xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายสวนยางตรังชี้ “โครงการมูลภัณฑ์กันชน” ของ คสช. ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตรัง - เครือข่ายชาวสวนยาง ปาล์มจี้ให้รัฐบาลทบทวน “โครงการมูลภัณฑ์กันชน” ชี้ไม่สามารถแก้ปัญหาราคายางพาราได้อย่างตรงจุด พร้อมขอให้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้ชัดเจน กำหนดพื้นที่การขายแก้ปัญหาไม่ให้ยางไปล้นที่ตลาดกลาง จี้ “บิ๊กตู่” ตั้งคณะกรรมการเฉพาะทางแก้ปัญหา วอนเร่งแก้ปัญหาก่อนฤดูกาลเปิดกรีด

วันนี้ (3 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น. นายศักร์สฤษฎิ์ ศรีประศาสตร์ แกนนำแนวร่วมชาวสวนยาง ปาล์มน้ำมันรายย่อย และนายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยาง ปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย แถลงถึงความล้มเหลวในโครงการมูลภัณฑ์กันชนของรัฐบาล เนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่สามารถแก้ปัญหาราคายางพาราได้อย่างตรงจุด

โดย นายทศพล กล่าวว่า วันนี้เป็นวันครบรอบ 100 ปี ยางพาราไทย แต่เกษตรกรชาวสวนยางกลับต้องได้รับความลำบากยากจน เพราะการที่รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ กลับนำผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องยางเข้ามาทำงานทำให้แก้ปัญหาอย่างไม่ตรงจุด ที่ผ่านมา ตนเคยท้วงติงนโยบายมูลภัณฑ์กันชนตั้งแต่เริ่มแล้วว่า เป็นโครงการที่ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้เกษตรกรชาวสวนยางอย่างแท้จริง แต่รัฐบาลก็ยังยืนยันเดินหน้าต่อ จนสุดท้ายโครงการดังกล่าวก็ต้องล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า เพราะการรับซื้อยางในโครงการนี้เป็นการรับซื้อจากพ่อค้านายทุนที่ขูดรีดเลือดเนื้อจากชาวบ้านไปแล้ว

นายทศพล ยังกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลละเลยการตรวจสอบยางในสต็อก ตอนนี้ไม่ทราบว่ายางที่มีอยู่มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน และตอนนี้ก็ใกล้จะถึงฤดูเปิดกรีดยางฯ อีกครั้งแล้ว รัฐบาลก็ต้องดำเนินการรับซื้อยางฯ จากเกษตรกรต่อ แล้วของเก่าที่มีอยู่จะดำเนินการจัดการเช่นไร หากไม่เร่งระบายออกก่อนก็จะทำให้เกิดปัญหายางล้นสต๊อก ราคาขายก็จะถูกกดลงอีก และทำให้เกิดปัญหาไม่มีที่ขายยางฯ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้จะสร้างความไม่พอใจให้แก่พี่น้องประชาชน และรัฐบาลเองก็อาจต้องทำงานสะดุด

นายทศพล จึงได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลว่า ขอให้มีการแทรกแซงราคายางก้อนถ้วยให้ได้กิโลกรัมละ 50 บาท เพราะจะทำให้ราคาน้ำยางขยับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และแทรกแซงราคายางแผ่นดิบให้ได้กิโลกรัมละ 75-80 บาท นอกจากนั้น ขอให้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้ชัดเจน กำหนดเพดาน และปริมาณการขาย เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้ยางฯ ไปล้นที่ตลาดกลางกำหนดพื้นที่การขายให้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมา ยางจากใต้ไปขายที่ภาคอีสาน ส่วนยางที่อีสานก็เอามาขายที่ภาคใต้ ทำให้ยางยังคงล้นสต๊อกเช่นเดิม และที่สำคัญรัฐบาลจะต้องตรวจสอบยางฯ ในสต๊อกให้ชัดเจน และบริหารจัดการให้ดี ไม่เช่นนั้นเมื่อถึงฤดูกาลเปิดกรีดก็จะทำให้มีปัญหาในการจัดการต่อไป

