xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.จับมือ มรภ.ยะลา ทำ “SUARA POLL เสียงจากชายแดนใต้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการสำรวจข้อมูลตามสถานการณ์ ภายใต้ชื่อ “SUARA POLL เสียงจากชายแดนใต้”

วันนี้ (19 ม.ค.) ที่ห้องประชุมสภา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการสำรวจข้อมูลตามสถานการณ์ (Poll) ภายใต้ชื่อ “SUARA POLL เสียงจากชายแดนใต้” ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายสมเกียรติ อ้นทอง ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดร.รุ้งลาวัณย์ จันทรัตนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ ตลอดจนรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเข้าร่วมในครั้งนี้

 

 
การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการสำรวจข้อมูลตามสถานการณ์ มีเจตนารมณ์ และรายละเอียดดังนี้

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการกับ ศอ.บต.เพื่อทำหน้าที่ในการพัฒนางานวิชาการของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมุ่งหวังนำผลการศึกษาไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการแก้ไขปัญหาและจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ คือ จะมีการร่วมมือกันพัฒนากรอบความร่วมมือทางวิชาการด้านการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ร่วมมือกันประมวล วิเคราะห์ สังเคราะห์ และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับผลศึกษาสำรวจ

 
ซึ่ง ศอ.บต.กับมหาวิทยาลัย จะร่วมมือกันเพื่อพัฒนางานวิชาการของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกัน ได้แก่ การศึกษาวิจัย เพื่อการแก้ไขปัญหาและเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น เป็นการดำเนินงานที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้จัดสรรทรัพยากรตามศักยภาพของหน่วยงานในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ และมีผู้รับผิดชอบดำเนินการร่วมกัน เพื่อกำหนดรูปแบบแผนงาน โครงการ และกิจกรรมทางวิชาการต่างๆ ภายใต้ขอบเขตของหลักการในการบันทึกข้อตกลงร่วมมือนี้เพื่อให้แผนงาน โครงการ และกิจกรรมนั้นๆ สำเร็จลุล่วงได้ผลตามเป้าหมายที่กำหนด

ความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค ความเท่าเทียมกัน ความเป็นเอกภาพ การบูรณาการ และประสานการประโยชน์ร่วมกัน โดยมุ่งหวังเป้าหมายสุดท้ายที่จะเป็นกลไกหนึ่งในการเร่งสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ข้อที่ 4 บันทึกข้อตกลงนี้มีกำหนดเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นต้นไป หากครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายอาจเจรจาและต่ออายุบันทึกข้อตกลงนี้ต่อไปก็ได้ โดยจัดเป็นบันทึกข้อตกลงกันใหม่เป็นคราวๆ ไป

และการยกเลิกบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ให้กระทำได้โดยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรืออธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วัน

สำหรับโพลที่จะจัดทำ คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลที่ต้องการ โดยวิธีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หรือบางส่วนซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ประโยชน์ของการทำโพลเพื่อเผยแพร่สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หรือบางส่วน ซึ่งมีเรื่องที่น่าสนใจ และการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวให้สาธารณชนทราบ และเพื่อใช้ตัดสินใจดำเนินการเรื่องต่างๆ ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อการได้ประโยชน์ของสาธารณชน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ จัดทำโครงการสำรวจความคิดเห็น (Poll) ของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 

โดยเริ่มเก็บข้อมูลสำรวจครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 และในปี 2558 นี้ ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้รับการประสานจากทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการร่วมจัดทำโครงการสำรวจข้อมูลตามสถานการณ์ จึงเป็นนิมิตหมายอันดีในอนาคตข้างหน้าที่จะได้ร่วมกันสำรวจปัญหาของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในประเด็นต่างๆ และช่วยกันหารือเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ประชาชน

นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการทำโพลสำรวจคือ การเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นเสียงสะท้อนของประชาชนจริงๆ เพื่อนำไปขยายผลการพัฒนาในพื้นที่ต่อไป ผมเชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลามีเครื่องมือที่ทันสมัย โดยใช้ระบบออนไลน์ วิธีการเก็บรวมรวบข้อมูลที่ถูกต้อง ครอบคลุมในทุกพื้นที่ และทุกกลุ่มเป้าหมาย มีการทำวิจัย และการวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือ มีผลสำรวจที่เป็นกลาง ซึ่งสิ่งที่ต้องการ คือ ความรู้สึกของประชาชนดีขึ้นหรือไม่ และนำไปสู่คำตอบที่ว่า “ชายแดนใต้วันนี้ดีขึ้นแล้ว”

ด้าน ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวด้วยว่า การจัดทำโครงการสำรวจข้อมูลตามสถานการณ์ (Poll) เห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการสำรวจความต้องการ หรือความคิดเห็นตามสถานการณ์ต่างๆ ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่สะท้อนปัญหาในด้านต่างๆ ให้ได้ทราบ แล้วนำผลการสำรวจที่ได้มาช่วยกันหาแนวทางสนับสนุนพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการของภาครัฐ และเอกชนด้วย
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น