xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้ปฏิรูปรอบด้าน (2 ตอนจบ)...ปล่อยผีสัมปทานรอบ 21 จะหนุนพลังงานข้ามโลกพลิกโฉมด้ามขวานไทยเป็นฐานผลิต “อุตฯปิโตรเคมี” (ฟังคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
18 ก.พ.นี้..?! คือก้าวแรกมหกรรมสูบเลือดเนื้อคนไทยระลอกใหม่จาก “สัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21” เพื่อการเรียนรู้อย่างรอบด้าน เพราะประเทศไทยจะถูกผลักดันให้เป็น “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” ที่จะกลายเป็นฐานผลิต “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่แห่งใหม่ ASTVผู้จัดการภาคใต้ ขอถอดบทสัมภาษณ์แบบคำต่อคำของ “ปิยะโชติ อินทรนิวาส” โดย “บัญชร วิเชียรศรี” ผ่านรายการสภากาแฟ ที่นำเสนอทางสถานีวิทยุ มอ.88 แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มานำเสนอเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ปฏิรูปพลังงานที่กำลังแหลมคมยิ่ง
 
คลิปเสียงตอนที่ 2

   

 
บัญชร วิเชียรศรี : สวัสดีผู้ฟังรายการสภากาแฟวันนี้ วันศุกร์แรม 6 ค่ำ เดือนอ้าย ที่ 12 ธันวาคม 2557 ผม-บัญชร วิเชียรศรี ครับ
 
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเราคุยกับ คุณปิยะโชติ อินทรนิวาส ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพลังงานข้ามโลก ปูพื้นฐานมาตั้งแต่ยุคอดีตเลยนะครับ แล้วก็ไล่ภูมิศาสตร์โลกเลยว่า ภูมิศาสตร์ทะเลที่เชื่อมกับแผ่นดินที่ทำให้สังคมและก็ธุรกิจการค้าของโลกนี้นี่ มันเชื่อมต่อกันอย่างไร เราก็ได้ความรู้ตั้งแต่ว่าโลกนี้นี่ถ้ามองในแง่ของการเดินทางทางทะเล ก็มีติ่งสำคัญอยู่สามติ่ง ก็คือเป็นติ่งของอเมริกา แอฟริกา แล้วก็ติ่งทางเอเชีย ไปถึงเส้นทางของพลังงาน
 
ประวัติการพยามยามที่จะสร้างแหล่งที่ใช้พลังงานที่เป็นอุตสาหกรรมทั้งหลาย แต่ละจุด แต่ละที่ในโลกนี้ มันเคลื่อนไปเรื่อยๆ อายุของแต่ละแหล่งๆ มันก็มีอายุประมาณ 40 ปี พอ 40 ปีนี่ถือว่าสูบทรัพยากรแล้วภาระแบกรับเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องมลพิษอะไรนี่มันเต็มที่แล้วในพื้นที่นั้น มันก็ต้องเคลื่อนไปหาที่ใหม่ และก็ที่ใหม่ล่าสุดไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศเรา ภูมิภาคเรา หรือว่าที่ทั้งโลกกำลังจับตามองดูอยู่ก็แถวบ้านเรานี่ละครับ ก็คือ จังหวัดสงขลา พื้นที่ใกล้เคียงเชื่อมไปจนถึงฝั่งตะวันตกของประเทศไทยที่ จังหวัดสตูล และพื้นที่ใกล้เคียงเช่นเดียวกัน
 
วันนี้สภากาแฟเรามาต่อกันเรื่องนี้ และมาลงรายละเอียดกันในพื้นที่ว่า มุมมองของการพัฒนาประเทศพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในมุมองภาครัฐ แล้วก็เอกชนทั้งในและนอกประเทศที่เค้ามองอยู่นี่ เค้ามีอะไรบ้าง แล้วก็ส่งสัญญาณอะไรอยู่บ้าง วิทยากรเช่นเดิมครับ คุณปิยะโชติ อินทรนิวาส
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : สวัสดีครับ
 
บัญชร วิเชียรศรี : วันก่อนเราเห็นภาพกว้างแล้ว แต่วันนี้เราขยับมาใกล้ๆ ตัวแล้ว วันก่อนนี่เวลาพูดยังต้องนึกถึงแผนที่โลก ตอนนี้นึกถึงแผนที่สงขลาและสตูลเป็นหลัก
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ก็คืออย่างที่บอกนะครับว่า ถ้าเราทำความเข้าใจกันการเคลื่อนของแหล่งที่เป็นการเติบโตของโลกอุตสาหกรรมต่างๆ เราก็จะเข้าว่า วันนี้มันถ่ายเทมาที่ภาคตะวันออกของโลก ก็ถ่ายเทมาที่จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง แล้วก็รวมมาถึงอาเซียน รวมมาถึงไทย ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียนะครับ เวียดนามก็กำลังเป็นดาวรุ่ง
 
อย่างที่ผมบอกนะครับว่า วันนี้ “โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด” มันถ่ายทอดมาเป็น “เซาเทิร์นซีบอร์ด” หรือ “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก” มันถ่ายทอดมาเป็น “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้” จากแลนด์บริดจ์ที่เกิดขึ้นตอนกลางของประเทศไทย จ.ระยองกับ จ.ชลบุรีไปเชื่อมกับทวายของพม่า วันนี้มันถอยลงมาที่ภาคใต้ตอนบนไม่ได้ ภาคใต้ตอนกลางไม่ได้ ก็มาอยู่ที่ภาคใต้ตอนล่าง ในขณะที่มาเลเซียก็จะขอเอาแลนด์บริดจ์มาเชื่อมกัน
 
แล้วแลนด์บริดจ์ภาคใต้มันก็คือ “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้” หรือว่า “เซาเทิร์นซีบอร์ด” แสดงว่ามันก็ต้องจำลองรูปแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเดียวกัน มันมีความจำเป็น ในเมื่อภูมิศาสตร์เศรษฐกิจของภาคใต้จำเป็นจะต้องให้เกิด “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” แห่งใหม่
 
ที่ผ่านมาอย่างที่บอกนะครับว่า “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” มันก็มาตามเส้นทางการค้ามา ก็คือผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งก็ผลสุดท้ายก็กลายเป็นว่า ประเทศสิงคโปร์กับประเทศมาเลเซียก็คือรัฐยะโฮร์บาห์รูมีอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมัน การแยกก๊าซ อะไรต่างๆ ทำให้เกิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมของโลกตามมา
 
เพราะว่าในสังคมไทยเราก็จะมีข้ออ้างอีก สิ่งที่เราจะพูดตลอดว่า เราอยากจะทำแลนด์บริดจ์ เราอยากจะขุดคลองกระนี่ สิงคโปร์ไม่ยอมแน่นอน วันนี้ถ้าพูดถึงสิงคโปร์ สิงคโปร์นี่มันมีเงาของมหาอำนาจล้านเปอร์เซ็นต์ ถ้าสิงคโปร์ในอาเซียน ในเอเชียนี่สิงคโปร์คือลูกคนแรกของอเมริกานะครับ ก็คือเราอนุมานกันได้แบบนั้น ก็ทำให้สิงคโปร์วันนี้เค้าอยากจะให้เกิดแลนด์บริดจ์ในภาคใต้ของไทยมาเป็นศูนย์กลางพลังงานที่ใหม่ไหม เราก็บอกว่าสิงคโปร์ไม่ยอม
 
