xs
xsm
sm
md
lg

รพ.หาดใหญ่ เปิดห้องปฏิบัติการวินิจฉัยผู้ป่วยที่สงสัยติดเชื้ออีโบลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดห้องปฏิบัติการวินิจฉัยสำหรับผู้ป่วยที่สงสัยการติดเชื้ออีโบลา (DRA : Designated Receiving Area) รองรับนักท่องเที่ยว และผู้แสวงบุญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 
วันนี้ (10 ก.พ.) ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานในพิธีเปิดห้องปฏิบัติการวินิจฉัยสำหรับผู้ป่วยที่สงสัยการติดเชื้ออีโบลา (DRA : Designated Receiving Area) โดยมี นายแพทย์ศิริชัย ลีวรรณนภาใส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายแพทย์กุลเดช เตชะนภารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ร่วมให้การต้อนรับ

 
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จ.สงขลา เป็นเมืองหลักของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และมีแหล่งท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ อ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการคมนาคม และเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงต่อการติดต่อของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 และโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

 
ประกอบกับ จ.สงขลา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้แสวงบุญชาวไทยมุสลิมเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ไม่ต่ำกว่า 10,000 คนต่อปี ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีการระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 และมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสอีโบลา ดังนั้น จึงมีความจำเป็นในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวินิจฉัยสำหรับผู้ป่วยที่สงสัยการติดเชื้ออีโบลา (DRA : Designated Receiving Area) ที่ได้มาตรฐาน เพื่อตรวจแยกเชื้อโรคอื่นๆ ออกจากโรคติดเชื้ออีโบลา และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อร้ายแรงสู่ชุมชน 
 

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยอีกว่า ในส่วนของ จ.สงขลา มีกลุ่มคนที่มีประวัติเสี่ยงต้องเฝ้าระวัง จำนวน 1 คน หลังเดินทางมากจากประเทศกลุ่มเสี่ยง โดยได้ทำการเฝ้าระวังจนครบตามระยะเวลาที่กำหนด และไม่พบว่ามีการติดเชื้ออีโบลาแต่อย่างใด

 
สำหรับโรงพยาบาลหาดใหญ่ มีความพร้อมในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ DRA ตามมาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสามารถตรวจแยกเชื้อโรคอื่นจากเชื้ออีโบลา รองรับการดูแลผู้ป่วยติดต่อร้ายแรง ซึ่งมีทีมแพทย์ พยาบาลที่เชี่ยวชาญ และห้องแยกผู้ป่วยที่มีมาตรฐาน ทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิดครบวงจร จึงขอให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวมั่นใจทั้งความพร้อมในการดูแลรักษาโรคอีโบลา รวมถึงโรคร้ายแรงอื่นๆ

 
ทั้งนี้ โรงพยาบาลหาดใหญ่เป็น 1 ใน 20 โรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศที่มีห้องปฏิบัติการวินิจฉัยสำหรับผู้ป่วยที่สงสัยการติดเชื้ออีโบลา (DRA) ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการดังกล่าวเพิ่มเติม โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้กับสนามบินทุกแห่งทั่วประเทศ
 





 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น