นอกจากนั้น นายทศพล ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลยังจะเดินหน้าโครงการมูลภัณฑ์กันชนต่อ ตนก็ไม่ได้คัดค้าน แต่เงินในโครงการ จำนวน 2 หมื่นล้านบาท รัฐบาลได้ใช้ไปแล้ว หนึ่งหมื่นสองพันล้านบาท โดยที่ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกรรายย่อยได้เลย หากเดินหน้าโครงการนี้ต่อเงินที่เหลืออีก 8 พันล้านบาทก็จะไม่เหลืออีก เกษตรกรก็จะไม่ได้รับประโยชน์เช่นเดิม ตนยืนยันว่าไม่ได้คัดค้าน แต่มองว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ผิด เป็นการดำเนินการด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง รัฐบาลจะต้องแก้ไขให้ตรงจุด

ด้าน นายศักร์สฤษฎิ์ กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายของตนนั้นไม่ได้อยู่ในระบบสถาบันเกษตรกร เวลามีปัญหาทางหน่วยงานราชการก็เรียกเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในระบบไปเข้าร่วมประชุม แต่กลุ่มรากหญ้ากลับไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นใดๆ ส่วนโครงการมูลภัณฑ์ฯ นั้น ไม่ได้เรียกร้องให้ยกเลิก แต่ให้ปรับปรุง แทนที่จะซื้อยางแผ่นดิบ ยางรมควัน แต่ให้ซื้อยางก้อนถ้วย แทนเพราะจะทำให้ราคาน้ำยางขยับราคาสูงขึ้น

ส่วนข้อเรียกร้องของตนนั้น อยากเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาราคายาง ที่ประกอบไปด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวง เพราะกรรมการจะทราบข้อมูล และแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่โยนให้รัฐมนตรีช่วยฯ เป็นผู้ดูแลเพียงคนเดียวอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้

ส่วนกรณีที่รัฐบาลแนะนำให้ชาวสวนไปเปลี่ยนอาชีพนั้น นายศักร์สฤษฎิ์ มองว่า แต่ละภาคมีสภาพภูมิศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน คนใต้ปลูกยางฯ กับปาล์มน้ำมันเป็นหลัก หากหันไปปลูกปาล์มกันหมด ราคาก็ตกอีก จึงอยากให้มีคณะกรรมการในการแก้ปัญหาเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดจริงๆ ซึ่งอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาก่อนฤดูกาลเปิดกรีด เพื่อไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้นอีก

ส่วนกรณีที่มีใบปลิว และป้ายไวนิลโจมตีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ถูกเผยแพร่ไปทั่วอำเภอเมืองตรังนั้น นายศักร์สฤษฎิ์ กล่าวยืนยันว่า ไม่ใช่ฝีมือของตน หรือเครือข่ายฯ เพราะพวกตนไม่เคยทำลับหลัง หากต้องการจะสื่อไปถึงรัฐบาลก็จะออกมาพูดคุยผ่านสื่อไปตรงๆ อยู่แล้ว และการเคลื่อนไหวทุกอย่างของกลุ่มก็เพื่อเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่พี่น้องเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้อยากจะออกมาโจมตีใคร

นอกจากนั้น นายศักร์สฤษฎิ์ ยังกล่าวต่อว่า หากข้อเสนอที่เสนอไปในวันนี้ รัฐบาลไม่รับไว้พิจารณาเท่ากับเป็นการไม่รับฟังเสียงของประชาชน หลังจากนี้ ก็คงต้องปล่อยไป แต่หากรัฐบาลบริหารงานผิดพลาด แก้ไขปัญหาไม่ได้ ก็เหมือนเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่จะสร้างปัญหาให้แก่รัฐบาลต่อไป จึงอยากจะฝากไปยังนายกรัฐมนตรี ให้ฟังเสียงของประชาชน และทบทวนวิธีการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหายางพารากันใหม่อีกครั้ง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น