แต่จริงๆ เราพิจารณาที่ช่องแคบมะละกา ปรากฏว่าช่องแคบมะละกานี่ในเมื่อโลกตะวันออกพัฒนาขึ้น มันกลายเป็นซันไชน์อินดัสตี้ คืออุตสาหกรรมดาวรุ่งของอุตสาหกรรม กำลังเป็นอุตสาหกรรมตะวันโผล่ดิน ทำให้ต้องมีปริมาณที่ต้องการทั้งสินค้า ทั้งพลังงานข้ามโลกมากขึ้น ปรากฏว่าช่องแคบมะละกาวันนี้มันรับไม่ไหว วันนี้สิ่งที่เราเห็น เช่น เราเห็นเรื่องสลัดมะละกาในประมาณสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมามีการจับ สรุปเรือไทยก็เกี่ยวข้องด้วย กัปตันเป็นคนไทยบ้าง อะไรบ้าง ในช่องแคบมะละกานี่มันรับไม่ไหว
 
หนึ่ง-รับไม่ไหวด้วยภาวะสิ่งแวดล้อม รับไม่ไหวด้วยการเกิดอุตสาหกรรมอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว สอง-เรือสินค้า เมื่อโลกตะวันออกอย่างจีนและย่านนั้นต้องการใช้ปริมาณสินค้าเยอะ ต้องการใช้พลังงานเยอะ มันจะต้องขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่วันนี้ช่องแคบมะละกานี่มันโอดครวญมากเลย ตัวเลขที่ผมไปดูครั้งที่แล้วช่องแคบมะละกานี่เชื่อว่าเรือสินค้าผ่าน แต่ละปีที่ผ่านช่องแคบมะละกาไม่ว่าจะเป็นเรือส่งสินค้า อุตสาหกรรมหรือเรือขนส่งปิโตรเลียมเอามากลั่น ผ่านเข้าไปในช่องแคบมะละกาปีละกว่าแสนลำ กว่าแสนลำนี่เราลองมาคิดง่ายๆ เอา 365 วันไปหาร เฉลี่ยแล้วจะต้องมีเรือเดินสมุทรผ่านช่องแคบมะละกา 270-300 ลำต่อวัน เลยรับไม่ไหว
 
วันนี้ช่องแคบมะละกาที่เค้าใช้คำว่า Traffic Jam ก็คือการจราจรมันแออัดมากๆ และสองมลภาวะมหาศาล ต้องหาสิ่งทดแทน การหาสิ่งทดแทนช่องแคบมะละกา ในเมื่อช่องแคบติ่งที่สามของโลก กล่าวคือมีการขุดคลองปานามา ขุดคลองสุเอช แต่ติ่งที่สามเคยคิดจะขุดคลองกระ แต่ไม่ก็ขุด ผลสุดท้ายมันผ่านช่องแคบมะละกามาตลอด วันนี้สิ่งที่จะมามันไม่ใช่ทดแทนนะครับ มาเสริมศักยภาพช่องแคบมะละกาได้ก็คือ “แลนด์บริดจ์” เท่านั้น
 
แลนด์บริดจ์ตรงนี้จะมาช่วยอะไร หนึ่งช่วยในการขนส่งสินค้าข้ามโลก แต่ว่าจะต้องเอาเรือมาขึ้น แล้วก็เอาคอนเทนเนอร์ลงที่ท่าเรือ แล้วก็ใส่รางไป แล้วก็เอาไปลงอีกท่าเรือหนึ่ง แล้วก็ใส่เรือขึ้นไป หรือสองถ้าทดแทนได้ดีที่สุดนี่อุตสาหกรรมน้ำมัน อย่างที่ผมว่าไว้ตอนที่แล้วนะครับ เราซื้อน้ำมันจากตะวันออกกลางมา วันนี้เราก็สั่งมาแล้วแทนที่จะส่งน้ำมันดิบไปให้จีน ญี่ปุ่น ให้ฝั่งตะวันออกที่เป็นประเทศที่กำลังรุ่งโรจน์ ปรากฏว่าเราส่งน้ำมันสุกไป ไม่ว่าจะเป็นเบนซิน ดีเซล แสดงว่ามันกลั่นน้ำมันกันอยู่ที่สิงคโปร์กับมาเลเซีย ศูนย์กลางสิงคโปร์จึงเป็นศูนย์กลางการอ้างอิงเรื่องตลาดน้ำมันต่างๆ
 
วันนี้สิ่งที่จะทดแทนได้ดีที่สุดเลยก็คือ การสร้างแลนด์บริดจ์ตรงนี้ขึ้นมา ปรากฏว่าแลนด์บริดจ์ตรงนี้มันจะรองรับ สมมุติว่าจะเอาสินค้าข้ามฝั่งนี่ หนึ่งมันจะต้องเอาคอนเทนเนอร์ เรือสินค้าขนาดเล็กของโลกจะขนได้ประมาณ 4 พันตู้คอนเทนเนอร์ ใช้เรือในขนาดสี่พันตู้คอนเทนเนอร์นี่ขนมาลงท่าเรือ สมมุติวันนี้แลนด์บริดจ์ในประเทศไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว มาลงที่ท่าเรือปากบารา จากปากบาราเอาลงหน้าท่า เอาคอนเทนเนอร์ลง แล้วจากปากบาราขนขึ้นรถไฟไป แล้วให้รถไฟวิ่งชนิดแบบเป็นร้อยๆ ตู้คอนเทนเนอร์ แล้วก็ไปขนลงท่าเรือที่นาทับ ที่ท่าเรือสงขลา 2 แล้วก็ยกขึ้นเรือสินค้าลำใหม่ไป นี่ทำแบบต่อเนื่องนะครับ ทำแบบเร็วไม่มีเวลาหยุดพัก เฉพาะเรือแค่ 4 พันตู้คอนเทนเนอร์ ยกขึ้นยกลงๆ ใส่รถไฟวิ่งนี่ใช้เวลารวมแล้วประมาณ 40 กว่าชั่วโมง
 
บัญชร วิเชียรศรี : คือต้องเดินทางอ้อมแหลม?
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ครับ เดินทางอ้อมแหลมประมาณ 19 ชั่วโมง ถ้าเอาเรือลำเดียวกันอ้อมช่องแคบมะละกาไปใช้เวลาประมาณ 19 ชั่วโมง ข้อมูลคนที่คำนวณตรงนี้คือ ผู้จัดการท่าเรือสงขลาแห่งแรกมาคำนวณกันให้ฟังเลยว่าใช้เวลาเท่าไหร่
 
บัญชร วิเชียรศรี : 19 ชั่วโมง แล้วมานี่ 40 ชั่วโมง ก็ใช้เวลามากว่าซิครับ?
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ครับมากกว่า มันคุ้มไหมกับการเป็นคนส่งสินค้า สองค่าใช้จ่าย 19 ชั่วโมงนับเลยนะจากจุดนี้ในการเดินทาง 19 ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมัน ค่าใช้จ่ายเรื่องพนักงาน เรื่องเจ้าหน้าที่บนเรือ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการตรงนั้น ช่วง 19 ชั่วโมงประมาณ 7-8 พันเหรียญดอลลาร์สหรัฐ แต่ว่าสังเกตไหมครับ ต้องเอาเรือมาจอดที่ท่าเรือปากบารา เอาเรือสินค้า 4 พันตู้คอนเทนเนอร์จะต้องมีเครนไปขนจากปากบาราลงมาไว้ที่หน้าท่า จากหน้าท่าเอาเครนขนขึ้นมาไว้ที่รถไฟ แล้วก็ให้รถไฟวิ่งมาถึงสงขลา แล้วก็ขนลงท่าไปลงเรือ ค่าใช้จ่ายมีทุกกระเบียดนิ้ว เกิดค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขนขึ้นหนึ่งครั้ง ขนลงหนึ่งครั้ง วิ่งลงมาค่าใช้จ่ายให้การรถไฟ เอาลงค่าโน้นค่านี่ คิดแล้วประมาณ 7-9 หมื่นเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ต่างกันเป็นร้อยๆ เท่า
 
