นครศรีธรรมราช - นายกสมาคมชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เร่งผลักดันอาชีพเลี้ยงโคขุนสู้ยางราคาตกต่ำ สร้างวิธีคิดเกษตรกรปรับตัวสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น และจัดประกวดชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
วันนี้ (7 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่องค์การบริหารส่วนตำบลดุสิต สมาคมชาวสวนยางแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช เร่งจัดโครงการจัดการประกวดโคเนื้อชิงแชมป์ภาคใต้ ประจำปี 2558 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการปรับปรุง และพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อ และเป็นการอนุรักษ์แม่โคเนื้อพันธุ์ดีไม่ให้ถูกทำลาย และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อของเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้
ขณะที่ นายสมยศ รักษาวงศ์ นายกสมาคมชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ระบุว่า เป็นโอกาสที่ชาวสวนยางปรับเปลี่ยนวิธีคิด และการปรับตัวไปสร้างอาชีพที่ดีกว่าให้แก่ตนเอง ซึ่งอาชีพการเลี้ยงโคขุน โคเนื้อ เป็นอาชีพทางเลือกที่สร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี โดยโค 1 ตัวสามารถสร้างมูลค่าเนื้อให้เดือนละ 1 พันบาทเศษต่อตัว และถ้าเลี้ยงเพิ่มมากขึ้นจะมีรายได้มากขึ้น เฉลี่ยโคเนื้อต่อ 1 ตัว ราคาประมาณ 1 แสนบาท ดังนั้น เป็นโอกาสในการสร้างรายได้ที่สำคัญที่จะต้องมาร่วมกันคิด และสร้างโอกาสให้แก่ตัวเอง และในปีนี้จะมีการจัดประกวดโคเนื้อ เพื่อร่วมกันรณรงค์การสร้างอาชีพในพื้นที่ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 เริ่มเวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ณ สนามโรงเรียนวัดวังรีบุญเลิศ หมู่ที่ 5 ต.ดุสิต อ.ถ้ำพรรณรา จ.นครศรีธรรมราช โดยองค์การบริหารส่วนตำบลดุสิต ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายโคขุนศรีวิชัย จัดขึ้นปีนี้จัดเป็นปีที่ 3 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ ประเภทแกรนด์แชมป์ทั้ง 2 ประเภท
นายไสว เขียวจันทร์ ปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดนครศรีธรรมราช มีโคเนื้อ และโคพื้นเมืองประมาณ 120,000 ตัว เป็นโคพื้นเมืองประมาณร้อยละ 80 มากเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ หากเกษตรกรรายใดต้องการให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเข้าไปสนับสนุนดูแลสามารถติดต่อได้ และขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคในพื้นที่ภาคใต้ ส่งโคเข้าประกวดในครั้งนี้ให้มากที่สุด
รศ.ดร.โอภาส พิมพา ที่ปรึกษาเครือข่ายโคขุนศรีวิชัย กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรในเครือข่ายโคขุนศรีวิชัย มีการจัดตั้งสหกรณ์อย่างถูกต้อง และควบคุมการผลิตโคโดยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมปศุสัตว์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งการเลี้ยงโคขุนในพื้นที่ภาคใต้ยังมีศักยภาพ เนื่องจากมีทรัพยากรในพื้นที่ เช่น ใช้กากปาล์ม ร่วมกับกากน้ำตาล มันสำปะหลัง เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงโค โดยวิตามิน แร่ธาตุ และไขมันจากปาล์มน้ำมันดิบที่อุดมไปด้วยสารแคโรทีน สารตั้งต้นในการสร้างวิตามินเอ และวิตามินอี ทำให้เนื้อโคขุนมีคุณภาพ เหมาะสำหรับผู้รักสุขภาพ โดยมีตราสัญลักษณ์ หรือแบรนด์เครือข่ายโคขุนศรีวิชัย ที่รับประกันคุณภาพของเนื้อโคขุนภาคใต้ และในขณะที่มีการแถลงข่าวปรากฏว่า โคเนื้อขนาดใหญ่น้ำหนักเกือบ 1 ตัน เพศผู้ 2 ตัว ได้เปิดฉากเข้าชนกันอย่างดุเดือด เจ้าหน้าที่ในชุดคาวบอยต้องเข้าห้ามทัพกันอย่างจ้าละหวั่น ส่งผลให้ม้าหินแตก ข้าวของกระจัดกระจาย ท่ามกลางความสนใจของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งกลายเป็นวัวที่เข้ามาร่วมแถลงนั้นสร้างสีสันได้เป็นอย่างดี