xs
xsm
sm
md
lg

อาลัย ‘สุรเชษฐ์ จันทร์ทอง’ นักบินพารามอเตอร์ไฟแรง เสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะซ้อม (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ญาติมิตรร่วมไว้อาลัย ‘น้องเป๊ก’ สุรเชษฐ์ จันทร์ทอง นักกีฬาพารามอเตอร์อนาคตไกลที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตขณะฝึกซ้อม เผยความฝันสุดท้ายก่อนเสียชีวิตคือการนำพารามอเตอร์ขึ้นบินสำรวจ ป้องกันการลักลอบบุกรุกป่าใน จ.สงขลา ร่วมกับประชาคมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ
 
จากกรณีที่ นายสุรเชษฐ์ จันทร์ทอง หรือ ‘น้องเป๊ก’ อายุ 24 ปี นักบินพารามอเตอร์ ชาว อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตขณะนำเครื่องพารามอเตอร์ร่อนลงจอดบนลานฝึกในพื้นที่ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เมื่อช่วงเย็นวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ญาติได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดเกาะเสือ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และมีพิธีฌาปนกิจไปเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา มีญาติมิตรมาร่วมไว้อาลัยเป็นจำนวนมาก 



 
สำหรับ นายสุรเชษฐ์ จันทร์ทอง หรือ ‘น้องเป๊ก’ เป็นนักบินพารามอเตอร์รุ่นใหม่ไฟแรงของภาคใต้ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2557 เคยเข้าร่วมแข่งขันพารามอเตอร์รายการ “Air Sea Land 2014” ที่ จ.กระบี่ และชนะเลิศได้รับเหรียญทองในการแข่งขันประเภท ดิ เอ็ท และคว้าอันดับที่ 3 ในคะแนนรวมของการแข่งขั้นทั้ง 4 ประเภท
 
นอกจากวงการกีฬา นายสุรเชษฐ์ จันทร์ทอง หรือ ‘น้องเป๊ก’ ยังเคยแสดงภาพยนตร์โฆษณาเครื่องดื่มอาหารเสริมยี่ห้อหนึ่ง และเคยไปออกรายการเกมโชว์รายการหนึ่งและนำชื่อรายการมาตั้งเป็นชื่อร้านจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องใช้ในครัวเรือนนำเข้าจากประเทศจีน ทำให้ชื่อเสียงของน้องเป๊กเป็นที่รู้จักมากขึ้น
 

 
หลังจากสูญเสียเพื่อนร่วมวงการพารามอเตอร์ นายณัฐชัย แก้วมาก หรือ ‘ต้น ใต้สวรรค์’ ศิลปินวงใต้สวรรค์ ที่ร่วมฝึกบินพารามอเตอร์กับน้องเป๊ก กล่าวว่า รู้สึกตกใจต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และเสียดายที่เด็กหนุ่มซึ่งมีอนาคตไกล และเป็นความหวังของเพื่อนๆ และครอบครัวต้องมาเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร กิจกรรมสุดท้ายที่ได้ทำร่วมกันคือ การนำพารามอเตอร์ขึ้นบินเหนือป่าผาดำ อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ในกิจกรรมคอนเสิร์ตอนุรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา
 
“ทางกลุ่มนักบินพารามอเตอร์ใน อ.หาดใหญ่ มีกิจกรรมที่จะทำร่วมกันกับกลุ่มประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ คือ การนำพารามอเตอร์มาขึ้นบินเพื่อสำรวจ และเฝ้าระวังการบุกรุกป่าต้นน้ำผาดำ เพราะก่อนหน้านี้ มีการคิดกันมาตลอดว่าทำอย่างไรจึงจะนำกีฬาที่เราชื่นชอบให้สามารถช่วยสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์ได้ แต่น่าเสียดายที่น้องเขาต้องมาจากไปเสียก่อน แต่อย่างไรก็ตาม เราก็จะยังคงต้องทำกิจกรรมนี้ต่อไปตามที่ตั้งใจไว้ และหลายคนคงจะคิดถึงน้องเป๊กไปอีกนาน” ต้น ใต้สวรรค์ กล่าว
 

 
ทั้งนี้ ในเฟชบุ๊กของน้องเป๊ก มีผู้มาร่วมไว้อาลัยจำนวนมาก โดยข้อความหนึ่งจากครอบครัวของน้องเป๊ก ระบุว่า
 
“ได้คุยกับน้องก่อนหน้าห่างกันไม่กี่วัน...ก่อนที่น้องจะจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ..มีอยู่หนึ่งประโยคที่ประทับใจมาก....น้องบอกว่าจะทำให้จันทร์ทองมีชื่อเสียงให้ได้”
 
