xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ยันฟัง ปชช.ต่อเนื่อง ขอทุกฝ่ายร่วมเป็นเจ้าของ รธน.ที่มั่นคง ฉีกยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วุฒิสาร ตันไชย  โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ(แฟ้มภาพ)
เสวนาอบรมทักษะสร้างปรองดอง เพื่อปฏิรูป โฆษก กมธ. เผย ต้องฟังความเห็น สปช. ก่อน กมธ.ยกร่างถกกันถึงสาระสำคัญ รธน. จึงเขียนโครงร่าง รธน. ส่ง สนช.- สปช.- ครม. พิจารณา แจงฟัง ปชช. ต่อเนื่อง ต้องมีความน่าเชื่อถือ ชี้ ปฏิรูป สปช. ต้องช่วย ขอทุกฝ่ายเข็นเรือแห่งโอกาสลงมหาสมุทร ให้ทุกคนเป็นเจ้าของ รธน. ที่มั่นคง ฉีกยาก

วันนี้ (10 ธ.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญและสถาบันพระปกเกล้า ร่วมจัดงานเสวนา เรื่อง “การอบรมเสริมทักษะผู้สร้างความปรองดองในกระบวนการประชาเสวนาหาทางออก เพื่อการปฎิรูประเทศไทย” โดยมี นายวุฒิสาร ตันไชย โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่ง ว่า หัวใจสำคัญสำหรับการยกร่างฯ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 - 17 ธ.ค. ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯจะต้องไปรับฟังความเห็นจากที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งจะมีคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 คณะ คอยให้ความเห็นที่ต้องการปฏิรูปประเทศ จากนั้นคณะกรรมาธิการยกร่างฯก็จะมาคุยกันว่า สาระสำคัญในรัฐธรรมนูญความจะมีอะไรบ้าง แล้วจึงเขียนโครงร่างของรัฐธรรมนูญเบื้องต้น ให้แล้วเสร็จ ในวันที่ 17 เม.ย. 58 ก่อนส่งให้ สปช. สนช. และ ครม. พิจารณาทบทวนให้ความเห็นต่อไป จากนั้นกรรมาธิการยกร่างฯก็มีเวลาอีก 30 วัน สำหรับการปรับแก้

ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็จะรับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 10 จุด ทั่วประเทศ ซึ่งจะมีความสำคัญทั้งสาระและกระบวนการ เพื่อนำมาประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยหัวใจสำคัญจะอยู่ที่กระบวนการ ซึ่งเราต้องดูว่า เมื่อทำเสร็จแล้วประชาชนเชื่อถือยอมรับได้หรือไม่ ข้อมูลที่ได้จากการรับฟังจะต้องมีความน่าเชื่อถือ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า เป็นเจ้าของสาระที่เสนอ เป็นเจ้าของอำนาจ ก็จะเกิดกระบวนการติดตามตรวจสอบเอง ดังนั้น ทั้ง 10 เวที ต้องมีกระบวนการที่มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความเป็นกลางของข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญ กระบวนการดังกล่าวนี้จะเป็นไปตามที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ย้ำมาตลอดว่า กระบวนการรับฟังความเห็นจากประชาชนนั้น ไม่ใช่พิธีกรรมอย่างแน่นอน

“ส่วนการปฏิรูปไม่ได้หมายความเพียงแค่รัฐธรรมนูญอย่างเดียว เพราะไม่สามารถบัญญัติให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนได้ การปฏิรูปประเทศจึงเป็นหน้าที่ของสปช.ด้วย เนื้อหาที่ได้จากการรับฟังความเห็น บางส่วนอาจสามารถบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญได้ แต่บางส่วนต้องส่งให้ สปช. ที่เหลือเวลาทำหน้าที่อีก 1 ปี ร่วมดำเนินการ ทุกคนต้องช่วยเข็นเรือแห่งโอกาสลงสู่มหาสมุทรที่กว้างใหญ่ เพื่อทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทุกคนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่เฉพาะแค่สปช. 250 คน และ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ 36 คน ทั้งนี้ ยังต้องร่วมกันทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มั่นคงถาวร ฉีกได้ยาก อีกด้วย” นายวุฒิสาร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น