ตรัง - ชาวบ้านหลายคนใน ต.เขาวิเศษ จ.ตรัง ตัดสินใจตัดโค่นต้นยางเพื่อเอาไม้ไปขายใช้หนี้ ธ.ก.ส. เพราะทนแบกรับภาวะขาดทุนไม่ไหว หลังจากประสบปัญหาราคาตกต่ำ และผันผวนอย่างหนัก โดยคาดว่าจะหันไปปลูกต้นปาล์มแทน ส่วนบางรายหันประกอบอาชีพอื่น
วันนี้ (22 ม.ค.) นายจรูญ ชุมแสงศรี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 13 ต.เขาวิเศษ อ.วังวิเศษ จ.ตรัง พร้อมกับน้องชาย คือ นายณรงค์ ชุมแสงศรี ได้ตัดสินใจโค่นต้นยาง เนื้อที่กว่า 30 ไร่ ซึ่งปลูกมาประมาณ 25 ปีแล้ว โดยนำไม้ยางพาราที่ได้ไปขายให้แก่โรงงานแปรรูปไม้ยาง เพื่อต้องการนำเงินไปใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาวะขาดทุนจากการขายน้ำยางสด และยางแผ่นดิบต่อไปได้อีก หลังจากที่เกิดสภาวะราคาตกต่ำ และผันผวนมาอย่างต่อเนื่องหลายเดือนแล้ว
ดังนั้น จึงทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมองไม่เห็นภาวะคุ้มทุน ขณะที่ต้นทุนการผลิตก็ยังไม่ลดลง ทั้งค่าปุ๋ย ค่าแรง ค่าขนส่ง และอื่นๆ จึงตัดสินใจโค่นต้นยางเพื่อนำไม้ยางไปขายใช้หนี้ ธ.ก.ส. ซึ่งดีกว่าทนแบกรับภาวะขาดทุนจนต้องถูกยึดที่ดินทำกิน นอกจากนั้น ยังมีเกษตรกรชาวสวนยางพาราใน อ.วังวิเศษ และใกล้เคียงต่างทยอยตัดโค่นต้นยางทิ้งเพื่อหาพืชชนิดอื่นมาปลูกแทน ซึ่งส่วนใหญ่จะหันไปปลูกปาล์มน้ำมัน เนื่องจากยังมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ
ส่วน นายณรงค์ ชุมแสงศรี กล่าวว่า ขณะนี้ไม้ยางมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 2.20 บาท และตนได้ตัดโค่นไปแล้วประมาณ 10 ไร่ เนื่องจากไม่คุ้มทุน โดยจะหันไปปลูกปาล์มน้ำมันแทน และยังมีชาวบ้านใน ต.เขาวิเศษ อีกกว่า 10 ราย ทยอยตัดต้นยางเพื่อนำไม้ยางไปขาย ขณะที่คนรับจ้างกรีดยางสวนเหล่านั้นก็ต้องหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน เพราะเชื่อว่าการทำสวนยางจะขาดทุนต่อเนื่องไปอีกยาวนาน