เพราะฉะนั้นแลนด์บริดจ์นี้ที่จะมาเสริมศักยภาพ หรือมาทดแทนเรื่องการเอาน้ำมันข้ามโลก เพราะน้ำมันนี่ยังไงมันก็ต้องเอาน้ำมันดิบมาลง แล้วก็ต้องกลั่น เพราะฉะนั้นก็ต้องเอาน้ำมันดิบมาลงที่ท่าเรือปากบารา ผ่านกระบวนการกลั่นที่ปากบารา แล้วก็ส่งท่อมาที่สงขลา แล้วก็เอาน้ำมันสุกนี่ส่งไป
 
บัญชร วิเชียรศรี : คือถ้ามองในมุมนี้ ถ้าปากบารามีท่าเรือ การที่จะทำให้คุ้มนี่ต้องมีโรงกลั่นน้ำมันแน่นอน
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : เพราะฉะนั้นมันก็คือเป็น “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” ก็คือภาคใต้ โดยเฉพาะสงขลากับสตูลเหมาะที่สุด จะต้องเป็นเรื่องของพลังงานข้ามโลกมากกว่าที่จะเป็นสินค้าข้ามโลก เพราะสินค้าข้ามโลกอย่างที่ผมคำนวณให้ฟังว่าเรือเล็กๆ ประมาณ 4 พันตู้คอนเทนเนอร์ แต่เรือใหญ่นี่มันประมาณ 2 หมื่นตู้คอนเทนเนอร์ ถ้าเอาเรือที่เป็นหมื่นตู้คอนเทนเนอร์มาขนนี่ไม่ใช้เวลาเป็นวันหรือ มันไม่คุ้มล้านเปอร์เซ็นต์ ก็เลยคิดว่ายุทธศาสตร์ของแลนด์บริดจ์ตรงนี้มันไม่ใช่เพื่อขนสินค้าข้ามโลก เพราะมันไม่คุ้ม คุ้มที่สุดก็คือช่องแคบมะละกา
 
บัญชร วิเชียรศรี : สินค้าอย่างอื่นก็แค่เป็นผลพลอย
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : แต่ว่าช่องแคบมะละกาจะลด Traffic Jam จะลดปริมาณการจราจร ลดสิ่งแวดล้อม ลดทุกสิ่งทุกอย่างก็คือ เอาเรืออุตสาหกรรมน้ำมัน...
 
บัญชร วิเชียรศรี : ก็คือตัดเรือน้ำมันออก เรือสินค้าอย่างอื่นก็ยังคงใช้มะละกาอยู่ ทำให้มะละกายังไม่ตาย อย่างว่ามันจำเป็นที่จะต้องใช้ทางนั้นอยู่ เพราะมันคุ้มกว่าทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย แต่ว่าไปลดเรื่องเรือน้ำมันที่สัญจรเอามาไว้ตรงนี้แทน
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : มันก็เลยทำให้ภาคใต้ที่สงขลากับสตูลเหมาะที่จะเป็น “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก”
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส (แฟ้มภาพ)
 
บัญชร วิเชียรศรี : คุณปิยะโชติคิดมากไปหรือเปล่า มันซับซ้อนขนาดนั้นเลยหรือครับ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ไม่ได้คิดนะครับ ผมไปหาตัวเลขมาอย่างที่ผมบอกว่า ผมเขียนขึ้นปกผู้จัดการรายเดือน พาดหัวเลยนะครับ หนังสือนิตยสารผู้จัดรายเดือน ซึ่งระดับผู้บริหารทั่วประเทศไทยนี่อ่านกัน ผมพาดหัวว่า “พลังงานข้ามโลก”
 
บัญชร วิเชียรศรี : มีใครเคยประกาศออกมาบ้างไหมว่า ตั้งใจจะทำให้มันเป็นแบบนี้
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ทุกคนก็พยายามพูดถึงเรื่องการขนส่งสินค้า แต่ถามว่าเคยมีใครเคยประกาศไหม เอาง่ายๆ นะครับ รัฐบาลอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) บอกแล้วว่า วันนี้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทยพัฒนา 3 เฟส จำได้ไหมครับจะได้ยินวาทะกรรมนี้ 3 เฟสที่มาบตาพุด เกิดขึ้นครั้งแรกมีการเตรียมพื้นที่ให้เกิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไว้ที่มาบตาพุดโดยภาครัฐประมาณ 4 พันไร่ แล้วขยายสูงสุดวันนี้ 4 หมื่นกว่าไร่ 3 เฟสเต็มพื้นที่ ขยายไม่ได้แล้ว รัฐบาลอภิสิทธิ์เลยมาบอกว่า ตั้งแต่เฟสที่ 4 เป็นต้นไปต้องอยู่ที่ภาคใต้เท่านั้น
 
ถ้าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีลงมาภาคใต้ มันก็ต้องมีอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมัน มันก็ต้องเป็น “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” ลองสังเกตไหมครับ รัฐบาลไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ชวลิต (ยงใจยุทธ) หรือไม่ว่าตอนไหนก็ตาม พาจีนมาดูจะสร้างแลนด์บริดจ์ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พากลุ่มดูไบเวิลด์มาดู กลุ่มดูไบเวิลด์กลุ่มอุตสาหกรรมของน้ำมันออกกลางจะสร้างแลนด์บริดจ์ อันนี้คือสัญญาณบอกเหตุ
 
เอาให้ชัดเจนที่สุดเลยนี่ ลองไปค้นดูนะครับ หรือว่าไปดูที่มายด์เฟิร์สอินโฟร์ของ ASTVผู้จัดการ นี่วาทะกรรมล่าสุดคือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพิ่งพูดไว้ตอนที่มารับตำแหน่งใหม่ๆ ไว้ว่า แลนด์บริดจ์ที่ภาคใต้ท่านใช้คำว่า “เอนเนอร์ยี แลนด์บริดจ์”
 
บัญชร วิเชียรศรี : ตรงไปตรงมาเลยนะครับ ชัดเจน ก็คือเป็นแลนด์บริดจ์ที่ทำเรื่องพลังงาน ซึ่งพลังงานก็หลีกเลี่ยงปิโตรเคมีไม่ได้เหมือนกัน
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : เพราะฉะนั้นความจำเป็นมันเลยต้องเกิด แล้วมันเหมาะที่จะเกิดอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ในขณะที่มาเลเซียก็มาขอเชื่อม เราก็ยังไม่ให้ ผลสุดท้ายมันก็เป็นยุทธศาสตร์ในประเทศ พอมาดูตรงนี้คำว่า “แลนด์บริดจ์” จะชี้ให้เข้าใจง่ายๆ เหมือนที่ผมพูดว่าโลกทั้งโลกมี 7 ทวีป แต่จริงๆ มันมีแค่ 3 ติ่งนะครับ แลนด์บริดจ์จริงๆ แล้วที่เราพูด ท่าเรือหัว-ท้าย ถนนมอเตอร์เวย์ เส้นทางรถไฟ แล้วก็ระบบท่อส่งก๊าซ-ส่งน้ำมัน ภาษาอังกฤษคือ infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐาน
 
