังงานสะอาดเต็มที่เพื่อยุติผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แม้แต่พม่ายังมีนโยบายไม่ใช้พลังงานจากถ่านหิน ขณะที่ประเทศไทยภาครัฐกลับไม่ฟังเสียงท้วงจริงจากภาคประชาชน ด้านเครือข่ายประมงพื้นบ้านประกาศพร้อมร่วมเดินหน้าคัดค้านอย่างเต็มกำลังทุกวิถีทาง เตรียมจัดเวทีใหญ่ที่เกาะลันตา 25 พ.ค.นี้

วันนี้ (23 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้เดินทางเปิดเวทีให้ความรู้กับเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง ที่บ้านน้ำราบ ต.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง โดยมีผู้นำเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจากบ้านน้ำราบ บ้านควนตุ้งกู บ้านฉางหลาง และบ้านเกาะมุกด์ เข้าร่วมรับฟัง
 

 
นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า ทางเครือข่ายได้ศึกษาข้อมูลพบว่าในปัจจุบันหลายประเทศที่เป็นประเทศซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและมีการใช้พลังงานถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าภายในประเทศมานานไม่ต่ำกว่า 30-40 ปี อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย และเยอรมัน ได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงานขนานใหญ่ หลังจากพบว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมหาศาล

“ในสหรัฐอเมริกา งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดศึกษาพบว่าสัตว์น้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติในประเทศของเขามีการปนเปื้อนสารเคมีและสารโลหะหนักหลายชนิดซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ ทำให้มีการสั่งห้ามสตรีมีครรภ์ไม่ให้รับประทานเนื้อปลาทุกชนิดใน 39 รัฐ จากทั้งประเทศที่มีอยู่ทั้งหมด 50 รัฐ นั่นแสดงว่ามลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินได้กระจายสู่พื้นที่ผลิตอาหารของสหรัฐอเมริกาแล้วเกือบทั้งประเทศ ผลสุดท้ายทำให้ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ประกาศปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 แห่งในประเทศทันที”
 
 

 
นายประสิทธิชัย กล่าวและว่า ขณะที่ในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้พลังงานถ่านหินเป็นจำนวนมากในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดประชาชนในมณฑลกวางตุ้งหลายหมื่นคนออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกใช้ถ่านหิน ซึ่งรัฐบาลเองก็ตอบรับในเรื่องนี้ทันทีและหันมาพัฒนาพลังงานทางเลือกผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงแดดซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก ส่วนในประเทศอินเดีย รัฐบาลอินเดียประกาศว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ให้ได้ 1 แสน เมกะวัตต์ในปีหน้า ส่วนเยอรมันรัฐบาลประกาศนโยบายรับซื้อไฟฟ้าที่ประชาชนผลิตจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์หรือพลังงานสะอาดรูปแบบอื่นๆ โดยจะรับซื้อก่อนในราคาที่สูง ขณะเดียวกันไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานถ่านหินหรือพลังงานฟอสซิล รัฐบาลจะรับซื้อในราคาที่ถูก

“ที่น่าสนใจคือประเทศพม่า รัฐบาลพม่าประกาศชัดเจนว่าจะไม่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน โดยให้เหตุผลว่าสื่อมวลชนได้ให้ข้อมูลชัดเจนแล้วว่าพลังงานจากถ่านหินจะมีแต่อันตรายตามมาต่อประชาชนในประเทศเขา ขณะที่ประเทศเรารัฐบาลกลับเร่งรีบผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยไม่ฟังเสียงท้วงติงจากภาคประชาชนนั่นก็เพราะรัฐยังถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนพลังงาน เหตุผลเดียวที่ต้องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพราะมีบริษัท 2 แห่งได้ไปสัมปทานเหมืองถ่านหินไว้เรียบร้อยแล้วในต่างประเทศ” นายประสิทธิชัย กล่าว
 
 

 
นายหลงเฝียะ บางสัก ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านน้ำราบ ต.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง กล่าวว่า เครือข่ายประมงพื้นบ้านเคยเดินทางไปศึกษาดูงานที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง เนื่องจากต้องการทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินว่าส่งผลกระทบอย่างไรต่อชุมชนในพื้นที่ โดยเป็นการเดินทางศึกษาดูงานที่ทางเครือข่ายออกงบประมาณกันเองทั้งหมด
 

 
“เมื่อไปถึงได้เข้าไปนั่งในห้องรับรองของโรงไฟฟ้า ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ให้การต้อนรับอย่างดี เจ้าหน้าที่ได้เช็ดโต๊ะสีขาวที่ชาวบ้านนั่งจนสะอาด แต่ปรากฏว่าเวลาผ่านไปไม่นานรู้สึกว่าบนโต๊ะมีฝุ่นจับเมื่อใช้ฝ่ามือลูบดูพบว่ามีคราบสีดำติดมา สภาพอากาศภายในห้องเหมือนกับอากาศถ่ายเทไม่สะดวก เข้าใจว่ามีฝุ่นละอองปนเปื้อนอยู่ในอากาศจำนวนมาก นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้รับรู้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของคนเรา เมื่อได้เข้าไปพบปะชาวบ้านซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าค่อนข้างมาก พบว่าหลายคนป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ ชาวบ้านมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีความสุขเลย หากจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ แน่นอนว่ามลพิษจะต้องกระจายทั่วทั้งฝั่งอันดามันอย่างแน่นอน เมื่อนั้นชาวบ้านก็คงหมดอนาคตเช่นเดียวกับที่ชาวบ้านแม่เมาะเป็นอยู่ในตอนนี้”

นายเจร ฤทธิเดช สมาชิก อบต.วังวน อ.กันตัง จ.ตรัง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.มีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน ต.วังวน อ.กันตัง ซึ่งตนพร้อมด้วยเครือข่ายชาวบ้านหลายคนได้ร่วมกันต่อต้านคัดค้านจนในที่สุด กฟผ.ได้เปลี่ยนแผนไปสร้างในพื้นที่อื่น แต่ชาวบ้าน ต.วังวน ก็ยังคงติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
 

 
“แม้ กฟผ.เปลี่ยนแผนจะไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.กระบี่ แต่มลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินก็จะส่งผลกระทบต่อจังหวัดอื่นๆ ในชายฝั่งทะเลอันดามันอย่างแน่นอน เราไม่เห็นด้วย อยากให้ใช้พลังงานอย่างอื่นที่ไม่ส่งผลกระทบ ถ้ารัฐบาลยังดึงดันจะให้สร้าง จะเคลื่อนไหวคัดค้านกันอย่างไรเมื่อไหร่ขอให้บอกมาเราพร้อมจะเข้าร่วมด้วยเต็มที่และพร้อมสู้ทุกวิถีทาง เพราะหากเกิดมลพิษปูปลาปนเปื้อนสารพิษชาวบ้านก็หมดอนาคตหมดหนทางทำกิน” นายเจร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวในพื้นที่ จ.ตรัง เสร็จแล้ว ทางเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้เดินทางต่อไปยัง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ซึ่งจะมีการจัดเวทีใหญ่โดยมีเครือข่ายชาวบ้านและนักธุรกิจเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยเป็นจำนวนมาก
 
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น