ทั้งนี้ ความพยายามมุ่งมั่นในการฝึกฝนจนได้รับรางวัลจากการแข่งขันพารามอเตอร์หลายรายการส่งผลให้ชื่อเสียงของน้องเป๊กเป็นที่จับตามองของวงการกีฬาพารามอเตอร์ในระดับแถวหน้าของภาคใต้ จนได้รับโอกาสให้เตรียมตัวเข้ารับการคัดเลือกเข้าร่วมทีมพารามอเตอร์ ทีมชาติไทย แต่น่าเสียดายที่น้องเป๊ก มาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไปเสียก่อน
 

 
สำหรับอากาศยานที่เรียกว่า ‘พารามอเตอร์’ (Paramotor) ข้อมูลในเว็บไซต์วิกิพีเดีย ระบุว่า คืออากาศยานขนาดเล็ก ใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กที่นักบินสามารถแบกบนหลังเหมือนแบกเป้ ประกอบกับร่มแบบมาตรฐานคล้ายกับที่ใช้ร่อนจากภูเขา แต่ด้วยเครื่องยนต์ทำให้พารามอเตอร์สามารถบินขึ้นลงได้อย่างอิสระมากว่าร่มร่อน (paraglide)
 
พารามอเตอร์ เป็นรูปแบบการบินที่ปลอดภัย และประหยัดที่สุด อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการบินสามารถจัดเตรียมเก็บขึ้นรถยนต์เพื่อเตรียมพร้อมบินได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที อัตราความเร็วในการบินจะอยู่ที่ประมาณ 40-55 กม./ชม. ขึ้นอยู่กับสมรรถนะของร่มด้วย เชื้อเพลิง 10 ลิตร จะบินได้ประมาณ 3 ชม. ดังนั้น ถ้าสภาวะอากาศเอื้ออำนวย การบินแต่ละครั้งจึงไปได้ไกลกว่า 100 กม.
 

 
พารามอเตอร์ มีข้อเด่นอีกอย่างคือ ใช้พื้นที่ในการบินขึ้นลงที่สั้น จึงบินขึ้นลงในพื้นที่ที่จำกัดได้ อย่างเช่น สนามฟุตบอล เป็นต้น นักบินสามารถตรวจสอบเตรียมความพร้อมที่จะบินขึ้นได้ในเพียงไม่กี่ขั้นตอน และเมื่อ take of แล้ว ก็สามารถบินอยู่ได้นานตราบเท่าที่เครื่องยนต์ยังทำงาน ซึ่งเมื่อไต่ขึ้นได้ระดับก็สามารถเบาเครื่องเพื่อประหยัดเชื้อเพลิงได้ ทำให้การบินข้ามประเทศเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ เพราะนักบินสามารถใช้เทคนิคการบินที่เรียกว่า Ridge-lift ซึ่งอาศัยแรงยกจากอากาศร้อน หรือลมจากภูเขาช่วย ดังนั้น ถึงแม้ว่าเครื่องยนต์จะมีปัญหา นักบินก็สามารถร่อนลงสู่พื้นดินได้อย่างปลอดภัย ซึ่งอันที่จริงแล้วนักบินทุกคนต้องได้รับการฝึกพื้นฐานถึงเรื่องการดับเครื่องยนต์ก่อนร่อนลงนี้อยู่แล้ว
 
การบินในระดับความสูงที่ 500-1,000 ฟิต เป็นเรื่องที่น่าสนุก นักบินสามารถไต่ระดับความสูงขึ้นไปได้ถึง 10,000 ฟิต สถิติโลกบันทึกไว้ว่า ความสูงที่ทำไว้สูงสุดคือ 18,000 ฟิต จากระดับน้ำทะเล
 

 
เครื่องยนต์ที่ใช้กันแพร่หลายเป็นเครื่องยนต์ 2 จังหวะ สูบเดียว 210 ซีซี ให้กำลัง 12-15 แรงม้า ในรุ่นที่ใช้ในการแข่งขันสามารถปรับแต่งเครื่องยนต์ขึ้นไปถึง 22-25 แรงม้า น้ำหนักสุทธิของชุด backpack ปกติแล้วจะน้อยกว่า 25 kg.พารามอเตอร์ ใช้เพื่อการสันทนาการ, การแข่งขัน, การถ่ายภาพทางอากาศ, การสำรวจป่าและทรัพยากร, การทหาร และอื่นๆ
 
แอฟริกาใต้ เป็นแหล่งผลิตพารามอเตอร์ที่มีชื่อเสียง และยังเคยเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน World championship เมื่อปี 1996 ที่ Cato Ridge, Durban
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น