มันก็ไม่ต่างอะไรกับว่า ถ้าสมมุติผมจะทำบ้านจัดสรรหนึ่งโครงการใหญ่ๆ เป็นร้อยเป็นพันเป็นแสนไร่ สิ่งที่ผมจะต้องสร้างครั้งแรกก่อนที่จะขายได้คือ เกลี่ยพื้นที่ ทำถนนเข้าโครงการ เอาประปาเข้า เอาไฟฟ้าเข้า ทำท่อระบายน้ำ ทำทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งหมดคือโครงสร้างพื้นฐาน
 
แลนด์บริดจ์ที่เราพูด องค์ประกอบของแลนด์บริดจ์ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือหัว-ท้าย ท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน รถไฟ ถนนมอเตอร์เวย์ มันก็คือโครงสร้างทำให้เกิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันขึ้นมา มันก็เหมือนกันที่เราจะทำบ้านจัดสรรก็ต้องทำโครงการพื้นฐานขึ้นมา
 
ปรากฏว่าบ้านจัดสรรตรงนั้นมันเป็นบ้านจัดสรรที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมมัน ก็เลยจะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ก็ต้องหาไฟฟ้า หาอะไรไว้ให้
 
บัญชร วิเชียรศรี : ก็เป็นโรงกลั่นน้ำมันก็ไม่เสียหายอะไรนี่ครับ เพราะว่าในสงขลาก็มีโรงแยกก๊าซ ซึ่งโรงแยกก๊าซก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า โรงแยกก๊าซนี่ถ้ามีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ร่วมด้วยนี่ มันก็คุ้มค่ามากที่สุด แต่ว่ามีกรณีที่ไม่ยอมรับกันก็ไม่ได้สร้างไป มันจะเป็นไปได้ไหมถ้าหากมีโรงกลั่นน้ำมัน แล้วมันก็จะไม่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเกิดขึ้น
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : มันเหมือนกับว่า ถ้าสมมุติว่าการกลั่นน้ำมันก็ไม่ต่างอะไรจากน้ำมันปาล์ม ธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ของไทยเราเป็นยางมากที่สุดในโลกเมื่อไม่กี่ปีมานี้นะครับ มาเลเซียปาล์มมากที่สุดของโลก ปรากฏว่ามาเลเซียเป็นอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม แล้วมาเลเซียก็เรียกโรงรีไฟล์ โรงแยกโรงสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ พอเราได้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ก็เอามาทำเป็นน้ำมันปาล์มทอด น้ำมันทำอาหาร แต่ว่ามาเลเซียนั้น สิ่งที่เค้าสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์นั้น เค้าไม่ได้ให้ความสำคัญกับน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ได้ แต่กากอุตสาหกรรมได้จากการผลิตนี้ เหมือนน้ำมันปาล์มนี่ก็เอามาทำน้ำมันไปโอดีเซลได้ ตรงนั้นมันเป็นสารเคมีที่ต่อเนื่องจากน้ำมันปาล์ม สูงสุดเลยมันคืออุตสาหกรรมเครื่องสำอาง จากน้ำมันปาล์มถุงหนึ่งเค้าไม่ค่อยใส่ใจ มันก็เลยทะลักเข้าไทยมาด้วยกองทัพมด เข้าหาดใหญ่บ้านเรา มาขายกัน น้ำมันกิโลฯ หนึ่งทะลักมาบ้านเราสิบกว่าบาท ยี่สิบกว่าบาท เป็นถุงใหญ่ๆ แล้วก็จัดการยาก
 
แต่ว่าเค้าไปทำอุตสาหกรรมสารเคมีอันหนึ่ง อยู่ในกระปุกอันหนึ่ง กระปุกนี้ประมาณพันหรือหมื่น ก็เช่นเดียวกัน กรณีอุตสาหกรรมปิโตรเลียมการกลั่นน้ำมัน คุณแยกก๊าซ คุณจะได้ก๊าซ ได้ปิโตรเลียมไป น้ำมันมันก็มีมูลค่าของมัน เช่น มาขายกันลิตรละสี่สิบกว่าบาท ลิตรละยี่สิบกว่าบาทก็ว่ากันไป แต่ว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะว่าเป็นกากหรืออะไรนี่ อย่างที่เราบอกไว้ตอนที่แล้ว มันคืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี มันเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเราทั้งหมด
 
บัญชร วิเชียรศรี : แค่ว่าเป็นเม็ดพลาสติกนี่ เราเอาไปทำอะไรได้สารพัดอย่าง
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : เสื้อ ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับเรา รองเท้า อย่างโน้นอย่างนี้ ที่สำคัญเป็นถึงอุตสาหกรรมอาหารก็ใช้ปิโตรเคมี เราเคยได้ยินไหมว่าบริษัทมาม่าก็ใช้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไอศกรีม ยา ยานี่เม็ดหนึ่งมหาศาลนะมูลค่า เพราะฉะนั้นผมเลยถามว่า อย่างที่คุณบัญชรถามว่ามันไม่ควรจะเกิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้นได้ไหม ในความเป็นจริงมันจะเป็นอย่างนั้นไหม
 
บัญชร วิเชียรศรี : คือมันไม่เป็นก็ได้ แต่ว่าในแง่ของคนที่ทำเรื่องธุรกิจแล้ว ถ้าเกิดไม่เป็น มันไม่มีทางคุ้มหรอก
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : แล้วจริงๆ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้น ในเมื่อทั่วโลกเค้าก็ใช้พลังงาน มันก็มีการกลั่นน้ำมันอยู่ในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก มีการแยกก๊าซอยู่ในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมันก็เกิดขึ้นทั่วโลก กลายเป็นว่าวันนี้ทั่วโลกมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ถ้าพูดหยาบๆ นิดหนึ่งก็เหมือนว่ามันจะล้นโลก ผลสุดท้ายรัฐบาลทุกประเทศที่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศก็ต้องอุ้มอุตสาหกรรมในประเทศ เช่น ประเทศไทยตอนนี้เจ้าของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีรายใหญ่รายเดียวและผูกขาดของอุตสาหกรรม...
 
บัญชร วิเชียรศรี : ของ...
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ปตท. ผลสุดท้ายมันก็ต้องมีรัฐบาลไปซัพซิไดส์ ไปสนับสนุน เอาก๊าซราคาถูกไปให้ ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ ตั้งกำแพงภาษี ตั้งโน้นตั้งนี้ เพื่อที่จะให้ใช้อยู่ในประเทศ แล้วก็ส่งออกได้บางสิ่งบางอย่าง เพื่อที่จะให้ไปแข่งขันได้ มันเป็นอุตสาหกรรมทีล้นโลก
 
ถามว่าประเทศไทยไม่เกิดได้ไหม ได้ครับ แล้วก็สั่งเข้ามาในราคาถูกก็ได้ แล้วก็คุ้มด้วย แต่โอกาสถ้าพูดถึงในเรื่องการลงทุน พูดถึงในเรื่องการพัฒนา ตรงนี้ก็ต้องมองในหลายมิติว่า พัฒนาแล้วรายได้ทั้งหมดไปอยู่ที่ไหน การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ทั้งหมดทั้งปวงไปอยู่ที่ ผลประโยชน์ไปตกที่กลุ่มทุนเท่านั้น ถามว่าประชาชนจริงๆ ได้แค่ไหน แล้วที่สำคัญสิ่งที่ตามมาในเรื่องภาวะแวดล้อมนี่ ตรงนี้ของแท้ที่ประชาชนได้
 
