ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดเวทีประชาเสวนาหาทางออก เรื่อง “สานพลังประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย” ครั้งที่ 6 ที่ จ.สงขลา
เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (21 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมพาวิลเลี่ยน อ.เมือง จ.สงขลา สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดเวทีประชาเสวนาหาทางออก เรื่อง “สานพลังประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย” ครั้งที่ 6 โดยมี นายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายเอกรัฐ หลีเส็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และนายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ร่วมรับฟังการเสวนาฯ ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วย จ.สงขลา จ.ตรัง จ.สตูล จ.พัทลุง จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส เข้าร่วมจำนวนมาก
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า การจัดเวทีเสวนในครั้งนี้เกิดจากการที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มุ่งหวังให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศทุกภูมิภาค จำนวน 10 ครั้ง เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศในการนำมาสรุปสังเคราะห์ประเด็นต่างๆ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
สำหรับเวทีดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ก.พ. โดยในวันนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คนที่หนึ่ง กล่าวเปิดการเสวนาฯ พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การปฏิรูปแห่งชาติ” การอภิปรายเกี่ยวกับการสร้างฉันทมติ กิจกรรมสัมพันธ์ และการมอบโจทย์ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมเสวนา ขณะที่ทีมวิทยากรนำโดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า พร้อมด้วย นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
โดยมีการแบ่งผู้เข้าร่วมเสวนาเป็น 8 กลุ่มย่อย และระดมความคิดเห็นเรื่อง “ภาพอนาคตประเทศไทยที่พึงปรารถนา” โดยมีผู้แทนกลุ่มออกมาอภิปราย และสรุปผลร่วมกัน ส่วนในวันพรุ่งนี้ (22 ก.พ.) จะมีการอภิปรายร่วมกันในประเด็นพลเมืองที่ดี การมีส่วนร่วมทางการเมือง ผู้นำที่ดี การต่อต้านการทุจริต การปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงการหาแนวทาง วิธีการ และผู้ที่ควรมีส่วนร่วมที่จะทำให้ภาพอนาคตในแบบที่พึงปรารถนาเป็นจริง หลังจากนั้น จะมีการสรุปผลการอภิปรายเพื่อนำไปเป็นข้อมูลเสนอกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และปิดท้ายด้วยพิธีมอบเกียรติบัตรให้ผู้เข้าร่วมเสวนาฯ ทุกคนอีกด้วย