xs
xsm
sm
md
lg

นครศรีฯ เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานชีวภาพก๊าซ CBG สำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - บริษัทเอกชนด้านพลังงานทดแทนจากประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมมือพัฒนาพลังงานชีวภาพก๊าซ CBG กับบริษัทเอกชนในนครศรีธรรมราช ต่อยอดจากบ่อก๊าซชีวภาพผลิตไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จ

วันนี้ (9 เม.ย.) ผู้สนื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงงานผลิตน้ำมันปาล์มดิบ บริษัทเกษตรกรลุ่มน้ำจำกัด ตำบลช้างซ้าย อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่รับซื้อผลปาล์มสดเพื่อผลิตน้ำมันปาล์มดิบ และได้ใช้กากปาล์ม และน้ำเสียจากระบบผลิตเข้าสู่การหมักบ่มให้เกิดก๊าซเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจนประสบความสำเร็จ

โดยได้มีการพัฒนาต่อยอดเตรียมที่จะลงทุนพัฒนาเป็นโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพชนิด CBG เป็นแห่งแรกของภาคใต้ ขณะที่ นายชุน ยามากามิ (Shun Yamagami) รองประธานบริษัทโอซาก้าแก๊ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบก๊าซชีวภาพจากประเทศญี่ปุ่น ได้ให้ความสนใจ และเข้าร่วมทำบันทึกความร่วมมือทางเทคโนโลยี

 
โดยก่อนหน้านี้ บริษัทเกษตรลุ่มน้ำ ได้พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มให้กลายเป็นแหล่งผลิตเชื้อเพลิงแก๊สชีวภาพ ด้วยการสร้างบ่อกักเก็บของเสีย และเพิ่มระบบบ่อหมักบ่มผลิตแก๊ส หลังจากนั้น แก๊สที่ได้จะผ่านระบบแยกน้ำ และแก๊สที่ไม่ต้องการออก ก่อนที่เหลือแก๊ส CBG เข้าสู่ระบบเครื่องยนต์ผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าจำหน่ายคืนให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งกลายเป็นโรงงานต้นแบบในจังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงการพัฒนาพลังงานทดแทนที่เกิดจากระบบกำจัดของเสียภายในโรงงาน โดยกากจากการหมักนั้นสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดร.กณพ เกตุชาติ ผู้บริหารบริษัทเกษตรลุ่มน้ำจำกัดระบุว่า เราได้ความร่วมมือในการสร้างสถานีต้นแบบในการผลิตก๊าซ CBG ซึ่งเป็นก๊าซชีวภาพที่ได้จากการหมักทางชีวภาพ ซึ่งสามารถใช้เติมรถยนต์ได้เช่นเดียวกับก๊าซ NGV ที่ได้จากการผลิตจากบ่อปิโตรเลียม โดยการพัฒนาจะเกิดขึ้นเป็นที่แรกของภาคใต้ โดยใช้วัตถุดิบหลักคือ หญ้าเนเปีย และมูลวัว ซึ่งขณะนี้ได้ผลิตแก๊สชนิดนี้เป็นเชื้อเพลิงต่อระบบผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว

 
“เราเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตแก๊สชนิดนี้ ส่วนบริษัทโอซาก้าแก๊ส จะเชี่ยวชาญเทคโนโลยีในการกรองแก๊สเพื่อความบริสุทธิ์อยู่ในระดับโลก จะนำเทคโนโลยีการกรองแก๊สมาร่วมมือ โดยลำดับแรกนั้นจะมีกำลังผลิตแก๊สได้วันละ 1.5 ตัน เป็นเบื้องต้น ซึ่งหลังจากการก่อสร้างแล้วจะเริ่มผลิตได้ในช่วงต้นปี 2559 ด้วยการลงทุนราว 20 ล้านบาทเริ่มแรก”

ดร.กณพ ยังกล่าวด้วยว่า จุดนี้จะเป็นแห่งแรกของภาคใต้ จะเป็นการเริ่มต้นจากสถานีขนาดเล็ก และจะพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ ซึ่งระบบนี้จะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญทดแทนแก๊สปิโตรเลียมที่ขุดเจาะจากแหล่งพลังงานได้อย่างดี และการผลิตนี้จะสร้างโอกาสให้แก่เกษตรกรที่มีหัวไร่ปลายนาสามารถสร้างรายได้เพิ่มด้วยการปลูกหญ้าเนเปียเข้ามาจำหน่ายได้ในราคาตันละ 700 บาท
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น