xs
xsm
sm
md
lg

แผนปั้น จ.ตรัง “ศูนย์ดำน้ำท่องเที่ยวอันดามัน” ส่อล่ม! ปล่อยฝรั่งโกยกลับบ้าน 5 พันล./ปีหน้าตาเฉย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แนวคิดดันเมืองพะยูนสู่ “ศูนย์กลางดำน้ำท่องเที่ยวอันดามัน” อาจล่ม! เผยแม้ ม.ราชภัฏสวนดุสิต จะจับมือ จ.ตรัง จัดโครงการเพิ่มศักยภาพมัคคุเทศก์ด้านทะเลรุ่นแรกไปแล้ว แต่กลับไม่มีการบรรจุเข้าในหลักสูตร สะพัดอาจารย์บางคนเปรยกลัวตัวดำ ไม่สนปล่อยให้ฝรั่งโกยเงินออกนอกปีละ 5 พันล้าน

จากกรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง จ.ตรัง ร่วมกับจังหวัดตรัง จัดทำโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพมัคคุเทศก์ด้านทะเล (ดำน้ำ) สู่ระดับสากล รุ่น 1 ระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค.2558 ที่ผ่านมา ซึ่งมีมัคคุเทศก์ทั้งใน จ.ตรัง และจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมการฝึกอบรมในระดับ Open water, Advanced Open Water, EFR และ Rescue Dive จำนวน 23 คน ทั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนามัคคุเทศก์ให้มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจมากขึ้น และที่สำคัญจะมีส่วนผลักดันให้ จ.ตรัง เป็นศูนย์กลางการดำน้ำเพื่อการท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามันของไทยนั้น

 
แหล่งข่าวผู้คร่ำหวอดในธุรกิจท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน เปิดเผยต่อ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ว่า ภายหลังจากมัคคุเทศก์ได้ผ่านการอบรมตามขั้นตอน Open water, Advanced Open Water, EFR และ Rescue Dive และจะต้องผ่านหลักสูตร Dive Master ซึ่งจะสามารถนำนักท่องเทียวที่ดำน้ำได้ลงน้ำชมความงานใต้ทะเลได้นั้น จากการประชุมเพื่ออนุมัติโครงการหลักสูตรสุดท้าย หรือ Dive Master ทางคณะกรรมการกลับมองว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงการนำงบประมาณไปละลายแม่น้ำ เนื่องจากไม่มีแนวโน้มว่าจะบรรจุวิชาดำน้ำท่องเทียวใต้ทะเลเข้าไปในหลักสูตรอุตสาหกรรมการท่องเทียวในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง จ.ตรัง

 
“ทราบมาว่า ในการประชุมกันครั้งนั้นทางอาจารย์บางคนไม่ค่อยอยากจะสอนในเรื่องนี้เท่าไหร่ เนื่องจากกลัวว่าดำน้ำบ่อยๆ จำทำให้ตัวดำ” แหล่งข่าวระบุ และเพิ่มเติมว่า

สำหรับอุตสาหกรรมท่องเทียวใต้น้ำนั้น เวลานี้มีการประมาณการกันว่า สามารถทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยมูลค่าต่อปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบธุรกิจดำน้ำอาชีพ หรือนักดำน้ำประมาณ 95% เป็นฝรั่งที่มาจากยุโรป มีเพียงแค่ประมาณ 5% เท่านั้นที่เป็นคนไทย และบางส่วนที่เป็นต่างชาติก็ไม่มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย

 
“นั่นหมายถึงเงินหลายพันล้านบาทก็จะไหลออกนอกประเทศ ซึ่งรายได้มัคคุเทศก์ดำน้ำระดับ Dive Master นั้นจะอยู่ประมาณ 40,000-60,000 บาท/เดือน ดังนั้น หากโครงการนี้ถูกผลักดันให้เป็นจริงก็จะช่วยทำให้มัคคุเทศก์ไทยที่ผ่านการอบรมมีรายได้เพิ่มขึ้น แล้วที่สำคัญเงินก็จะไม่ไหลออกนอกประเทศด้วย”

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า เป็นที่น่าเศร้าใจมากที่ผลการประชุมในครั้งนั้น ทางคณะกรรมการไม่อนุมัติโครงการดำน้ำท่องเทียวใต้ทะเลให้บรรจุอยู่ในหลักสูตรเพื่อสอนนักศึกษาในคณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต แต่กลับมีคำพูดในทำนองว่า ปล่อยให้พวกต่างชาติทำธุรกิจด้านดำน้ำท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ ก่อน โดยไม่รู้สึกถึงผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะสูญเสียไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น