บัญชร วิเชียรศรี : แล้วจริงๆ นี่มันจะเกิดขึ้นจริงไหม
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ผมเป็นคนทำข่าว ดูข่าวต่างทั้งในและประเทศที่เชื่อมโยง เห็นข่าวการแย่งโน่นแย่งนี่ ผลสุดท้ายก็เห็นข่าวว่า ประเทศไทยก็ไม่ว่านายกฯ สมัยไหนที่ขึ้นมารับตำแหน่งใหม่ ประเทศที่ต้องไปเยือนก่อน หนึ่ง-ไปกัมพูชา สอง-ไปพม่า ทั้งหมดทั้งปวงมันเป็นเรื่องของพลังงาน เรื่องของปิโตรเคมี เป็นเรื่องของการพลังงานข้ามโลก มันเกี่ยวเนื่องกัน
 
ทีนี้พอมาดูข้อมูลข่าวสารทั้งหมด อย่างเมื่อวันศุกร์สุดท้ายของเดือนธันวาคม 2557 นี่เองครับ รัฐมนตรีพลังงานก็ออกมาบอกว่า ยังไงก็ต้องสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ ยังไงก็ต้องสร้าง ผลสุดท้ายพอเรามามองภาพรวมทั้งหมดนี่ วันนี้โรงไฟฟ้าจะเกิดที่ไหนบ้าง แล้วโรงไฟฟ้านี่เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้นใหม่ในประเทศ แล้วมากระจุกตัวอยู่ที่ภาคใต้
 
โรงไฟฟ้าถ่านหินจะเกิดที่ไหนของภาคใต้ 1. ที่กระบี่แน่นอน และกระบี่ไม่ใช่ 1 โรงนะครับ โรงหนึ่งเค้าจะทำประมาณ 780-800 เมกกะวัตต์ แต่ว่ากระบี่เค้าตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 3,200 เมกกะวัตต์ ก็ประมาณ 3-4 โรงเป็นอย่างต่ำ 2. ที่เป็นข่าวและที่เป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องมาก ก็คือที่นครศรีธรรมราชที่ อ.ท่าศาลา 1 โรง ที่ อ.หัวไทรที่นี่ประกาศครั้งแรกเลยว่าจะขึ้น 2 โรง แต่ว่าหลายครั้งถ้าที่ไหนขึ้นได้ 1 โรงแล้ว มันก็จะมีโรงที่สองโรงที่สามตามมา 3. ที่ อ.กันตัง จ.ตรัง 4. ที่ จ.สตูล 5. ที่ อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งประกาศและทำ ค.1 ไปแล้ว 2 โรงๆ ละ 1000 เมกกะวัตต์
 
แล้ว อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา โครงการนี้ก็ยังอยู่ แล้ววันนี้ใน จ.สงขลามีโรงไฟฟ้า 780 เมกกะวัตต์จากพลังก๊าซแล้ว มีโรงแยกก๊าซแล้วที่ อ.จะนะ โรงไฟฟ้าโรงที่ 1 เดินเครื่องผลิตมาหลายปีแล้ว โรงไฟฟ้าที่ 2 เพิ่งเดินเครื่องผลิตอีก 780 เมกกะวัตต์เหมือนกัน หรือประมาณ 800 เมกกะวัตต์ ผลิตไปแล้วเกือบ 2,000 เมกกะวัตต์ แล้วในพื้นที่รอบ อ.จะนะ ใกล้ๆ กันจะมีโรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวะมวลอีกประมาณ 3-5 โรง แล้วก็ตั้งกระจายกันอยู่
 
เราจะเห็นนะครับว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินมันล้อมรอบตั้งแต่ภาคใต้ตอนบน ไปภาคใต้ตอนล่าง แล้วล้อมรอบสงขลากับสตูล ลองนึกภาพรวมนะครับ แล้วมีโครงการจะเกิดโรงถลุงเหล็กที่ อ.ระโนด แล้วปรากฏว่า จ.สงขลา และ จ.สตูล ก็กลายเป็นศูนย์กลางของแลนด์บริดจ์ ก็กลายเป็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันคือ โครงสร้างพื้นฐาน มันก็เลยจะเห็นว่ารอบๆ แล้วศูนย์กลางที่สุดก็คือ จ.สงขลา กับ จ.สตูล
 
บัญชร วิเชียรศรี : โรงถลุงเหล็กนี่ ปีสองปีที่ผ่านมาเราได้ยินว่าจะไปลงที่ประจวบคีรีขันธ์
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ประจวบคีรีขันธ์ด้วย ที่ประจวบคีรีขันธ์รู้สึกว่าลงและลงได้รึเปล่าไม่ทราบ
 
บัญชร วิเชียรศรี : แต่ก็ถูกต้านเต็มแรงเหมือนกัน
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ก็เลยมาที่ อ.ระโนด อีกที่ก็คือที่ จ.จันทบุรี อันนี้เราพูดแบบให้ความเป็นธรรมนะครับ อ.ระโนดก็อยู่ในตัวเลือกนั้น พอเรามองเห็นโครงสร้างพื้นฐานหมด ศูนย์กลางมันอยู่ที่สงขลากับสตูล เห็นรึยังครับแล้ววันนี้อย่างที่บอกว่า ตอนที่เกิดเซาเทิร์นซีบอร์ดที่ภาคใต้ตอนกลาง รัฐบาลกันนิคมอุตสาหกรรมที่บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี จำได้ไหมครับ ตอนนี้ยังมีอยู่นิคมอุตสาหกรรมที่บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี หลายหมื่นหลายพันไร่ ปรากฏว่าที่ภาคใต้นิคมอุตสาหกรรมจะเกิดอย่างแน่นอนตามแผนพัฒนาเซาเทิร์นซีบอร์ด กันพื้นที่เอาไว้ประมาณ 1 แสน 5 หมื่นไร่ที่ จ.สตูล ตั้งแต่ อ.ละงู ผ่านมาถึง อ.มะนัง มาถึง อ.ควนกาหลง หนึ่งแสนห้าหมื่นไร่
 
ต้องบอกอย่างนี้ด้วยนะครับคุณบัญชร สิ่งที่รัฐบาลกันไว้ส่วนหนึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับรัฐเท่านั้น เช่น การเกิดอีสเทิร์นซีบอร์ดรัฐกันพื้นที่ไว้ที่มาบตาพุด 4 พันไร่ อาจจะเป็นหมื่นไร่ แต่เริ่มต้นทำอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนี่คือของรัฐ 4 พันไร่ ตอนนี้ขยายไป 4 หมื่นไร่ แต่ที่นี่ขีดวงไว้ที่ 1 แสน 5 หมื่นไร่ แล้วมันเป็น “พลังงานข้ามโลกแห่งใหม่” เราต้องบอกว่าอีสเทิร์นซีบอร์ดที่มันเกิดนี่ส่วนใหญ่ น้ำมันหรือว่าพลังงานนี่เอาเข้าไปใช้ในประเทศนะ ส่งออกน้อยมาก แต่ที่จะเกิดในภาคใต้นี่นอกจากจะใช้ในประเทศไทยแล้ว มันเป็นเรื่องของการข้ามโลก อีสเทิร์นซีบอร์ดยังไม่คอยข้ามโลกเท่าไร
 
บัญชร วิเชียรศรี (แฟ้มภาพ)
 
บัญชร วิเชียรศรี : เพราะฉะนั้นถ้าจะเกิดขึ้นที่นี่ เป็นเซาเทิร์นซีบอร์ดและก็เต็มรูปแบบจริงๆ ทุนที่จะลงมาสู่ประเทศไทยไม่น่าจะใช่ทุนแค่ในประเทศไทยอย่างเดียว
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ล้านเปอร์เซ็นต์ครับ ก็อย่างที่ผมบอกจริงๆ แล้วการเป็น “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” ไม่มีวันที่ประเทศมหาอำนาจจะไม่แย่งชิงการเข้ามาควบคุม เพราะมันคือยุทธศาสตร์ของโลก โดยเฉพาะยุทธศาสตร์น้ำมันข้ามโลกมันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าใครไม่ได้ควบคุมตรงนั้นมีปัญหา
 
เราจึงไม่แปลกใจที่คลองปานามาในอเมริกาเหนือกับอเมริกาใต้ ประเทศอเมริกามีกองทัพคุ้มครอง เราไม่แปลกที่คลองสุเอชก็มีประเทศมหาอำนาจดูแลอยู่ ผมถึงบอกว่ามันติดอยู่กับเลบานอน ติดอยู่กับฉนวนกาซา ผลสุดท้ายไม่มีผลกระทบอะไรเลย ไม่มีใครพูดถึงเลย พอมาที่สิงคโปร์มาที่ช่องแคบมะละกา ที่เป็นศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก สิงคโปร์ก็คือลูกชายคนโตของอเมริกาจริงหรือไม่ในอาเซียน
 
บัญชร วิเชียรศรี : จริงๆ เราก็อยู่ปลายจมูกมหาอำนาจจีนนะครับ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ใช่ครับ วันนี้จึงไม่แปลกที่โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด ไม่ว่าคุณจะศึกษา ไม่ว่าคุณจะทำอะไรนี่ ญี่ปุ่นก็เสนอผ่านไจก้า จีนนี่ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เชาวลิตนี่ชัดเจนที่สุดอยากจะมีส่วนร่วม อเมริกาก็พร้อมที่จะลง ประเทศมหาอำนาจทุกมหาอำนาจในตะวันออกกลางทักษิณก็พามาอย่างที่บอก ทั้งหมดทั้งปวงมันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ประเทศไทยจะทำเอง แล้วคนอื่นห้ามเกี่ยวข้อง
 
ก็กลายเป็นว่า ผมยังเชื่อว่าในเมื่อมันส่งผ่านมาจากช่องแคบมะละกา อิทธิพลของสิงคโปร์ต้องตามมา อิทธิพลของอเมริกาต้องตามมาล้านเปอร์เซ็นต์ แล้วที่สำคัญจีนก็ต้องไม่ยอม อิทธิพลของจีนก็ต้องมาคานอำนาจกัน ผลสุดท้ายเราแทบไม่ต้องลงทุนเลยยังได้
 
บัญชร วิเชียรศรี : ถ้าอย่างนั้นโดยภาพรวมเรานับว่าดีหรือไม่ดี “เซาเทิร์นซีบอร์ด” นี่
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ผมอยากจะพูดอย่างนี้ว่า ในฐานะสื่อที่มองปรากฏการณ์นี้ ดีตรงที่ว่าคุณบอกว่าเป็นเรื่องของการพัฒนา แต่ว่าวิธีการพัฒนาแบบที่คุณต้องการให้เป็นนี่ ดีไม่ดีมันไปกระจุกอยู่ที่พวกกลุ่มทุน ประชาชนจริงๆ จะได้น้อยมาก และสิ่งที่ประชาชนได้มากที่สุดก็คือ มลภาวะและสิ่งแวดล้อมที่ตามมา
 
บัญชร วิเชียรศรี : คือการกระจายรายได้มันก็คงเกิดขึ้นละ การสร้างงานก็เกิดขึ้น ภาษีที่รัฐได้ก็เกิดขึ้น แต่มันคุ้มหรือเปล่า
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : คือมันไม่มีถูก ไม่มีผิด แต่ถ้าในความเห็นผมในฐานะสื่อ อย่างที่คุยกันตั้งแต่เทปที่แล้วว่า วาทะกรรมที่เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ถ้ามันพูดไม่หมดมันก็มีทั้งเท็จ มีทั้งจริง
 
บัญชร วิเชียรศรี : ความจริงที่พูดไม่หมดบางทีก็เป็นเท็จ เมื่อเอาไปประกอบกับความจริงที่เหลืออยู่
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : เพราะฉะนั้นในเมื่อสิ่งที่เรารู้และเข้าใจอย่างที่ผมอธิบายไป ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่สังคมไทยทั้งสังคม หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง ควรจะต้องมีสิทธิ์ในการออกความเห็นตรงนี้ด้วย ควรต้องมีสิทธิ์ในการแสดงความเป็นเจ้าของด้วย หลายๆ ครั้ง เช่น กรณีการศึกษา ค.1 ของโรงไฟฟ้า เวที ค.1 คือเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ของโรงไฟฟ้า เอาแค่ปลายปีที่แล้วก็ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานี่ บอกว่าคนที่เกี่ยวข้องที่จะพูดได้ก็คือ ต้องเป็นคนเทพาเท่านั้น แล้วไม่ใช่คนเทพาทั้งอำเภอนะ เค้าขีดวงจากโรงไฟฟ้าในรัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้น
 
แต่จริงๆ แล้วผมถามว่า ทะเลหรือมลภาวะตรงนี้มันเป็นของคนเชียงใหม่ ของคนอมก๋อยด้วยไหม คนแม่ฮ่องสอนด้วยไหม การที่คุณจะทำภาคใต้ตรงนี้ ทะเลอย่างน้อยที่คุณจะสร้างนี่อุทยานแห่งชาติ คุณจะต้องไปเจาะสร้างท่าเรือ เอาเฉพาะฝั่งสตูลนี่คุณต้องเจาะอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราประมาณ 4,700 ไร่ สร้างท่าเรือคือเอาแท่งคอนกรีตยาวประมาณ 1 กิโลเมตรไปตั้งไว้กลางทะเลลึกไปราวๆ 4 กิโลเมตร ทำเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ เอาเขาทั้งหมด 8 ลูก ตั้งแต่ในสตูลรวมไปถึงสงขลารวม 8 ลูกไปถมไว้ตรงนั้นได้หนึ่งท่าเรือขึ้นมา
 
บัญชร วิเชียรศรี : นี่เค้าหมายไว้เท่าไหร่ครับ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ผมอ่านแผนมาแล้ว แผนละเอียดยิบว่าเอาที่ไหน เช่น จะเอาทรายเป็ดมาจากแถวหมู่บ้านบ่อเจ็ดลูก ทรายก่อสร้างที่ผสมคอนกรีตที่เขาพระ จ.สงขลา จะต้องระเบิดเขากี่ลูก ลูกไหนๆ มีระบุไว้ เพื่อจะเป็นหินถม อะไรระบุไว้หมด ผมถึงบอกว่าเขา 8 ลูกจะไปถมอยู่กลางทะเลแล้วเป็นท่าเรือตรงนั้น
 
เอาง่ายๆ สมมุติถ้าเราขับรถไปจาก จ.สงขลาเข้า จ.สตูล จากสงขลามันคือ เขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่า มันคือเขตที่มีการสงวนไว้สำหรับป่าไม้อะไรต่างๆ ไปจนถึงสตูล พอไปถึง จ.สตูลนี่เป็นชายฝั่งที่ อ.ละงู มันก็ถูกอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา แล้วหมู่เกาะเภตรานี่มันรวมทั้งชายฝั่ง รวมทั้งหมู่เกาะต่างๆ ที่อยู่ในริมชายฝั่งไปยัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง แล้วจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรามันก็เข้าไปในทะเล ลึกหน่อยมันก็กลายเป็นอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ก็กลายเป็นว่าพื้นที่อุทยานติดกันหมด 2 อุทยาน
 
ปรากฏว่าถ้าคุณจะสร้างที่นั่น คุณจะต้องไปขอที่ 4,700 ไร่ ไปขอเจาะกลางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราเอาพื้นที่ออกไป 4,700 ไร่ เพื่อเอาแท่งคอนกรีตท่าเรือไปตั้ง ปรากฏว่าร่องน้ำที่เรือจะเข้ามานี่ ร่องน้ำอยู่ตั้งแต่อุทยานตะรุเตา ผ่านข้างเกาะตะรุเตาเข้ามาเลย ข้างเกาะตะรุเตา เกาะอะดัง-ราวีเข้ามาเรื่อย เกาะหลีเป๊ะ เข้ามาจนมาถึงท่าเรือตรงนี้ คุณผ่าอุทยานแห่งชาติหมด
 
ถามว่าตรงนี้คนอมก๋อยที่ จ.เชียงใหม่ คนบ้านไดอีเผือกที่ จ.พิจิตรเค้าเกี่ยวด้วยไหม เค้าเป็นเจ้าของหรือไม่ แล้วเค้าควรจะต้องมีสิทธิ์…
 
บัญชร วิเชียรศรี : เอ๊ะ! คนทั่วไปจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ยังไง แค่ว่าภูเขาลูกไหน ดินทรายจากที่ไหน เค้ามีบันทึกไว้จริงๆ หรือครับ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ไม่ใช่บันทึกครับ คือการจะทำโครงการนี่ แผนการทำ EIA ของโครงการท่าเรือนี่มันเสร็จไปแล้ว ผมก็เลยไปเอาแผนนี่มาอ่าน ผมอ่านแผนตั้งแต่แผนเซาเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งก็คือแผนรวม แผนยุทธศาสตร์เซาเทิร์นซีบอร์ด แล้วก็มาอ่านแผนท่าเรือ ผมก็ติดตามแผนของ สนข. (สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม) ก็คือเรื่องของทางรถไฟ วันนี้รถไฟเราวิ่งเข้ากรุงเทพฯ ประมาณ 60-80 กม./ชม. แต่รถไฟที่จะวิ่งเชื่อม 2 ท่าเรือนี่ 160 กม./ชม. แล้วจำนวนระยะทางตั้งแต่ท่าเรือปากบาราถึงท่าเรือสงขลา 146 กม.นะครับก็ไม่ถึงชั่วโมง
 
ที่สำคัญคนสตูลเคยดีใจบอกจะได้ขายข้าวเหนียวไก่ ขายโอเลี้ยง ขายอะไรต่างๆ แต่ปรากฏว่ารถไฟตรงนี้รับเฉพาะตู้คอนเทนเนอร์ แล้วตลอด 146 กม.มีแค่ 3 สถานีคือ สถานีปากบารา สถานีควนกาหลง แล้วก็สถานีสงขลาที่จะนะ แล้วยังวิ่ง 160 กม./ชม. วันนี้เราเห็นรถไฟที่อยู่บนกองหิน หมอนรองบางทีเป็นไม้หรือคอนกรีต แต่รถไฟนี่จะสร้างใหม่สูงจากพื้นขึ้นไป 3 เมตร แล้วก็รางคู่วิ่งสวนกันไป
 
คือที่คุณบัญชรถามว่า ทำไมเขา 8 ลูกจะหายไป ก็คือผมไปดูไปดูแผนมาหมดแล้ว ถึงกล้าพูดได้ว่ามันกี่กิโลฯ อะไรยังไง หรือว่าเอาง่ายเลยนี่เส้นทางรถไฟจากสตูลมา เขาอ้อมมาแถว อ.รัฐภูมิ แล้วก็มาเข้าหลังห้างแม็คโคร อ.หาดใหญ่ ผลสุดท้ายก็มาชนอยู่แถวร้านบุษบาปลาย่าง ก็เข้าไปเลียบกับคลอง ตรงนี้อ่างเก็บน้ำหรือแก้มลิง ห่างจากโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ไม่ถึงกิโลเมตร เผลอๆ ห่างจาก มอ.วิทยานุสรณ์ประมาณห้าร้อยกว่าเมตรได้มั้ง
 
บัญชร วิเชียรศรี : ถ้าอย่างนั้นเส้นทางที่จะไปเกี่ยวข้องกับทางรถไฟนี่ ต้องลอดใต้ทั้งหมดเลยไหม หมายถึงว่าทารถไฟมันก็จะต้องต่อเนื่องกันไปใช่ไหมครับ ถ้าจะมีทางตัดผ่าน ไม่ข้ามก็ลอด
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ครับ ไม่ข้ามก็ลอด ทางรถไฟมันยกมาแล้ว เค้าจะต้องวิ่งให้ได้ 160 กม./ชม. ปัญหาก็คือ เส้นทางนี่บางทีผมก็อยากให้ดูกันนะ ผมก็อยากให้คนหาดใหญ่ได้เห็นเหมือนกันว่า เส้นทางรถไฟเค้าก็ขีดไว้แล้วว่าผ่านตรงไหนของหาดใหญ่ ถ้าผมจำไม่ผิดนะผ่าน อ.รัฐภูมิ ใน อ.หาดใหญ่นี่ผ่าน ต.คอหงส์ด้วย ผ่าน ต.ทุ่งใหญ่ด้วย ผ่าน ต.เนินพิจิตร ผ่าน อ.นาหม่อม ชัดเจนหมด
 
เพราะฉะนั้นมันเหมือนกับสิ่งที่ถามว่า ดีหรือไม่ดี ผมก็ไม่อยากบอกว่าดี ไม่ดี เพียงแต่ว่าทำยังไงก็ตาม ผมในฐานะสื่อมวลชน ผมก็ต้องเอาข้อมูลมาบอกเล่า คนไทยทุกคนควรต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เราจะใช้วิธีศึกษา EIA หรือ EHIA แล้วบอกว่ารอบๆ โรงไฟฟ้าแค่ 5 กิโลเมตร เกินจากนั้นห้ามยุ่ง ไม่ได้
 
บัญชร วิเชียรศรี : ไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับชีวิตทั้งหมด ถ้าอย่างนั้นอย่างแรกคือ การเข้าถึงข้อมูล อย่างที่สองก็คือ เมื่อได้รับข้อมูลแล้วมีความเห็น มีมุมมองอย่างไร เราสามารถทำอะไรได้บ้าง เข้าถึงข้อมูลก่อน
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : เราก็ต้องแสดงความเห็น
 
บัญชร วิเชียรศรี : ข้อมูลเหล่านี้จะไปดูได้ที่ไหนครับ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ส่วนหนึ่งก็ในกูเกิลได้
 
บัญชร วิเชียรศรี : มีข้อมูลจากใครละครับ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : มีทั้งโครงการ มีทั้งข้อมูลข่าวสาร ต้องบอกคุณบัญชรอย่างนี้ว่า จริงๆ แล้วนี่ผมอาจจะใช้คำว่า พิกลพิการสักนิดหนึ่ง การทำ EIA โครงการนี้อย่างที่ผมบอกว่า ถ้าเรามองภาพรวมนี่ “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้” มันก็แผนแม่บทของโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด แต่ว่าเวลาคุณมาทำ EIA หรือ EHIA คุณแยกหมดเลยนะ แค่แลนด์บริจน์ตรงนี้มันโครงการเดียวกันใช่ไหม คุณแยกไปทำรถไฟหนึ่งครั้ง คุณแยกไปทำท่าเรือหนึ่งครั้ง แล้วก็คุณแยกไปทำท่อหนึ่งครั้ง
 
แล้วก็คุณแยกโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าทั้งหมดที่ กฟผ.จะเอา ถ้าเห็นทั้งหมดนี่เยอะมาก แต่คุณก็แยกทำอย่างละหนึ่งครั้ง เช่น เอาง่ายๆ ที่ อ.เทพาที่เราทำ ค.1 กันไปนี่ ภาคเช้าเราอาจจะทำท่าเรือขนถ่านหิน 1 ครั้ง ภาคบ่ายเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 ครั้ง แค่โครงการเดียวกันนี่ยังแยกทำ 2 อันเลย มันก็เหมือนกับว่าวันนี้นี่กลไกที่มันกำหนดอยู่ มันกำหนดเป็นเสี่ยงๆ
 
ผมในฐานะคนที่มองปรากฏการณ์ คนที่มองข้อมูลข่าวสาร ผมถึงบอกว่าผมสามารถที่จะเอาข้อมูลข่าวสารมาจิ๊กซอร์เป็นตัวเดียวกันและเป็นภาพรวมในระดับโลกได้
 
บัญชร วิเชียรศรี : คือดูเหมือนจะมีความพยายามจะแยกให้เป็นส่วนๆ เพื่อให้มองไม่เห็นภาพรวม
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ใช่ครับ 1.ทำให้มองไม่เห็นภาพรวม 2.ผมถึงบอกว่ามันมีทั้งความจริงลวง มีทั้งความจริงแท้ และทุกอย่างสิ่งที่คุณพูดอาจจะเป็นความจริงในมิติหนึ่ง แต่พอเอามามองภาพใหญ่ มันเป็นความจริงลวง มันไม่ใช่ความจริงแท้
 
บัญชร วิเชียรศรี : เรื่องแบบนี้มีเวทีที่ชาวบ้านสามารถเข้าฟังเพื่อเพิ่มเติมข้อมูลได้ไหมครับ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : คือผมเองนี่ช่วงหลังผมก็พร้อมที่จะพูดเรื่องนี้ คือที่ผ่านมาที่เราพูดกันเรื่อง “ปฏิรูปพลังงาน” มีเวทีมีอะไรมาไม่รู้กี่สิบปี เรื่องนี้มันก็เรื่องเดียวกับการปฏิรูปพลังงาน ไม่ได้อย่างโน้นอย่างนี้นะ ผมว่าแทบจะมีผมคนเดียวที่พยายามพูดให้เชื่อมกับการปฏิรูปพลังงาน เพียงแต่ว่า…
 
หนึ่ง-ในความเป็นสื่อของเรา เราก็ไม่ค่อยออกตัวเท่าไหร่ สอง-ถ้ามีโอกาสเชิญมา เราก็จะพยามจิ๊กซอร์ว่า มันเหมือนกับว่า มันยังไม่มีแผนระดับโลก มันไม่ได้มีเอาไว้แล้ว คุณไปอ้างอิงอะไรมา ผมก็ต้องบอกว่าผมอ้างอิงจากประสบการณ์และมุมมองในทางข่าวที่มันเชื่อมกันได้ทั่วโลก เวลาที่ผ่านมาที่ผมจะมีโอกาสก็จะเดินสายพูดให้ชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ฟัง เช่น คนจะนะเค้าก็พอไปทำข่าวสนิทสนมกัน แต่ว่าในเวทีใหญ่ๆ ยังไม่มีใครเอาข้อมูลตรงนี้ไปพูด นั่นก็คือเรื่องปฏิรูปพลังงาน
 
วันนี้ปฏิรูปพลังงาน คุณฟัง สว.รสนา (โตสิตระกูล) หม่อมหลวงกรณ์ (มล.กรณ์ กสิวัฒน์เกษมศรี) หรืออะไรต่างๆ ที่ข้อมูลโต้แย้ง เป็นเรื่องของสัมปทาน เป็นเรื่องของพลังงาน เป็นเรื่องของอะไร แต่ว่ายังไม่มีใครชี้ว่าจริงๆ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของรายละเอียด ภาพที่คุณมองคือ มองแบบตาหนอน แต่ภาพรวมที่คุณใช้ตานกเข้าไปมอง นี่คุณจะเห็นว่า ภาคใต้กำลังจะถูกทำให้เป็น “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” แห่งใหม่ แล้วถ้าเกิดพลังงานข้ามโลกสิ่งที่ตามมาคือ “ฐานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี” แหล่งใหม่ของโลก ซึ่งจะตามมาด้วยอุตสาหกรรมมากมายที่ตามมา
 
มันถึงมีความจำเป็นจะต้องรีบสร้างโรงไฟฟ้าโดยเฉพาะถ่านหินขึ้นมารองรับ มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างแลนด์บริดจ์ขึ้นมารองรับ เพราะว่าแลนด์บริดจ์ตรงนี้บอกว่าจะส่งสินค้าข้ามโลก อาจจะไม่ใช่ แต่ 1.เอาพลังงานเข้ามา 2.เป็นตัวที่กระจายสินค้าออกทั้งสองข้างที่จะมีผลิตในประเทศไทย
 
บัญชร วิเชียรศรี : ที่สุดแล้ว คนไทยควรมองเรื่องนี้อย่างไร
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : มองอย่างเข้าใจ มองให้เห็นทั้งหมดทั้งปวง แล้วก็ช่วยกันตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร
 
บัญชร วิเชียรศรี : ในสถานการณ์แบบนี้อาจจะไม่ค่อยได้รับอนุญาตให้ได้ตัดสินใจมากเท่าไรนะ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : แต่ว่าก็ส่งเสียงได้นี่ ต้องส่งเสียงได้ ผมเองผมก็เขียน ก็วิเคราะห์เรื่องนี้ มีโอกาสก็จะทำเรื่องนี้ตลอด ใครเชิญไปพูดไปอะไรก็พร้อมที่จะให้ความเห็น เพราะผมเองผมก็คิดว่ามองจากปรากฏการณ์ ผมเข้าใจมันพอสมควรเลย
 
บัญชร วิเชียรศรี : เพราะฉะนั้นชุมชนใดก็ตาม หน่วยงานใด หรือสถาบันไหนก็ตาม อยากฟังข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับโยงใยที่ซ้อนเร้นของพลังงานทั้งหลาย ที่มันมาเกี่ยวเนื่องกับบ้านเรา ในภาคใต้ ก็สามารถเชิญ คุณปิยะโชติ อินทรนิวาส ได้
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ได้ครับ เป็นเรื่องเดียวกัน
 
บัญชร วิเชียรศรี : เบอร์เป็นสาธารณะไหมครับตอนนี้
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ได้ครับ 082-7820157
 
บัญชร วิเชียรศรี : วันนี้รายการสภากาแฟต้องขอบคุณนะครับ 2 ภาคจบจากวันก่อน และวันนี้ที่คุยกัน และคุยต่อเรื่องของโยงใยที่ซ้อนเร้นของพลังงานของโลก จากต้นทางจนมาถึงปลายทาง และก็น่าจะมีหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างที่คนไทยควรรู้เกี่ยวกับเรื่องตัวเราเองมากขึ้น
 
ขอบคุณหัวหน้าศูนย์ข่าว ASTVผู้จัดการภาคใต้ ครับ คุณปิยะโชติ อินทรนิวาส ครับ มาคุยในวันนี้ในฐานะสื่อมวลชนอาวุโส ที่ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพลังงาน ที่จะมาบอกให้รู้กัน ผม-บัญชร วิเชียรศรี รายการสภากาแฟ ต้องลาไปพร้อมกัน สวัสดีครับ
 
  

กำลังโหลดความคิดเห็น